วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2557

คู่มือเตรียมสอบวิทยาศาสตร์ ป. 1 - 2 - 3 ___ วิทยาศาสตร์ ป.1 - หน่วยการเรียนรู้ที่ 8 ท้องฟ้า (เนื้อหา)

คู่มือเตรียมสอบวิทยาศาสตร์ ป. 1 - 2 - 3 ___ ป.1 - หน่วยการเรียนรู้ที่ 8 ท้องฟ้า (เนื้อหา)



Download



หน่วยการเรียนรู้ที่ 8 ท้องฟ้า




          ท้องฟ้าในแต่ละวัน แต่ละช่วงเวลา นักเรียนจะพบว่ามีความสวยงามตามธรรมชาติแตกต่างกัน โดยเฉพาะในเวลาที่ดวงอาทิตย์กำลังขึ้น และกำลังตก
          ท้องฟ้าในเวลากลางวัน และกลางคืน ก็แตกต่างกัน
          ในเวลากลางวัน นักเรียนจะเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นจากของฟ้าด้านหนึ่ง เคลื่อนที่ไปตกอีกด้านหนึ่ง ส่วนในเวลากลางคืน นักเรียนจะเห็นดวงจันทร์ และดวงดาวต่าง ๆ มากมายบนท้องฟ้า
          ดวงอาทิตย์ โลก ดวงจันทร์ และดวงดาวต่างมีรูปร่างกลม มีขนาดต่างกัน คือ ดวงอาทิตย์ใหญ่กว่าโลก โลกใหญ่กว่าดวงจันทร์ ดวงดาวบางดวงแม้เราจะมองเห็นเป็นดาวดวงเล็ก ๆ ก็ตาม แต่มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ เพราะอยู่ไกลออกไปจากเรามาก
ดวงอาทิตย์
          ดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์ดวงหนึ่ง มีแสงสว่างในตัวเอง ใหญ่กว่าโลกของเรามาก เป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้โลกเรามากที่สุด และเป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะที่มีดาวเคราะห์ ซึ่งได้แก่ ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน โคจรรอบดวงอาทิตย์
          ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก และเคลื่อนที่ข้ามฟ้าไปทางทิศตะวันตกทุกวัน เนื่องจากว่า โลกของเราหมุนรอบตัวเองครบรอบ 1 วัน จากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก และพาเราเคลื่อนที่ไปด้วย ฉะนั้น เมื่อเราดูท้องฟ้า จึงคล้ายกับว่า ดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ไป
          ดวงอาทิตย์มีความสำคัญต่อโลก เพราะดวงอาทิตย์ให้ความร้อน และแสงสว่างแก่โลก ให้ความอบอุ่นแก่สิ่งมีชีวิตบนโลก พืชให้แสงจากดวงอาทิตย์สังเคราะห์อาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต หากโลกขาดดวงอาทิตย์ หรือ ขาดแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ บนโลกจะไม่มีสิ่งมีชีวิตใด ๆ อาศัยอยู่ นอกจากนั้น ดวงอาทิตย์ทำให้เกิดปรากฎการณ์   ต่าง ๆ ทางธรรมชาติ ทำให้เกิดแหล่งพลังงานต่าง ๆ ในโลกอีกมากมาย เช่น ปิโตรเลียม ลม น้ำ ชีวมวล เป็นต้น
การขึ้น การตกของดวงอาทิตย์ และทิศ
          นักเรียนรู้แล้วว่า โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ และหมุนรอบตัวเอง ในขณะที่โลกหมุนรอบตัวเอง ซีกโลกด้านที่หันเข้าหาดวงอาทิตย์จะสว่าง เรียกว่า เวลากลางวัน ส่วนซีกโลกอีกด้านหนึ่งจะมืด เรียกว่า เวลากลางคืน
          ทุกวัน เราจะเห็นดวงอาทิตย์ลอยสูงขึ้นจากของฟ้าในตอนเช้า ซึ่งเราเรียกว่า เวลาเช้า และเรียกทิศที่ดวงอาทิตย์ขึ้นว่า ทิศตะวันออก จากนั้นดวงอาทิตย์จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ เรียกว่า เวลาสาย จนลอยอยู่ตรงศีรษะของเรา เรียกว่า เวลาเที่ยง จากนั้นดวงอาทิตย์จะเคลื่อนต่ำลง ซึ่งเป็นเวลาบ่าย ไปจนถึงเวลาดวงอาทิตย์ตกทางขอบฟ้าอีกด้านหนึ่งที่ตรงข้ามกับเวลาเช้า เราเรียกว่า เวลาเย็น และเรียกทิศที่ดวงอาทิตย์ตกของฟ้าว่า ทิศตะวันตก เมื่อดวงอาทิตย์ลับของฟ้าไปแล้ว โลกก็จะมืดลง เราเรียกว่า เวลากลางคืน







          ถ้าไปยืนกลางแดด แสงแดดส่งมากระทบวัตถุ จะทำให้เกิดเงา ความยาวของเงาของเราจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ และจะอยู่ในทิศทางตรงข้ามกับดวงอาทิตย์




ประโยชน์ของดวงอาทิตย์
          ดวงอาทิตย์ให้ประโยชน์แก่เรามาก ดังนี้
1) ให้ความร้อน แสงสว่าง และความอบอุ่นแก่โลก
2) แสงแดดช่วยในการสังเคราะห์อาหาร ช่วยถนอมอาหารไว้กินได้นาน ๆ เช่น ปลาเค็ม กุ้งแห้ง กล้วยตาก ฯลฯ
3) แสงแดดช่วยฆ่าเชื้อโรคและให้วิตามิน แก่ผิวหนัง นักเรียนจะเห็นว่าคนที่อาศัยอยู่ในประเทศหนาวชอบอาบแดด
4)     แสงอาทิตย์สามารถนำมาใช้เป็นพลังงานไฟฟ้า
5)     ดวงอาทิตย์ช่วยให้รู้ทิศทางต่าง ๆ
ทิศ
          การที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกในตอนเช้า และตกในทิศตะวันตกในตอนเย็น ดวงอาทิตย์จึงสามารถใช้บอกทิศได้ว่าทิศใดอยู่ที่ใด ถ้าเราหันหน้าไปทางดวงอาทิตย์ในตอนเช้า ข้างหน้าเราจะเป็นทิศตะวันออก ข้างหลังจะเป็นทิศตะวันตก และถ้าเรากางแขนทั้งสองข้างออก แขนซ้ายจะชี้ไปทางทิศเหนือ และแขนขวาจะชี้ไปทางทิศใต้





ดวงจันทร์และดวงดาว
          ท้องฟ้าในเวลากลางคืน ถ้านักเรียนสังเกตดู จะเห็นว่า บางคืนท้องฟ้ามืด มีแต่ดวงดาวเต็มท้องฟ้า ทอแสงกระพริบ บางคืนเห็นดวงจันทร์มีรูปร่างต่างกันไป
ดวงจันทร์
          ดวงจันทร์เป็นบริวารของโลก โคจารรอบโลกใช้เวลาเกือบ 1 เดือน จึงจะโคจรครบรอบ มีพื้นผิวที่ขรุขระและมีขนาดเล็กกว่าโลกของเรา บนดวงจันทร์ไม่มีอากาศ ไม่มีน้ำ และไม่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ พื้นผิวดวงจันทร์เต็มไปด้วยภูเขา และหลุมอุกกาบาต
          ดวงจันทร์ไม่มีความร้อน และไม่มีแสงสว่างในตัวเอง แต่ที่เรามองเห็นแสงสว่างจากดวงจันทร์ เพราะดวงจันทร์ได้รับแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ แล้วสะท้อนมายังโลก
          การหมุนรอบตัวเอง และหมุนรอบโลกของดวงจันทร์ จึงทำให้แต่แต่ละคืนเราจะเห็นดวงจันทร์มีลักษณะแตกต่างกัน จากไม่เห็นเลย จนเห็นเต็มดวง เรียกช่วงนี้ว่า ข้างขึ้น และจาก เต็มดวง จนไม่เห็นเลย เรียกว่า ข้างแรม วันขึ้น 15 ค่ำ จะเป็นวันที่เราเห็นดวงจันทร์เต็มดวงที่เรียกว่า คืนวันเพ็ญ คืนข้างแรมที่เราไม่เห็นดวงจันทร์บนท้องฟ้าเลย เราเรียกว่า คืนเดือนดับ
          การหมุนรอบตัวเองของดวงจันทร์ และการโคจรรอบโลกของดวงจันทร์ ใช้เวลาเท่ากัน ดังนั้น จึงทำให้ระยะเวลาที่ดวงจันทร์หมุนรอบโลก เท่ากับระยะเวลาที่หมุนรอบตัวเอง โดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ทางดาราคติ ซึ่งเทียบต่อดวงอาทิตย์เป็นเวลา 27 1/3 วัน




ดวงดาว
          ดวงดาวในท้องฟ้า คืนเดือนมืดที่ปราศจากเมฆ จะเห็นดาวมากมาย บางดวงเปล่งแสงสว่างจ้า บางดวงระยิบระยับกะพริบอยู่ตลอดเวลา ดวงดาวเหล่านั้น มีลักษณะเหมือนกันหรือไม่ หรือแตกต่างกันอย่างไร
          ดวงดาวในท้องฟ้า แบ่งออกเป็น 2 ชนิด กล่าวคือ พวกที่มีแสงระยิบระยับ หรือมีการกะพริบแสง เป็นชนิดดาวฤกษ์ที่มีทั้งแสงสว่าง และความร้อนในตัวเอง เมื่อมองดูบนท้องฟ้าจะเห็นแสงกะพริบ เมื่อเฝ้ามองดูด้วยตาเปล่า เป็นเวลานาน ๆ จะไม่เคลื่อนที่ออกจากกลุ่ม ดวงดาวอีกชนิดเป็นดาวเคราะห์ เป็นดาวที่ไม่มีทั้งแสงสว่างและความร้อน ที่นักเรียนมองเห็นแสงนั้นเป็นเพราะว่าดาวเคราะห์ได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ แล้วส่งสะท้อนแสง เราจึงมองเห็นเป็นแสง ลักษณะแสงของดาวเคราะห์นั้น จะมีแสงสว่างนวลนิ่ง และเมื่อเฝ้าดูด้วยตาเปล่าเป็นเวลานาน จะพบว่า จะมีตำแหน่งไม่คงที่ เมื่อเทียบกับดาวส่วนใหญ่





          เราจะมองเห็นดวงดาวส่งแสงระยิบระยับได้เฉพาะในเวลากลางคืนเท่านั้น เราไม่สามารถมองเห็นดวงดาวในตอนกลางวัน เพราะแสงของดวงอาทิตย์สว่างมากกว่าแสงของดวงดาว นอกจากนี้ ในคืนที่ดวงจันทร์เต็มดวง เตาก็จะมองเห็นดวงดาวไม่ชัดเจนเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพราะ แสงของดวงจันทร์ มีความสว่างกว่าแสงของดวงดาว
          ดาวบางดวงสามารถบอกทิศได้ เช่น ดาวเหนือ ซึ่งจะมองเห็นอยู่ทางทิศเหนือเสมอ ดาวบางดวงจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ทำให้เราสามารถจินตนาการเป็นรูปต่าง ๆ ได้ เช่น ดาวจระเข้ ดาวหมีใหญ่ ดาวลูกไก่ เป็นต้น

** สรุปสาระสำคัญ
  1) ดวงอาทิตย์ เป็นดาวฤกษ์ที่มีแสงสว่างในตัวเอง เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะที่มีดาวเคราะห์โคจรรอบดวงอาทิตย์
   2) ดวงอาทิตย์มีประโยชน์มากมายต่อการดำรงชีวิตอยู่ของสิ่งมีชีวิต และการนำแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ
  3) ดวงจันทร์เป็นบริวารของโลก โคจรรอบโลก และหมุนรอบตัวเอง ทำให้เรามองเห็นดวงจันทร์มีรูปร่างแตกต่างกันไป
  4)  ดวงจันทร์จากไม่เห็นเลย จนเห็นเต็มดวง เรียกช่วงนี้ว่า ข้างขึ้น และจากเต็มดวง จนไม่เห็นเลย เรียกว่า ข้างแรม
  5) ดวงดาวบนท้องฟ้า แบ่งออกเป็น 2 พวก คือ ดาวฤกษ์ ที่มีความร้อนและแสงสว่างในตัวเอง กับดาวเคราะห์ที่ไม่มีความร้อน และแสงสว่างในตัวเอง

  6) ดวงดาวต่าง ๆ บนท้องฟ้า ส่วนใหญ่เป็นดาวฤกษ์ ส่องแสงระยิบระยับ และอยู่ห่างไกลจากโลกมาก เวลากลางคืน ดวงดาวบางดวงช่วยบอกทิศ เช่น ดาวเหนือ บอกทิศเหนือ เป็นต้น




Download

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Blog เพื่อนการศึกษา

***Blog เพื่อนการศึกษา*** สรุปเนื้อหาเข้า ป.1 - ม.6 สรุปเนื้อหา - วิชาสังคมศึกษา ป.3 (สรุปตามสาระการเรียนรู้) แบบทดสอบประจำหน่วยการเรียนรู...