วันอังคารที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2557

เตรียมตัวสอบ O-Net - แนวข้อสอบ O-Net - ประถมต้น (แนวข้อสอบ O-Net ป.3) - เนื้อหาวิชา วิทยาศาสตร์ - ทรัพยากรธรรมชาติ

เตรียมตัวสอบ O-Net - แนวข้อสอบ O-Net  - ประถมต้น (แนวข้อสอบ O-Net ป.3) - เนื้อหาวิชา วิทยาศาสตร์ - ทรัพยากรธรรมชาติ






ทรัพยากรธรรมชาติ



ทรัพยากรธรรมชาติ หมายถึง สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติทุกชนิดที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์ เช่น ดิน น้ำ ป่าไม้ แสงอาทิตย์ เป็นต้น

ประเภทของทรัพยากรธรรมชาติ
          ทรัพยากรธรรมชาติ แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
1.       ทรัพยากรธรรมชาติประเภทไม่หมด เป็นทรัพยากรที่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างไม่มีวันหมด ได้แก่ น้ำ อากาศ แสงแดด
2.      ทรัพยากรธรรมชาติประเภทหมุนเวียน เป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วอาจเกิดขึ้นใหม่ได้โดยธรรมชาติ หรือโดยมนุษย์ เช่น ป่าไม้ สัตว์ป่า
3.      ทรัพยากรธรรมชาติประเภทสิ้นเปลือง เป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วจะหมดสิ้นไป ทำให้เกิดขึ้นใหม่ได้ยาก ได้แก่ สินแร่ต่าง ๆ แก๊สธรรมชาติ ถ่านหิน และน้ำมันเชื้อเพลิง

ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น
          ดิน
          ดินเป็นทรัพยากรที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เกิดจากส่วนผสมของแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ได้จากการเปลี่ยนแปลง และสลายตัวของเปลือกโลกกับซากพืชซากสัตว์ที่เน่าเปื่อยผุพังอยู่รวมกันเป็นชั้น ๆ
          ชนิดของดิน
1.       แบ่งตามลักษณะของชั้นดิน เป็นดินชั้นบนและดินชั้นล่าง
-        ดินชั้นบน เป็นดินที่อุดมสมบูรณ์ เพราะมีอินทรียวัตถุมาก เหมาะแก่การเจริญเติบโตของพืช ใช้ในการเพาะปลูกมากที่สุด
-        ดินชั้นล่าง มีความเหนียวและแน่น อยู่ถัดจากดินชั้นบนลงไป มีแร่ธาตุอาการของพืชน้อย รากพืชงอกหยั่งลงไปได้ยาก

2.     แบ่งตามลักษณะของดิน
-        ดินเหนียว เป็นดินมีสีคล้ำ เนื้อดินละเอียด จับตัวกันแน่น น้ำและอากาศซึมผ่านได้ยาก อุ้มน้ำได้ดี เวลาแห้ง จะจับตัวเป็นก้อนแข็ง
-        ดินทราย เป็นดินที่มีสีน้ำตาลเข้ม มีทรายปนอยู่มาก เม็ดดินมีลักษณะใหญ่ และหยาบ ไม่เกาะตัว น้ำและอากาศซึมผ่านได้ยาก ไม่อุ้มน้ำ เหมาะแก่พืชที่ต้องการน้ำน้อย เช่น กระบองเพชร และมันสำปะหลัง
-        ดินร่วน เป็นดินที่มีเม็ดดินใหญ่กว่าดินเหนียว เนื้อดินโปร่งกว่าดินเหนียว มีสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ น้ำซึมผ่านได้ง่าย อากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวกกว่าดินเหนียว มีซากพืช ซากสัตว์ ปนอยู่มากกว่าดินเหนียว ดินร่วนจึงเหมาะแก่การปลูกพืชทั่วไป

น้ำ
แหล่งน้ำธรรมชาติ
แหล่งน้ำธรรมชาติ หมายถึง แหล่งน้ำที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ สามารถแบ่งได้ 3 ประเภท ดังนี้
1.       แหล่งน้ำในบรรยากาศ เช่น ไอน้ำ หมอก เป็นต้น
2.      แหล่งน้ำผิวดิน เช่น ทะเล ทะเลสาบ มหาสมุทร แม่น้ำลำคลอง น้ำตก เป็นต้น
3.      แหล่งน้ำใต้ดิน เป็นแหล่งน้ำที่อยู่ลึกลงไปจากผิวดิน จะแทรกตัวอยู่ระหว่างชั้นดิน และชั้นหิน น้ำที่อยู่ในชั้นดินจะเป็นน้ำที่อยู่ในระดับตื้น ๆ ส่วนน้ำที่อยู่ในชั้นหินจะเป็นน้ำที่อยู่ในระดับลึก เรียกว่า น้ำบาดาล

น้ำจากแหล่งต่าง ๆ เมื่อได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์ จะระเหยเป็นไอลอยสูงขึ้นไปในอากาศ เมื่อไอน้ำกระทบกับความเย็น จะกลั่นตัวกลายเป็นละอองน้ำ รวมตัวกันเป็นก้อนเมฆ และตกลงมาเป็นฝน ซึมสู่ป่าและพื้นดิน แล้วไหลลงสู่แหล่งน้ำตามเดิม ลักษณะที่กล่าวถึงเป็นปรากฏการณ์หมุนเวียนของน้ำ ซึ่งเราเรียกว่า วัฏจักรของน้ำ

          อากาศ
          อากาศ คือ บรรยากาศที่ห่อหุ้มโลกโดยรอบ ประกอบด้วยแก๊สไนโตรเจน ออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์ ไอน้ำ ฝุ่นละออง และแก๊สอื่น ๆ อีกในปริมาณเล็กน้อย

          ป่าไม้
          ป่าไม้ หมายถึง พื้นที่ที่มีต้นไม้หลากหลายชนิด ขึ้นอยู่รวมกันจำนวนมาก มีทั้งต้นไม้ขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ ป่าไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญเช่นเดียวกับดินและน้ำ

          สัตว์ป่า
          สัตว์ป่า หมายถึง สัตว์ทุกชนิดที่อาศัยอยู่ในป่าตามธรรมชาติ สัตว์ป่าจะอาศัยอยู่ในป่าลึก เพราะมีอาหารที่สมบูรณ์ และสามารถหลบภัยอันตรายได้อีกด้วย

          แร่ธาตุ
          แร่ธาตุ เป็นทรัพยากรที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ประเภทใช้แล้วหมดไป แร่ธาตุเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการดำรงชีวิตของมนุษย์

คุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ
1.      ดิน
ดินมีความสำคัญยิ่งต่อสิ่งมีชีวิต มนุษย์ใช้ดินเป็นแหล่งทำการเกษตร และเลี้ยงสัตว์ และเป็นที่อยู่อาศัย เป็นแหล่งผลิตอาหาร ยารักษาโรค และเครื่องนุ่งห่ม

2.      น้ำ
น้ำมีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ สัตว์ และพืช ดังนี้
1)      คนและสัตว์ใช้ดื่มกิน
2)     ใช้ชำระสิ่งต่าง ๆ ใช้อาบน้ำ เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรก
3)     ใช้ในการเกษตร การเพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์
4)      เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และพืช
5)     ใช้ประโยชน์ในการอุตสาหกรรมทุกชนิด
6)     ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมในการติดต่อสื่อสาร และติดต่อทางการค้า
7)      ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า จากพลังน้ำที่กักเก็บไว้ในเขื่อนมาผลิตกระแสฟ้า
8)     เป็นแหล่งของทรัพยากรที่สำคัญ เช่น แก๊สธรรมชาติ และเกลือ เป็นต้น
9)     เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ


3.     อากาศ
อากาศ เป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต พืช สัตว์ และมนุษย์ต่างใช้แก๊สออกซิเจนในการหายใจ ถ้าไม่มีอากาศ สิ่งมีชีวิตจะตายหมด นอกจากนั้น พืชใช้แก๊สคาร์บอรไดออกไซด์ในการสร้างอาหารโดยการสังเคราะห์ด้วยแสง

4.      ป่าไม้
ป่าไม้มีประโยชน์มากต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ อังนี้
1)      เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า
2)     นำมาสร้างอาคารบ้านเรือน ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ กระดาษ ฟืน ส่วนต่าง ๆ ของพืชจากป่าใช้เป็นอาหาร ใช้ทำเครื่องนุ่งห่ม และใช้เป็นยารักษาโรค
3)     ให้แก๊สออกซิเจนแก่มนุษย์
4)      เป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำ
5)     ให้ความชุ่มชื้น และควบคุมสภาพอากาศ
6)     ช่วยชะลอความรุนแรงของน้ำป่าที่ไหลหลาก ไม่ให้เข้าท่วมบ้านเรือนอย่างรวดเร็ว
7)      ช่วยป้องกันการกัดเซาะ และพัดพาของหน้าดิน และช่วยลดแรงปะทะจากน้ำฝน และลมพายุ
8)     ใช้เป็นแหล่งพักผ่อน และศึกษาหาความรู้

5.     สัตว์ป่า
มนุษย์นำสัตว์ป่าไปใช้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น ใช้ช้างลากซุง ม้าลากรถ เป็นต้น นอกจากนี้สัตว์ป่ายังทำให้ธรรมชาติสมบูรณ์อีกด้วย

6.     แร่ธาตุ
แร่ธาตุ เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการดำรงชีวิตของมนุษย์ เพราะแร่โลหะ และแร่อโลหะ นำไปผลิตเป็นสารเพื่อประโยชน์ทางอุตสาหกรรม และวัตถุต่าง ๆ ที่ใช้ในการดำรงชีวิต เช่น แร่อลูมิเนียม ใช้ทำเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น เครื่องใช้ในครัว เป็นต้น




7.     แร่เชื้อเพลิง
แร่เชื้อเพลิง เป็นแร่ที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง ผลิตพลังงานความร้อนและพลังงานแสงสว่าง นอกจากนั้นใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมเคมี พลาสติก เป็นต้น

8.     แร่รัตนชาติ

แร่รัตนชาติ ใช้ทำเครื่องประดับ เป็นสินค้าอัญมณีที่มีราคาแพง เช่น เพชร ทับทิม ไพลิน เป็นต้น





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Blog เพื่อนการศึกษา

***Blog เพื่อนการศึกษา*** สรุปเนื้อหาเข้า ป.1 - ม.6 สรุปเนื้อหา - วิชาสังคมศึกษา ป.3 (สรุปตามสาระการเรียนรู้) แบบทดสอบประจำหน่วยการเรียนรู...