วันอังคารที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2557

เตรียมตัวสอบ O-Net - แนวข้อสอบ O-Net - ประถมต้น (แนวข้อสอบ O-Net ป.3) - เนื้อหาวิชา สังคมศึกษา - สาระที่ 2 หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม

เตรียมตัวสอบ O-Net - แนวข้อสอบ O-Net - ประถมต้น (แนวข้อสอบ O-Net ป.3) - เนื้อหาวิชา สังคมศึกษา - สาระที่ 2 หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม




Download - เนื้อหา



สาระที่ 2 หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม



การเป็นพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย
          พลเมือง หมายถึง ประชาชนโดยทั่วไป ดังนั้นพลเมืองดีจึงหมายถึง ประชาชนที่ประพฤติดี ไม่ละเมิดต่อกฎหมายของบ้านเมือง และทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม
          การเป็นพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย หมายถึง การปฏิบัติตนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และมีส่วนร่วมในการปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศ

          การปกครองในระบอบประชาธิปไตย
          การปกครองในระบอบประชาธิปไตย หมายถึง การปกครองที่ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครอง

หลักปฏิบัติของพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย
1)      การให้ความเคารพซึ่งกันและกัน
ตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ได้ให้สิทธิเสรีภาพแก่บุคคลที่จะกระทำการใด ๆ ได้อย่างเสรี แต่ต้องไม่ละเมิดต่อกฎหมาย อันหมายรวมถึง การให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ไม่กระทำสิ่งใดที่ละเมิดต่อสิทธิของผู้อื่น

2)     การร่วมมือกัน
การที่ประเทศชาติจะพัฒนาไปสู่ความเจริญได้นั้น ต้องเกิดจากความร่วมมือกันของคนในประเทศ สำหรับวิถีประชาธิปไตยนั้น การร่วมมือกันถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก

3)     ความมีระเบียบวินัย
การที่สังคมจะมีความสงบสุขได้นั้น ทุกคนในสังคมต้องปฏิบัติตามระเบียบวินัย กฎหมาย หรือกฎเกณฑ์ที่สังคมได้กำหนดขึ้น


4)     ความสามัคคี
ความสามัคคีของคนในชาติ ย่อมทำให้ประเทศชาติมีความมั่นคงเข้มแข็ง สามารถต่อสู้กับบุคคลภายนอกได้

5)     ความรับผิดชอบ
ทุกคนในสังคมล้วนมีหน้าที่ต้องปฏิบัติทั้งต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ดังนั้น เราควรมีความรับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่ตามได้รับมอบหมายอย่างเต็มความสามารถ

6)     การใช้สิทธิเลือกตั้ง
การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ถือว่าเป็นหน้าที่ที่สำคัญมากของพลเมืองในวิถีประชาธิปไตย เพราะการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการคัดเลือกบุคคลเข้าไปบริหารประเทศ

ชุมชนของเรา
          ชุมชน หมายถึง สถานที่ที่มีกลุ่มคนอาศัยอยู่ร่วมกันจำนวนมาก มีลักษณะการดำเนินชีวิตที่คล้ายคลึงกัน มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องต่าง ๆ เช่น หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด
         
          สิทธิเสรีภาพ บทบาท และหน้าที่ในชุมชน
          สิทธิ หมายถึง อำนาจอันชอบธรรมของบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายที่ตราไว้ในรัฐธรรมนูญ
          เสรีภาพ หมายถึง สิ่งที่บุคคลสามารถกระทำได้ตามความพอใจของตน โดยไม่ขัดแย้งหรือละเมิดต่อกฎหมายบ้านเมือง และสิทธิของบุคคลอื่น
          บทบาท หมายถึง การทำหน้าที่ตามสถานภาพของตน
          หน้าที่ หมายถึง สิ่งที่ต้องกระทำ ในเมื่อรัฐธรรมนูญได้กำหนด สิทธิ และเสรีภาพให้แก่ประชาชนทุกคนแล้ว รัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดหน้าที่เพื่อให้บุคคลปฏิบัติต่อประเทศชาติด้วย และถือว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนควรปฏิบัติในฐานะที่เกิดมาเป็นคนไทย



ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมไทย
          ภูมิปัญญา
          ภูมิปัญญา หมายถึง พื้นความรู้ความสามารถที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ของบุคคล และนำความรู้นั้นมาปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อม และสร้างวัฒนธรรมขึ้น เพื่อใช้ในท้องถิ่น เรียกว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งบางครั้งมีการพัฒนาจนกลายเป็นวัฒนธรรมประจำชาติ

          ลักษณะของภูมิปัญญาไทย
1)      เป็นผลงานศิลปะอันเกิดขึ้นจากความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และแบบแผนการดำเนินชีวิตที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา เช่น เครื่องปั้นดินเผา การจักสาน การแกะสลักไม้ การทำปูนปั้น เป็นต้น
2)     เป็นความคิด ความเชื่อ ที่มีหลักการและมีการถ่ายทอดกันมาเป็นเวลายาวนาน เช่น ประเพณีแห่นางแมว ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นต้น
3)     เป็นอาชีพที่เกิดขึ้นจากความรู้ ที่นำทรัพยากรท้องถิ่นมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ เช่น การจักสารยานลิเภา การทอผ้าไหม มัดหมี่ เป็นต้น
4)      เป็นการสร้างของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เครื่องมือจับปลา เครื่องทอผ้า เครื่องทุ่นแรง เตาไฟ เป็นต้น
5)     เป็นการสร้างพาหนะให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม เช่น เรือ เกวียน รถลาก เป็นต้น
6)     เป็นวัฒนธรรมอันเกิดจากความคิดที่จะสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ เช่น การเคารพผู้ใหญ่ การนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การสร้างสรรค์สุภาษิตคำพังเพย เป็นต้น

วัฒนธรรม
วัฒนธรรม หมายถึง ลักษณะที่แสดงถึงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบ เรียบร้อย ความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติ และศีลธรรมอันดีงามของประชาชน รวมถึงพฤติกรรมและสิ่งที่คนในหมู่ผลิตสร้างขึ้นด้วยการเรียนรู้จากกันและกัน และร่วมใช้อยู่ในหมู่พวกของตน

ลักษณะของวัฒนธรรม
1)      เป็นสิ่งที่เกิดจากการเรียนรู้ของสังคม เช่น การดำรงชีวิตประจำวัน การประกอบอาชีพ การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เป็นต้น
2)     เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของบุคคลในสังคม เช่น ยานพาหนะ เครื่องใช้ เครื่องมือจับปลา เครื่องเรือน เป็นต้น
3)     เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อให้สังคมมีระเบียบแบบแผน และอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เช่น การให้ความเคารพต่อผู้ใหญ่ ความมีน้ำใจ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การนับถือศาสนา เป็นต้น
4)      เป็นสิ่งที่ปฏิบัติสืบเนื่องจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง โดยอาจมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับยุคสมัย

ความสำคัญของวัฒนธรรม
1)      ทำให้เกิดการสร้างสรรค์ศิลปะ เช่น บ้านเรือน เครื่องประดับ เสื้อผ้า เป็นต้น
2)     ทำให้สังคมมีระเบียบแบบแผน เนื่องจากวัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของคน หากคนในสังคมไม่ปฏิบัติตาม วัฒนธรรมของสังคม ก็จะถูกสังคมปฏิเสธ
3)     ทำให้เกิดการสร้างสรรค์เครื่องใช้ เช่น เรือ เครื่องมือจับปลา โอ่งดินเผา เป็นต้น
4)      ทำให้เกิดกิจกรรมในสังคม เช่น ประเพณี พิธีกรรมทางศาสนา เป็นต้น
5)     ทำให้สมาชิกในสังคมมีความผูกพัน ทำให้สังคมเป็นหนึ่งเดียวกัน และมีความมั่นคง
6)     ทำให้สมาชิกในสังคมรู้จักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

การเมืองการปกครองของไทย
          ในปัจจุบันประเทศไทยมีการแบ่งการปกครอง ดังนี้
          การปกครองส่วนกลาง ประกอบด้วย
1)      สำนักนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการทั่วไป ตามหน้าที่ที่รับผิดชอบ
2)     กระทรวงมหาดไทย มีอำนาจหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ
3)     กระทรวงกลาโหม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและรักษาความมั่นคงของราชอาณาจักรจากภัยคุกคามทั้งภายนอกและภายในประเทศ
4)      กระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเงินการคลังแผ่นดิน
5)     กระทรวงการต่างประเทศมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการต่างประเทศ
6)     กระทรวงเกษตร และสหกรณ์  มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับเกษตรกรรม การป่าไม้ การจัดหาแหล่งน้ำ และพัฒนาระบบการชลประทาน ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร ส่งเสริมและพัฒนาระบบสหกรณ์ รวมตลอดทั้งกระบวนการผลิต และสินค้าเกษตรกรรม
7)      กระทรวงคมนาคม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการขนส่ง ธุรกิจการขนส่ง การวานแผนจราจร และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม
8)     กระทรวงพาณิชย์ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการค้า ธุรกิจบริการ ทรัพยสินทางปัญญา
9)     กระทรวงยุติธรรม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการกระบวนการยุติธรรม เสริมสร้างและอำนวยความยุติธรรมในสังคม
10)  กระทรวงศึกษาธิการ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและกำกับดูแลการศึกษาทุกระดับและทุกประเภท
11)   กระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวางแผน ส่งเสริมและพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
12)  กระทรวงสาธารณสุข มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพอนามัย การป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคภัย การฟื้นฟูสมรรถภาพของประชาชน
13)  กระทรวงอุตสาหกรรม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม การส่งเสริมการลงทุน การพัฒนาผู้ประกอบการ
14)  กระทรวงแรงงาน มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารและคุ้มครองแรงงาน พัฒนาฝีมือแรงงาน ส่งเสริมให้ประชาชนมีงานทำ
15)  กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การกีฬา การศึกษาด้านกีฬา นันทนาการ
16)  กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาสังคม การสร้างความเป็นธรรม และความเสมอภาคในสังคม
17)  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการสงวน อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
18)  กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวางแผน ส่งเสริม พัฒนา และดำเนินการเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การอุตุนิยมวิทยา และการสถิติ
19)  กระทรวงพลังงาน มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหา พัฒนา และบริหารจัดการพลังงาน
20) กระทรวงวัฒนธรรม มีหน้าที่เกี่ยวกับศิลปะ ศาสนา และวัฒนธรรม

การปกครองส่วนภูมิภาค แบ่งออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่
1)      หมู่บ้าน เป็นเขตการปกครองส่วนภูมิภาคที่เล็กที่สุด มีผู้ใหญ่บ้านที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ควบคุมดูแล
2)     ตำบล เป็นเขตการปกครองส่วนภูมิภาคที่เกิดจากการรวมตัวของหมู่บ้านตั้งแต่ 8 หมู่บ้านขึ้นไป มีกำนันที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ เป็นผู้ควบคุมดูแล
3)     กิ่งอำเภอ เป็นส่วยย่อยของอำเภอ โดยอำเภออาจแบ่งส่วยย่อยออกไปตามความเหมาะสมของพื้นที่ มีผลัดอำเภอเป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ และมีหน้าที่ดูแล ควบคุมงานราชการในส่วนกิ่งอำเภอนั้น ๆ
4)      อำเภอ เป็นเขตการปกครองส่วนภูมิภาคที่รองลงมาจากจังหวัด
5)     จังหวัด เป็นเขตการปกครองส่วนภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่ที่สุด

การปกครองส่วนท้องถิ่น แบ่งออกเป็น 5 ลักษณะ ได้แก่
1)      องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มีเขตการปกครองพื้นที่เดียวกับจังหวัด
2)     เทศบาล
3)     องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต) จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลความเรียบร้อย และพัฒนาพื้นที่ในเขตตำบลที่นอกเหนือจากเขตเทศบาล
4)      กรุงเทพมหานคร จัดเป็นเขตการปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติ ระเบียบการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พุทธศักราช 2528 เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการบริหารราชการ เนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย
5)     เมืองพัทยา จัดเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่น ครอบคลุมพื้นที่ตำบล นาเกลือ ตำบลหนองปลาไหล ตำบลห้วยใหญ่ และตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติระเบียบการบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2521 โดยจัดตั้งขึ้นแทนสุขาภิบาลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตนเองและครอบครัว
          การแจ้งเกิด
          การแจ้งเกิด ต้องแจ้งภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันเกิด โดยแจ้งชื่อเด็กที่เกิดตามหลักเกณฑ์การตั้งชื่อบุคคล

          การแจ้งตาย
          ให้เจ้าบ้าน หรือผู้พบศพแจ้งแก่นายทะเบียนภายใน 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่มีการพบศพ

          การเข้ารับการศึกษา
          เด็กที่มีอายุ 8 ปี บริบูรณ์ ต้องเข้ารับการศึกษาในระดับประถมศึกษา และต้องศึกษาอยู่ในโรงเรียนจนถึงอายุ 15 ปี หรือจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

          การทำบัตรประจำตัวประชาชน

          บุคคลที่มีสัญชาติไทยทุกคน เมื่อมีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน โดยนำหลักฐาน คือ สูติบัตร และสำเนาทะเบียนบ้านที่ตนเองมีชื่ออยู่ และแจ้งแก่นายทะเบียนในท้องที่ที่ตนเองอาศัยอยู่ เพื่อขอทำบัตรประจำตัวประชาชน







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Blog เพื่อนการศึกษา

***Blog เพื่อนการศึกษา*** สรุปเนื้อหาเข้า ป.1 - ม.6 สรุปเนื้อหา - วิชาสังคมศึกษา ป.3 (สรุปตามสาระการเรียนรู้) แบบทดสอบประจำหน่วยการเรียนรู...