วัสดุที่นำมาใช้ทำของเล่น และของใช้โดยทั่วไปมี 2 ประเภท คือ
1. วัสดุจากธรรมชาติ เป็นวัสดุเกิดจากธรรมชาติ เช่น ดิน หิน ทราย ไม ยาง ฝ้าย หนังสัตว์ ขนสัตว์ เป็นต้น
2. วัสดุที่มนุษย์ผลิตขึ้น เช่น พลาสติก แก้ว เส้นใยสังเคราะห์ ปูนซีเมนต์ โลหะ เป็นต้น
วัสดุแต่ละประเภท มีสมบัติต่างกันไป ได้แก่ ความเหนียว ความแข็ง ความเปราะ แตกหักง่าย ความยืดหยุ่น ความนุ่ม ความโปร่งใส ความอ่อน เป็นต้น
สมบัติของวัสดุ
แก้ว
แก้วเป็นของแข็ง โปร่งใส ผิวเรียบ ทนทานต่อการขูดขีด และความร้อน แตกหักง่าย ส่วนใหญ่จะนำมาทำเป็นขวด แก้วน้ำ กระจก อุปกรณ์ในห้องทดลอง นอกจากนั้นยังมีการผลิตแก้วให้มีคุณสมบัติพิเศษเพื่อใช้งานเฉพาะอย่าง เช่น เลนส์แว่นตา เลนส์แว่นขยาย กระจกเงา กระจกนิรภัย เป็นต้น
พลาสติก
พลาสติก เป็นวัสดุสังเคราะห์จากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีน้ำหนักเบา ไม่นำความร้อน ไม่นำไฟฟ้า ทนต่อกรดและเบส น้ำซึมผ่านไม่ได้ ไม่แตกหักง่าย บางชนิดมีความแข็ง บางชนิดสามารถยืดหยุ่นได้ นำมาใช้ทำของเล่นและของใช้ได้หลากหลาย
โฟม
โฟม เป็นวัสดุพลาสติกที่ผ่านกระบวนการเติมแก๊ส โฟมจึงมีฟองอากาศแทรกอยู่ระหว่างเนื้อของวัสดุ จึงมีน้ำหนักเบา มีความยืดหยุ่น เป็นฉนวนความร้อน จึงนิยมนำมาใช้ทำเป็นกล่องบรรจุอาหาร บุในกระติกน้ำแข็ง บุฝาผนังห้องเย็น และนำมาใช้ทำเป็นรูปทรงในงานต่าง ๆ เพราะมีน้ำหนักเบา และตัดได้ง่าย เช่น จัดตกแต่งเวที ตัดเป็นตัวอักษรและอื่น ๆ
ยาง
ยางทำมาจากยางของต้นยางพารา มีความยืดหยุ่นได้ดี ใช้ทำยางรถยนต์ ยางลบ ลูกโป่ง พื้นรองเท้า เป็นต้น
โลหะ
โลหะ เป็นวัสดุที่มีผิวมันวาว สามารถตีให้เป็นแผ่นเรียบ หรือดึงออกเป็นเส้น หรืองอได้ โดยไม่หัก นำไฟฟ้า และนำความร้อนได้ดี เช่น เหล็ก ทองแดง อะลูมิเนียม เงิน ทอง สังกะสี ตะกั่ว โครเมียม และนิกเกิล เป็นต้น นำมาใช้ในการทำอุปกรณ์เครื่องใช้ชนิดต่าง ๆ และเครื่องประดับ เป็นต้น
เซรามิก
เซรามิก เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากดิน หิน หรือแร่อื่น ๆ ที่ไม่ใช่โลหะ โดยทำเป็นรูปทรงต่าง ๆ แล้วผ่านการให้ความร้อนที่อุณหภูมิสูงมาก ๆ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จะมีความแข็ง แต่เปราะต่อแรงกระแทก ทนต่อกรดและเบส ทนต่อสภาพอากาศ และความชื้น มีสมบัติเป็นฉนวนไฟฟ้า นิยมทำเป็นของประดับบ้าน และใช้เป็นวัตถุไฟในอุปกรณ์ไฟฟ้า
ไม้
ไม้ มีลักษณะแข็ง ทนทาน สามารถทำเฟอร์นิเจอร์ เยื่อไม้นำมาทำกระดาษ เช่น สมุด หนังสือ หนังสือพิมพ์ กระดาษ เนื้อเยื่ออ่อน เป็นต้น
ผ้า
ผ้าทำจากเส้นฝนที่นำมาทอเป็นผืนผ้า เส้นใยแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ 2 ประเภท คือ
1) เส้นใยธรรมชาติ เป็นเส้นใยที่ได้จากพืชและสัตว์ ผ้าที่ผลิตจากเส้นใยที่ได้จากพืช ได้แก่ ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน ผ้าใยสับปะรด และผ้าป่าน ผ้าที่ผลิตจากเส้นใยที่ได้จากสัตว์ ได้แก่ ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์
2) เส้นใยสังเคราะห์ เป็นเส้นใยที่ผลิตขึ้นจากสารเคมี ผ้าทีผลิตจากเส้นใยสังเคราะห์ ได้แก่ ผ้าไนลอน พอลิแอสเตอร์ และอะคริลิก มีสมบัติไม่ค่อยยับ ซักง่าย แห้งเร็ว ไม่ดูดซึมเหงื่อ เพราะไม่มีช่องระบายอากาศ จึงไม่นิยมนำมาใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มในบ้านเรา เนื่องจากมีสภาพอากาศร้อน
การเปลี่ยนแปลงของวัสดุ
วัสดุต่าง ๆ รอบตัวเรา เมื่อมีการบีบ ทุบ ดัด ดึง จะทำให้วัสดุมีการเปลี่ยนแปลงสภาพไปดังนี้
- การบีบ คือ การทำให้วัสดุหดตัวลง เช่น บีบลูกโป่ง บีบฟองน้ำ เป็นต้น
- การบิด คือ การทำให้วัสดุบิดเบี้ยว เช่น บิดผ้า บิดลวด เป็นต้น
- การทุบ คือ การทำให้วัสดุแตก หรือยุบด้วยแรงกระแทก เช่น ทุบกระป๋อง ทุบกะลามะพร้าว เป็นต้น
- การดัด คือ การทำให้วัสดุโค้งงอได้ตามที่เราต้องการ เช่น ดัดเหล็กประตู หน้าต่าง เป็นต้น
- การดึง คือ การทำให้วัสดุยืดขยายขึ้น เช่น การดึงยางรัดของ การดึงฝากระป๋องน้ำอัดลม เป็นต้น
นอกจากการออกแรงกระทำวัสดุด้วยวิธีต่าง ๆ แล้ว ความร้อนและความเย็นทำให้วัสดุเปลี่ยนแปลงรูปร่างได้
ผลจากการเปลี่ยนแปลงของวัสดุ
ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของวัสดุ
1) การนำเหล็กมาหลอมเป็นเส้นเพื่อใช้ในการก่อสร้างอาการบ้านเรือน รางรถไฟ หรือ ของใช้ต่าง ๆ
2) ใช้เครื่องมือดัดเหล็กให้โค้งงอเป็นรูปต่าง ๆ เพื่อนำมาเป็นเหล็กดัดบริเวณประตู หน้าต่าง ป้องกันขโมยได้
3) สปริง เมื่อถูกดึง จะยึดได้ เราสามารถนำมาทำเครื่องชั่งสปริง
4) รถยนต์ เมื่อถูกอัดแรง ๆ หรือเกิดการชนกัน จะสามารถยุบตัว ทำให้เราปลอดภัยจากแรงกระแทกได้
5) การยืดของยาง ทำให้เราสามารถนำยางมารัดของได้
6) เราสามารถนำเศษพลาสติกมาหลอมด้วยความร้อน ทำเป็นภาชนะใบใหม่ได้
7) ใช้ในการทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น หลอมของเล่น หล่อพระ หล่อเทียน เป่าแก้ว หล่อพลาสติก เป็นต้น
8) นำสมบัติความเหนียวของวัสดุมาใช้ทำเชือกขนาดต่าง ๆ เพื่อใช้มัดสิ่งของ
ผลเสียและอันตรายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงขอววัสดุ
1) วัสดุอาจจะใช้งานไม่ได้ตามเดิม เช่น แก้วน้ำที่มีรอยร้าว ถ้วยชามกระเบื้องที่แตก เศษกระเบื้อง หรือเศษวัสดุต่าง ๆ ที่แตกหัก อาจบาดมือของคนที่จับ หรือบาดเท้าคนที่เดินเหยียบได้
2) การยืดของยางส่วนใหญ่จะหดกลับคืนสู่สภาพเดิม เมื่อถูกความร้อน หรือเมื่อยืด บ่อย ๆ อาจทำให้เสียสภาพไป และใช้งานไม่ได้
3) ของใช้บางอย่าง เมื่อถูกแรงบิด หรือแรงกดทับ ทำให้เสียรูปร่างไปจนใช้งานไม่ได้ เช่น ขาแว่นตา หากถูกแรงบิด หรือถูกแรงกดทับจนเสียรูปทรง ทำให้ใช้งานไม่ได้ตามเดิม
4) วัสดุบางบางเป็นสารที่ไวไฟ คือ ติดไฟได้ง่าย แล้วทำให้เกิด เขม่า หรือควัน เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น
5) การเก็บวัสดุต่าง ๆ ไว้อย่างปลอดภัย เป็นการป้องกันอันตรายได้ เช่น ไม่เก็บกระป๋อง สเปรย์ไว้ในที่อุณหภูมิสูง หรือ ไม่นำไปเผา เพราะอาจเกิดระเบิดได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น