วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2557

คู่มือเตรียมสอบวิทยาศาสตร์ ป. 1 - 2 - 3 ___ ป.2 - หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 ตัวเรา (เนื้อหา)

คู่มือเตรียมสอบวิทยาศาสตร์ ป. 1 - 2 - 3 ___ ป.2 - หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 ตัวเรา (เนื้อหา)


Download



หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 ตัวเรา


          มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาล้วนต้องการดำรงชีวิต และเจริญเติบโตอย่างมีความสุข ปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และเจริญเติบโตมีอะไรบ้าง
ปัจจัยที่สำคัญในการดำรงชีวิต
          มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่รอดได้ ต้องอาศัยสิ่งจำเป็นหลายอย่าง สิ่งที่จำเป็นที่สุดที่ทำให้มนุษย์เรามีชีวิตอยู่ได้ เราเรียกว่า ปัจจัยพื้นฐาน 4 ประการ ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค
1)      อาหาร
อาหาร หมายถึง สิ่งที่รับประทานแล้วก่อให้เกิดประโยชน์ ทำให้ร่างกายเจริญเติบโต ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ถ้านำอาหารมาจัดเป็นหมู่ จะแบ่งได้ 5 หมู่ แต่ละหมู่ให้ประโยชน์แตกต่างกัน เราจึงควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทุกวัน เพื่อทำให้ร่างกายได้พลังงาน แข็งแรง และเจริญเติบโต นอกจากอาหารแล้ว น้ำและอากาศเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับร่างกายเช่นเดียวกัน



2)     เครื่องนุ่งห่ม
เครื่องนุ่งห่ม เป็นสิ่งที่มนุษย์ ใช้สวมใส่เพื่อปกปิดร่างกาย เพื่อป้องกันอากาศหนาวเย็น ลม แสงแดด และเพื่อความสุภาพเรียบร้อย สวยงาม คนแต่ละกลุ่มจะสวมใส่เครื่องนุ่งห่มที่แตกต่างกันตามประเพณี และวัฒนธรรม และตามสภาพแวดล้อม



3)    ที่อยู่อาศัย
มนุษย์ที่เกิดมา ย่อมต้องการที่อยู่อาศัย เพื่อป้องกันความร้อน ความหนาว ลม ฝน และอันตรายต่าง ๆ แต่ละคนมีที่อยู่อาศัยแตกต่างกันตามสภาพความเป็นอยู่ และความต้องการ เช่น บ้านเดี่ยว ตึก คอนโดมิเนียม อาคาร เป็นต้น




4)     ยารักษาโรค
ยา เป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต เพราะมีประโยชน์ในการรักษาโรค และป้องกันโรค ยารักษาโรค มีทั้งยาสมุนไพรจากพืชธรรมชาติ และยาที่ได้จากการสังเคราะห์ขึ้น ซึ่งเรียกว่า ยาแผนปัจจุบัน




สิ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของมนุษย์
          สิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตของคนเรา ได้แก่ อากาศ อาหาร และน้ำ ทั้ง 3 สิ่งนี้ เป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้ และเจริญเติบโต ถ้าร่างกายของเราขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป จะทำให้เราตายได้




1)      อาหาร
ร่างกายของเราเจริญเติบโตได้ เพราะเรากินอาหาร ดังนั้น การรู้จักเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์และถูกส่วนตามที่ร่างกายต้องการ จะทำให้ร่างกายแข็งแรง น้ำหนักและส่วนสูงได้ขนาดพอดี ผิวหนังสดชื่น ดวงตาแจ่มใส ท่าทางว่องไว อารมณ์รื่นเริง ในทางกลับกัน คนที่ร่างกายขาดอาหาร จะมีรูปร่าง ผอมซีด ฟันผุ ขาลีบ เป็นโรคโลหิตจาง โรคเหน็บชา เจ็บป่วยได้ง่าย กิริยา ท่าทางเหงาหงอย มีบุคลิกภาพไม่น่าดู
ถ้าเรากินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แม้ว่าเราจะรู้สึกอิ่มท้อง แต่ต่างกายเราก็จะไม่ได้ประโยชน์จากอาหารนั้น บางครั้งก่อให้เกิดโทษต่อร่างกายอีกด้วย อาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย คือ อาหารที่มีสารอาหารครบ 5 หมู่ ได้แก่
อาหารหมู่ที่ 1
อาหารหมู่ที่ 1 ได้แก่ เนื้อสัตว์ นม ไข่ ถั่วประเภทต่าง ๆ เป็นอาหารที่ให้โปรตีน ที่ทำให้กล้ามเนื้อเจริญเติบโต แข็งแรง และซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่สึกหรอ



อาหารหมู่ที่ 2
อาหารหมู่ที่ 2 ได้แก่ อาหารประเภทข้าว น้ำตาล แป้ง เผือก และมัน เป็นอาหารที่ให้คาร์โบไฮเดรต ซึ่งให้พลังงานแก่ร่างกาย ทำให้ร่างกายมีความอบอุ่น และมีกำลังที่จะทำงานต่าง ๆ ได้



อาหารหมู่ที่ 3
อาหารหมู่ที่ 3 ได้แก่ อาหารประเภทผักชนิดต่าง ๆ ซึ่งเป็นแหล่งวิตามินและเกลือแร่ ซึ่งช่วยควบคุมการทำงานของร่างกาย เด็กควรรับประทานอาหารหมู่นี้ให้มาก ๆ เพราะจะช่วยให้ร่างกาย แข็งแรง ไม่เป็นโรคง่าย และท้องไม่ผูก



อาหารหมู่ที่ 4
อาหารหมู่ที่ 4 ได้แก่ อาหารประเภทผลไม้ต่าง ๆ เป็นอาหารที่ให้คาร์โบไฮเดรต และมีวิตามิน เกลือแร่ ซึ่งช่วยควบคุมการทำงานของร่างกาย ทำให้มีสุขภาพดี ไม่เป็นโรคง่าย




อาหารหมู่ที่ 5
อาหารหมู่ที่ 5 ได้แก่ อาหารประเภทไขมันจากสัตว์และพืช เป็นอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย ทำให้ร่างกายอบอุ่น และมีกำลัง




2)     น้ำ
น้ำเป็นสิ่งที่ร่างกายเราต้องการมาก เพราะน้ำเป็นส่วนประกอบที่มีมากที่สุดในร่างกาย มีมากกว่าร้อยละ 60 ของน้ำหนักตัวเรา ทำให้ร่างกายชุ่มชื้น เป็นส่วนประกอบของเลือด ช่วยนำอาหาร แก๊สออกซิเจน และสารต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ช่วยขับถ่ายของเสีย และช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ เมื่อร่างกายมีความร้อนมากเกินไป จะระบายความร้อนออกมาในรูปของเหงื่อและปัสสาวะ ดังนั้น เราต้องดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 7 – 8 แก้ว




3)    อากาศ
อากาศเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนเรามาก อากาศที่ใช้หายใจต้องเป็นอากาศที่บริสุทธิ์ มีแก๊สออกซิเจนเจือปนอยู่มาก ๆ อากาศบริสุทธิ์จะทำให้ร่างกายของเราสดชื่น



การตอบสนองต่อสิ่งเร้าของมนุษย์
          คนและสัตว์มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้ สิ่งเร้า คือ สิ่งที่เป็นเหตุให้มนุษย์แสดงพฤติกรรม
          ร่างกายของเราจะมีอวัยวะที่ทำหน้าที่รับความรู้สึก และตอบสนองต่อสิ่งเร้า ซึ่งอวัยวะต่าง ๆ ได้แก่ ตารับความรู้สึก และตอบสนองต่อการมองเห็น จมูกทำหน้าที่รับกลิ่น ปากจะมีลิ้นที่ทำหน้าที่รับรส หูทำหน้าที่ในการฟัง และผิวหนังของเรารับรู้และตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มาสัมผัส ซึ่งอวัยวะรับความรู้สึก และตอบสนองต่อสิ่งเร้านี้ มีสมองที่เป็นระบบประสาทอยู่ภายในศีรษะของเรา เป็นศูนย์กลางควบคุมการรับความรู้สึกและการตอบสนองต่อสิ่งเร้า
          การตอบสนองต่อสิ่งเร้า หรือสิ่งที่มากระตุ้น มีทั้งสิ่งเร้าภายใน ได้แก่ ฮอร์โมน และสิ่งเร้าภายนอก ได้แก่ แสง อุณหภูมิ การสัมผัส น้ำ และอาหาร
          การตอบสนองต่อสิ่งเร้า เช่น กะพริบตาเมื่อเพื่อนจะใช้นิ้วทิ่มตา การชักแขนออกเมื่อแตะของร้อน ๆ หรือ น้ำลายไหลอยากกินเมื่อเห็นอาหาร การตอบสนองต่ออุณหภูมิ เช่น การขนลุกเมื่ออากาศหนาว เหงื่อออกเมื่ออากาศร้อน เมื่อได้ยินเสียงดังมาก จะตอบสนองด้วย การเอานิ้วอุดหู เป็นต้น
          ในช่วงที่อากาศเกิดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากการเปลี่ยนฤดูกาล อาจทำให้ร่างกายของเราปรับตัวไม่ทัน และไม่สบายได้ ดังนั้น เราจึงควรรักษาสุขภาพให้ดี โดยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ และสวมเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศเพื่อทำให้ร่างกายแข็งแรง

  

** สรุปสาระสำคัญ
1)      ปัจจัยที่สำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ เรียกว่า ปัจจัยพื้นฐาน มี 4 ประการ ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค
2)     สิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตและการเจริญเติบโต ได้แก่ อาหาร น้ำ และอากาศ
3)     อาหารที่เราควรรับประทานทุกวัน คือ อาหารที่มีสารอาหารครบ 5 หมู่
-        อาหารหมู่ที่ 1 ได้แก่ เนื้อสัตว์ นม ไข่ ถัวประเภทต่าง ๆ
-        อาหารหมู่ที่ 2 ได้แก่ ข้าว แป้ง ข้าวโพด เผือก มัน และน้ำตาล
-        อาหารหมู่ที่ 3 ได้แก่ ผักชนิดต่าง ๆ
-        อาหารหมู่ที่ 4 ได้แก่ ผลไม้ชนิดต่าง ๆ
-        อาหารหมู่ที่ 5 ได้แก่ ไขมันจากพืชและจากสัตว์

4)     คนตอบสนองต่อสิ่งเร้าโดยผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ หู ด้วยการได้ยิน ตาด้วยการมองเห็น จมูก ด้วยการได้กลิ่น ลิ้น ด้วยการชิมรส และกายสัมผัสด้วยการใช้ผิวหนังสัมผัส


Download




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Blog เพื่อนการศึกษา

***Blog เพื่อนการศึกษา*** สรุปเนื้อหาเข้า ป.1 - ม.6 สรุปเนื้อหา - วิชาสังคมศึกษา ป.3 (สรุปตามสาระการเรียนรู้) แบบทดสอบประจำหน่วยการเรียนรู...