วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2557

คู่มือเตรียมสอบวิทยาศาสตร์ ป. 1 - 2 - 3 ___ ป.2 - หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 ชีวิตพืช (เนื้อหา)

คู่มือเตรียมสอบวิทยาศาสตร์ ป. 1 - 2 - 3 ___ ป.2 - หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 ชีวิตพืช (เนื้อหา)


Download



หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 ชีวิตพืช




          พืช เป็นสิ่งมีชีวิต มีการเจริญเติบโต พืชมีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ แตกต่างกันไป การดำรงชีวิตของพืชย่อมแตกต่างกันไปตามขนาดและชนิด แต่มีปัจจัยที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตที่คล้ายกัน
ปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของพืช
          สิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของพืช มีดังต่อไปนี้
1)      น้ำ
น้ำ เป็นปัจจัยหลักที่สำคัญของกระบวนการดำรงชีวิตของพืช เพราะ น้ำช่วยละลายธาตุอาหารของพืชที่อยู่ในดิน ช่วยให้รากพืชสามารถดูดธาตุอาหารไปใช้ได้ และน้ำยังช่วยในการลำเลียงอาหารและแร่ธาตุไปใช้ในกระบวนการต่าง ๆ เพื่อการเจริญเติบโต เราจึงต้องรดน้ำให้พืชทุกวัน เพื่อช่วยทำให้พืชดำรงชีวิตอยู่ได้ และเจริญเติบโต
นอกจากนั้น น้ำให้ความชุ่มชื้นแก่พืช ถ้ารดน้ำมากเกินไป พืชบางชนิดอาจจะเน่าตาย และถ้าขาดน้ำ พืชจะเหี่ยวเฉา





2)     แสงแดด
แสงแดด พืชต้องการแสงแดด เพื่อใช้ในกระบวนการสร้างอาหาร หรือการสังเคราะห์ด้วยแสง โดยมีน้ำ คลอโรฟิลล์ และแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นปัจจัยสำคัญ อาหารที่ได้จากการสังเคราะห์ด้วยแสง คือ แป้ง และน้ำตาล ซึ่งอาหารพวกนี้ จะช่วยทำให้พืชดำรงชีวิตอยู่ได้ และเจริญเติบโตขึ้น
3)    อาหาร
อาหารของพืช คือ แร่ธาตุที่อยู่ในดิน ได้จากซากพืช ซากสัตว์ที่ตายแล้วสลายผสมอยู่ในดินชั้นบน ซึ่งเรียกว่า ฮิวมัส แต่ธาตุอาจหมายถึง ปุ๋ยที่มีส่วนทำให้พืชเจริญเติบโต เกษตรกรสามารถเพิ่มอาหารให้แก่พืชได้โดยการใส่ปุ๋ย
4)     อากาศ
พืชต้องการแก๊สออกซิเจนสำหรับหายใน และแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ สำหรับการสร้างอาหาร พืชหายใจตลอดเวลา ทั้งกลางวันและกลางคืน
5)    ดิน
ดิน เป็นที่อยู่อาศัยของพืช ดินแต่ละแห่งจะมีปุ๋ย และแร่ธาตุของพืชที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตแตกต่างกันไป พืชจะเจริญเติบโตได้ดี ถ้าปลูกในดินที่เหมาะสมกับพืชชนิดนั้น นอกจากนั้น ดินยังช่วยทำให้รากยึดลำต้นให้ทรงตัวอยู่ได้
6)     อุณหภูมิของอากาศที่เหมาะสม
พืชบางชนิดเจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีอุณหภูมิสูง บางชนิดเจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำ






          โดยสรุป นักเรียนจะเห็นว่า ต้นไม้หรือพืชเป็นสิ่งมีชีวิต จึงต้องการน้ำ แสงแดด อาหาร อากาศ ดิน และอุณหภูมิของอากาศที่เหมาะสม เพื่อให้มีชีวิตอยู่ และเจริญเติบโตได้
ปัจจัยที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช
          ปัจจัยที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช ได้แก่ แร่ธาตุในดิน น้ำ ความชื้น และแสงสว่าง
          แร่ธาตุในดิน เป็นแร่ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 พวก คือ
  1)      ธาตุอาหารหลัก ได้แก่ ธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม
  2)     ธาตุอาหารรอง เป็นธาตุอาหารที่พืชต้องการเป็นปริมาณรองลงไปจากธาตุอาหารหลัก ได้แก่ ธาตุแคลเซียม แมกนีเซียม และธาตุกำมะถัน
  3)     ธาตุอาหารเสริม เป็นธาตุอาหารที่พืชต้องการเป็นปริมาณน้อยมาก ได้แก่ ธาตุโบรอน แมงกานีส ทองแดง เหล็ก สังกะสี โมลิบดินัม และคลอรีน
นอกจากแร่ธาตุในดินแล้ว อาจต้องการปุ๋ย เพื่อความเจริญเติบโตของพืช
ปุ๋ย
ปุ๋ย เป็นธาตุอาหารที่พืชต้องการเพิ่มจากธาตุอาหารที่ได้จากดินธรรมชาติ ปุ๋ยมี 2 ประเภท คือ ปุ๋ยอินทรีย์ กับปุ๋ยวิทยาศาสตร์
ปุ๋ยอินทรีย์ ได้จากการนำเศษอาหาร มูลสัตว์ ใบไม้ มาหมักรวมกัน ซึ่งเรียกว่า ปุ๋ยหมัก หรือ ปุ๋ยชีวภาพ ส่วนปุ๋ยซึ่งได้จากมูลสัตว์ต่าง ๆ เรียกว่า ปุ๋ยคอก
ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ได้จากการปุรงแต่งสารเคมีด้วยกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์ ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม





การดูแลรักษาพืช
          พืชเป็นสิ่งมีชีวิต ซึ่งต้องการการเอาใจใส่ดูแลเพื่อให้เจริญเติบโต และดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยได้รับน้ำ อากาศ แสงแดด และแร่ธาตุในดิน นอกจากนี้ยังมีวิธีดูแลพืชดังต่อไปนี้
   1)      รดน้ำอย่างสม่ำเสมอเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น
   2)     พรวนดิน จะช่วยให้ดินร่วนซุย น้ำซึมผ่านได้ดี และอากาศถ่ายเท ช่วยให้รากมีการเจริญเติบโต
  3)     กำจัดศัตรูพืช ได้แก่ แมลง หรือหนอนที่กัดกินพืช หญ้า หรือวัชพืชต่าง ๆ ที่ไม่ต้องการ เพื่อไม่ให้แย่งอาหาร
   4)     ใส่ปุ๋ยเป็นครั้งคราว เพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้แก่พืช จะทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดีขึ้น
   5)     ตัดแต่งกิ่งเพื่อให้พืชเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์

วิธีการดูแลรักษาพืชตามที่กล่าวถึงนั้น เราเรียกว่า การบำรุงพืช


ประเภทของพืช
          พืชที่อยู่รอบตัวเรา เราสามารถแบ่งออกเป็นพวก ๆ โดยใช้ลักษณะที่เหมือน ๆ กัน ได้หลายลักษณะ ดังนี้





 

  1)      แบ่งตามขนาด
เราแบ่งพืชตามขนาดได้เป็น 2 พวก คือ พืชขนาดใหญ่ กับพืชขนาดเล็ก
  2)     แบ่งตามการมีดอก
เราแบ่งพืชตามลักษณะการมีดอกได้เป็น 2 พวก คือ พืชดอก กับพืชไร้ดอก


การตอบสนองต่อสิ่งเร้าของพืช
          สิ่งเร้า คือ สภาวะแวดล้อมที่มีผลต่อการตอบสนองของพืช และปรับตัวให้สามารถดำรงอยู่ได้ สิ่งเร้าที่ทำให้สิ่งมีชีวิตมีความรู้สึกและตอบสนองนั้นมีหลายอย่าง ได้แก่ ความชุ่มชื้น ความร้อน แสงสว่างและอื่น ๆ เช่น การงอกของเมล็ด การเจริญของลำต้น หรือกิ่งก้านขึ้นสู่อากาศเพื่อรับแสง และการเจริญของรากลงสู่พื้นดิน เพื่อดูดน้ำและแร่ธาตุ การผลัดใบไม้ในฤดูแล้ว (อากาศร้อน) การหุบใบของต้นไมยราบเมื่อถูกสัมผัส การหันเข้าหาแสงของดอกทานตะวัน เป็นต้น นอกจากนี้ พืชยังปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ยาวนานในสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ
          การปรับตัวของพืชให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม เช่น ในที่แห้งแล้ว พืชปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม โดยมีขี้ผึ้งเคลือบอยู่ที่ใบ และลำต้น พืชที่ขึ้นในทะเลทรายจะมีลำต้นอวบและใบหน้า เพื่อเก็บน้ำ ส่วนพืชที่อาศัยอยู่ในน้ำมักมีลำต้นอวบ หรือมีส่วนที่ช่วยให้พืชลอยน้ำได้ เป็นต้น

ความสำคัญของพืช
          พืชมีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อมมาก เพราะพืชสามารถสร้างอาหารให้มนุษย์และสัตว์กินเพื่อการเจริญเติบโต และดำรงชีวิตต่อไปได้ นอกจากนั้นเป็นที่หลบภัย หรือเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า บริเวณที่มีพืชปกคลุมอยู่อย่างหนาแน่น ทำให้มีฝนตก ช่วยกำจัดมลพิษในอากาศ พืชใช้ทำเครื่องนุ่งห่ม ใช้สร้างบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย ใช้ทำยารักษาโรค และใช้เป็นเชื้อเพลิง
          นักเรียนจะเห็นว่า พืชหรือต้นไม้มีความสำคัญ หรือ มีประโยชน์ต่อมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เราจึงควรช่วยกันปลูกต้นไม้ และดูแลต้นไม้ให้มีชีวิตเช่นเดียวกับการมีชีวิตของมนุษย์และสัตว์ทั่วไป
          ข้อควรปฏิบัติต่อพืช มีดังต่อไปนี้
  1)      ไม่ทำลายป่า
  2)     ไม่ตัดไม้ที่ยังโตไม่เต็มที่
  3)     ปลูกต้นไม้แทนต้นที่ตัดไป
  4)     ช่วยบำรุงรักษาพืชที่ปลูกและช่วยกันขยายพันธุ์พืช

** สรุปสาระสำคัญ
  1) พืชเป็นสิ่งมีชีวิตเช่นเดียวกับมนุษย์และสัตว์ จึงมีความต้องการน้ำ อากาศ อาหาร แสงแดด ในการดำรงชีวิต
  2) การดูแลรักษาพืช หรือ การบำรุงพืช มีวิธีดูแลโดยรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ พรวนดิน กำจัดศัตรูพืช ใส่ปุ๋ยเป็นครั้งคราว และตัดแต่งกิ่ง
  3)   พืชที่อยู่รอบตัวเราแบ่งเป็นพวก ๆ โดยใช้ลักษณะที่เหมือนกันดังนี้ แบ่งตามขนาด แบ่งตามการมีดอก
  4)  การตอบสนองต่อสิ่งเร้าของพืช เช่น การงอกของเมล็ด การเจริญของลำต้น หรือกิ่งก้านสู่อากาศ การเจริญของรากลงสู่พื้นดิน การผลัดใบไม้ในฤดูแล้ง การหุบใบของต้นไมยราบเมื่อถูกสัมผัส การหันเข้าหาแสงของดอกทานตะวัน เป็นต้น

  5)  พืชมีประโยชน์ต่อคนและสัตว์ คือ ใช้เป็นอาหาร ใช้ก่อสร้างบ้านเรือน ใช้เป็นยารักษาโรค ใช้ทำเครื่องนุ่งห่ม และของใช้ และใช้เป็นเชื้อเพลิง




Download






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Blog เพื่อนการศึกษา

***Blog เพื่อนการศึกษา*** สรุปเนื้อหาเข้า ป.1 - ม.6 สรุปเนื้อหา - วิชาสังคมศึกษา ป.3 (สรุปตามสาระการเรียนรู้) แบบทดสอบประจำหน่วยการเรียนรู...