Download (เนื้อหา)
หน่วยการเรียนรู้ที่ 2 พืชรอบตัวเรา
พืช คือ สิ่งมีชีวิตเช่นเดียวกับมนุษย์และสัตว์ มีประโยชน์สำหรับมนุษย์มาก เพราะเป็นทั้งอาหาร และยารักษาโรคของมนุษย์ และให้แก๊สออกซิเจนสำหรับหายใจของสัตว์และมนุษย์
ต้นไม้ทุกชนิดทั้งขนาดใหญ่และเล็ก ทั้งที่ขึ้นบนบก ในน้ำ และอยู่บนต้นไม้อื่น ๆ เราเรียกว่าพืช
พืชขึ้นได้ทุกหนทุกแห่งบนพื้นโลก ตั้งแต่บริเวณที่หนาวจัดมีหิมะตก ที่ร้อนจัด แห้งแล้ง กลางทะเลทรายบนพื้นราบ บนภูเขาสูง หรือในทะเลลึก ชนิดของพืชที่เราพบ ได้แก่
พืชที่ขึ้นอยู่บนบก
พืชที่ขึ้นอยู่บนบก มีมากมายหลายชนิด เช่น
พืชสวน ได้แก่ ต้นกุหลาบ ชบา ทานตะวัน ต้นเข็ม เงาะ ลำไย ทุเรียน
พืชในป่า ได้แก่ ต้นสัก ตะแบก ยาง มะค่า ประดู่ ชิงชัน ต้นไผ่
พืชในทุ่งหญ้า ได้แก่ ต้นหญ้าชนิดต่าง ๆ หญ้าคา หญ้าแห้วหมู
พืชในทะเลทราย ได้แก่ ต้นกระบองเพชร
พืชบนภูเขาสูง ได้แก่ สนสองใบ สนสามใบ อบเชย พญาไม้
พืชที่ขึ้นตามชายเลน ได้แก่ โกงกาง แสม ตะบูน ประสัก โปรง
พืชที่ขึ้นตามชายหาด ได้แก่ สนทะเล หูกวาง กระทิง โพทะเล
พืชที่ในน้ำ
พืชที่ขึ้นในน้ำ มีทั้งพืชที่อยู่ผิวน้ำ และใต้น้ำ
พืชที่อยู่ผิวน้ำ ได้แก่ ผักตบชวา จอกแหน ผักบุ้ง ผักกระเฉด
พืชใต้น้ำ ได้แก่ สาหร่ายชนิดต่าง ๆ
พืชที่มีลำต้นใต้น้ำ รากจะยึดติดอยู่กับพื้น ชูดอกและใบขึ้นเหนือน้ำ ได้แก่ บัว
พืชที่ขึ้นอยู่บริเวณอื่น ๆ
พืชที่ขึ้นอยู่บริเวณอื่น ๆ เช่น อยู่บนต้นไม้ ได้แก่ กล้วยไม้ กาฝาก ตามหลังคาบ้าน หรือกำแพง เช่น มอส เฟิร์น พลูด่าง และวัชพืช
ลักษณะและรูปภาพของพืชบางชนิด ดังแสดงในภาพ
โครงสร้างของพืช
นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องลักษณะรูปร่างของพืชมาแล้ว พืชมีลักษณะรูปร่างแตกต่างกัน ทั้งขนาดและที่อยู่ ส่วนที่เหมือนกันของพืช นักเรียนคิดว่ามีอะไรบ้าง
พืชมีส่วนประกอบใหญ่ ๆ 2 ส่วน คือ ราก และลำต้น ส่วนประกอบอื่นของพืช ได้แก่ ตา ดอก ใบ และผล
ราก
ราก คือ ส่วนของพืชที่อยู่ในดิน มีหน้าที่ยึดเกาะกับดิน ช่วยให้ลำต้นตั้งอยู่ได้โดยไม่ล้ม นอกจากนั้นยังมีหน้าที่ดูดน้ำและแร่ธาตุจากดิน เพื่อนำมาเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของลำต้นให้เจริญงอกงามอีกด้วย พืชทุกต้นจึงต้องมีราก รากบางชนิดรับประทานได้ เช่น มันเทศ แครอท เป็นต้น
รากแบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ รากแก้ว และรากฝอย
- รากแก้ว มีขนาดใหญ่จากฐานล่างของลำต้นมีรากเล็ก ๆ แตกออกไปโดยรอบ
- รากฝอย ขนาดเท่า ๆ กัน แตกออกจากฐานล่างของลำต้นที่จุดเดียวกัน
ลำต้น
ลำต้น คือ ส่วนที่โผล่จาดินขึ้นมา มีหน้าที่นำอาหารและน้ำไปหล่อเลี้ยงทุกส่วนของพืช เป็นส่วนที่ช่วยชูกิ่ง ก้าน และใบ พืชบางชนิดลำต้นตั้งตรงแข็งแรง ต้านแรงลมได้ เช่น มะม่วง ลำไย มะพร้าว เราเรียกพืชชนิดนี้ว่า ไม้ยืนต้น แต่พืชบางชนิดลำต้นมีสีเขียว ไม่แข็งแรง เลื้อยไปตามดิน หรือเลื้อยพันต้นไม้อื่น เรียกพืชชนิดนี้ว่า ไม้ล้มลุก เช่น ถั่ว ตำลึง
ประโยชน์ของลำต้นพืชที่แข็งแรง คือ สามารถนำมาใช้สร้างบ้าน ทำของใช้ ส่วนไม้เลื้อยบางชนิด สามารถนำมาใช้ประกอบอาหารได้
ใบ
ใบของพืชส่วนมากมีสีเขียว ใบมีหน้าที่หายใจ คายน้ำ และช่วยสังเคราะห์อาหารให้พืช
o ขอบใบ เป็นส่วนรอบ ๆ ใบทั้งหมด
o แผ่นใบ เป็นแผ่นใบทั้งหมด
o ก้านใบ เป็นท่อยาวตั้งแต่ขั้วใบจรดปลายใบ
o เส้นใบ เป็นเส้นเล็ก ๆ ที่แตกจากก้านใบ
ใบพืชบางชนิดรับประทานได้ เช่น ชะอม กะเพรา โหระพา ตำลึง เป็นต้น ในวานหางจระเข้ใช้ทำยารักษาแผล ใบจากใช้ทำหลังคม ใบตอง ใบตาล ใช้ห่ออาหาร
ใบมีรูปร่างและขนาดแตกต่างกัน บางชนิดมีใบกว้าง บางชนิดใบเรียวเล็ก บางชนิดมีขอบใบเรียบ บางชนิดมีขอบใบหยัก (ดูจากตัวอย่างภาพ)
ดอกไม้
ดอกไม้ คือ ส่วนที่มีสีสันสวยงาม มีสี รูปร่าง ขนาด จำนวนกลีบ และกลิ่นแตกต่างกันไป บางชนิดมีกลิ่นหอม บางชนิดมีกลิ่นเหม็น การที่ดอกไม้มีสีสันสวยงาม เพราะทำหน้าที่ล่อแมลงให้มาช่วยผสมพันธุ์ จากนั้นดอกจะกลายเป็นผล
ดอกไม้นำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง บางชนิดใช้เป็นอาหาร เช่น แค ฟักทอง เป็นต้น บางชนิดใช้บูชาพระ หรือใช้ประดับให้สวยงาม เช่น บัว บานไม่รู้โรย กุหลาบ เป็นต้น
ดอกของพืชแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน ดังนี้
1) กลีบเลี้ยง เป็นชั้นนอกสุด มีสีเขียว
2) กลีบดอก เป็นส่วนที่มีสีสันสวยงาม
3) เกสรตัวผู้
4) เกสรตัวเมีย
ดอกที่ติดกับก้านเพียงดอกเดียว เรียกว่า ดอกเดี่ยว เช่น ดอกชบา กุหลาบ แต่ถ้ามีดอกตั้งแต่ 2 ดอกขึ้นไปอยู่ในก้านเดียวกัน เรียกว่า ดอกช่อ เช่น ดอกเข็ม กล้วยไม้
ผล
ผล คือ ส่วนที่เจริญเติบโตมาจากดอก ผลของพืชเราเรียกว่า ผลไม้ แต่ละชนิดลักษณะแตกต่างกัน ผลไม้ที่สุกมีสีแดง เช่น แอบเปิล ตำลึง มีสีเขียวเหลือง เช่น แตงโม ส้มโอ บางชนิดมีผิวขรุขระ เช่น มะกรูด มะระ บางชนิดมีรสหวาน เช่น เงาะ ลำไย แตงโม บางชนิดมีรสเปรี้ยว เช่น มะนาว มะไฟ เป็นต้น
เมื่อมีเพียงผลเดียวติดอยู่กับก้าน เรียกว่า ผลเดี่ยว แต่ถ้ามีตั้งแต่ 2 ผลขึ้นไปอยู่ในก้านเดียวกัน เรียกว่า ผลรวม
ผลไม้บางชนิดมีผลเดียว เรียกว่า ผลเดี่ยว บางชนิดมีผลหลายผลอยู่รวมกันในก้านเดียว เรียกว่า ผลรวม ผลไม้บางชนิดใช้เป็นอาหารได้ เช่น มะเขือ มะพร้าว แตงโม ทุเรียน ส้ม มังคุด ชมพู บางชนิดใช้ทำยาได้ เช่น มะเกลือ มะตูม เป็นต้น
เมล็ด
เมล็ด คือ ส่วนที่อยู่ภายในผลไม้ เมล็ดพืชแต่ละชนิดมีขนาดและลักษณะแตกต่างกัน เมล็ดมีเปลือกห่อหุ้ม ภายในเมล็ดจะมีต้นอ่อน และอาหารสำหรับต้นอ่อน เมล็ดจะงอกเป็นต้นใหม่ได้ เมื่อได้รับความชื้น
เมล็ดพืชมีประโยชน์ เช่น เมล็ดถั่ว เมล็ดบัว เมล็ดทานตะวัน เมล็ดแตงโม เมล็ดพริกไทย นำมาทำเป็นอาหารของเรา เมล็ดพืชบางชนิดนำมาใช้ทำเป็นอาหารสัตว์ เช่น เมล็ดข้าวฟ่าง เมล็ดข้าวโพด เป็นต้น
ประเภทของพืช
พืชที่อยู่รอบตัวเรา เราสามารถแบ่งออกเป็นพวก ๆ โดยใช้สัญลักษณ์ที่เหมือน ๆ กันได้หลายลักษณะ เช่น
** สรุปสาระสำคัญ
1) พืชเป็นสิ่งมีชีวิต ประกอบด้วยราก ลำต้น ใบ ดอก ผล และเมล็ด
2) ชนิดของพืชที่เราพบ ได้แก่ พืชที่ขึ้นอยู่บนบก พืชที่ขึ้นในน้ำ พืชที่ขึ้นอยู่บริเวณอื่น ๆ
3) พืชแต่ละชนิด มีใบ ดอก และผล ซึ่งมีรูปร่าง และลักษณะแตกต่างกันไป
4) ส่วนประกอบของดอก ประกอบด้วย กลีบเลี้ยง กลีบดอก เกสรตัวผู้ เกสรตัวเมีย
5) พืชมีประโยชน์ต่อมนุษย์และสัตว์มาก เช่น ใช้รับประทานเป็นอาหาร ใช้เป็นสมุนไพร รักษาโรค ใช้ทำเครื่องเรือนและปลูกสร้างเป็นที่อยู่อาศัย เป็นผู้ผลติออกซิเจนในอากาศให้มนุษย์และสัตว์หายใจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น