วันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

คู่มือเตรียมสอบ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ป.1 - 2 - 3 ___ สังคม ป.1 - บทที่ 6 เรียนรู้เรื่องศาสนา (เนื้อหา)

คู่มือเตรียมสอบ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ป.1 - 2 - 3 ___ สังคม ป.1 - บทที่ 6 เรียนรู้เรื่องศาสนา (เนื้อหา)


Download (เนื้อหา)

คู่มือเตรียมสอบ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ป.1 - 2 - 3 ___ สังคม ป.1 - บทที่ 6 เรียนรู้เรื่องศาสนา (เนื้อหา)


     1.      ความหมาย ความสำคัญ และประโยชน์ของศาสนา
ก.     ความหมาย และความสำคัญของศาสนา
ศาสนา คือ ข้อคำสอนที่สอนให้คนทำสิ่งที่ดี ไม่ทำความชั่ว หรือ ไม่ทำบาป
ข้อคำสอนของศาสนา มีคนจำนวนมากยอมรับนับถือ และทำตามข้อกำหนดของคำสอน เพราะมีความเชื่อว่า ผู้ที่ทำความดี ไม่ทำชั่ว จะทำให้ผู้นั้นมีความสุข ความเจริญ และมีความสมหลัง แต่ถ้าผู้ใดทำชั่วหรือ ทำบาป ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดี ทำให้ผู้นั้นเกิดความทุกข์ ความเสื่อมเสีย และความผิดหวังได้
ผู้ที่สนให้เรารู้จัก และนับถือศาสนาครั้งแรก คือ พ่อแม่ และคนในครอบครัว

ข.     ประโยชน์ของการนับถือศาสนา
ทุกศาสนามีหลักคำสอนที่สอนให้คนเราไม่ทำความชั่ว แต่ให้ทำความดี คนที่นับถือศาสนา และทำตามข้อปฏิบัติตามคำสอน ย่อมเป็นผู้ที่มีความดีงาม ทั้งในด้านการกระทำ การพูดจา และการคิด ที่เรียกว่า ดีทั้งกาย วาจา และใจ ซึ่งศาสนาจะให้ประโยชน์แก่ผู้ที่นับถือ โดยทำตามคำสอน ซึ่งหลักคำสอนทางศาสนามีเหตุผลที่ดีและถูกต้อง ทำให้คนเกิดศรัทธา และปฏิบัติตามคำสอนเป็นเวลานาน และมีผู้นับถือกันมากอย่างต่อเนื่อง
ศาสนาให้ประโยชน์แก่ผู้นับถือ ดังนี้
1)     ทำให้คนเป็นคนดีทั้งกาย วาจา และใจ
2)     ทำให้คนเอง และผู้อื่นมีความสงบสุข ไม่เดือดร้อน
3)     สร้างความเจริญด้านต่าง ๆ ให้ตนเอง ให้หมู่คณะและสังคม


  
     2.     องค์ประกอบของศาสนา และศาสนาที่สำคัญ
ก.     องค์ประกอบของศาสนา
ศาสนาเกิดขึ้นในโลกเพราะมีผู้คิดค้นคำสอนและปฏิบัติตามคำสอนนั้นเป็นคนแรก แล้วนำข้อปฏิบัตินั้นไปบอก สอนให้ผู้อื่นรู้จักและทำตาม ทำให้เกิดผลดีและมีความสุข จึงมีความเชื่อ และนับถือต่อ ๆ กันมา จึงตั้งเป็นศาสนาขึ้น ดังนั้น ผู้ที่คิดคำสอนและข้อปฏิบัติเป็นคนแรก เรียกว่า ศาสดา ผู้ที่ปฏิบัติตาม และนำคำสอนไปเผยแผ่ ทำให้มีผู้เชื่อ และนับถือกันมาก เรียกว่า สาวก

ทุกศาสนา มีองค์ประกอบที่เหมือนกัน คือ
1)     ศาสดา เป็นผู้คิดค้นคำสอนคนแรก ถือว่าเป็นผู้ตั้งศาสนา
2)     คำสอน เป็นข้อกำหนดในการปฏิบัติตน เพื่อให้เกิดความสุข ความเจริญ
3)     สาวก เป็นผู้ที่มีความเชื่อ ยอมรับนับถือ และทำตามคำสอนของศาสดา และเป็นผู้ที่ช่วยเผยแผ่ให้มีผู้นับถือคำสอนต่อกันมามากขึ้น

ข.     ศาสนาที่สำคัญ
ศาสนาที่มีคนนับถือกันเป็นจำนวนมากในโลกนี้ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ศาสนาฮินดู และศาสนาซิกข์ แต่ละศาสนาได้เกิดขึ้นมาเมื่อหลายร้อยหลายพันปีมาแล้ว การที่ศาสนาต่าง ๆ มีคนนับถือเป็นจำนวนมาก เพราะทุกศาสนามีคำสอน และข้อปฏิบัติที่ดีงาม สร้างประโยชน์ และความสุขแก่ผู้นับถือ รวมทั้งทำให้ผู้คนอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข

     3.     ศาสนาในประเทศไทย
3.1  ศาสนาที่คนไทยนับถือ
เราเป็นคนไทย เรานับถือศาสนา คนไทยมีสิทธิในการนับถือศาสนา หมายถึง การเลือกนับถือศาสนาได้ตามความเชื่อ ไม่มีการบังคับ เพราะเชื่อว่า ทุกศาสนามีคำสอนที่ตรงกัน คือ สอนให้เป็นคนดี ไม่เบียดเบียนกัน ดังนั้น ศาสนาที่คนไทยนับถือจึงมีหลายศาสนา ที่เป็นศาสนาที่สำคัญในโลก ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ศาสนาฮินดู ศาสนาซิกข์
คนไทยส่วนใหญ่เกือบทั่วประเทศ นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งนับถือกันมาช้านานแล้ว ชีวิตความเป็นอยู่ที่แสดงถึงประเพณี และวัฒนธรรม มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธอย่างแนบแน่น ต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้น ศาสนาพุทธจึงมีความสำคัญมากต่อคนไทย
3.2  ศาสนาพุทธ
ศาสนาพุทธ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระพุทธศาสนา คือ ศาสนาที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้คิดคำสอน และนำมาเผยแผ่เป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีงาม ทำให้มีผู้นับถือ และปฏิบัติตามคำสอนกันเป็นจำนวนมาก จึงตั้งเป็นศาสนาพุทธ ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงเป็นศาสดาของศาสนาพุทธ

ก.     พุทธประวัติ
พุทธประวัติ หมายถึง เรื่องราวของพระพุทธเจ้า ศาสนาพุทธเกิดขึ้นในประเทศอินเดียโบราณ เป็นเวลามากกว่า 2,500 ปีมาแล้ว
พระพุทธเจ้ามีพระนามเดิมว่า เจ้าชายสิทธัตถะ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ และพระนางสิริมหมายา แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ในประเทศอินเดีย
เมื่อตอนเป็นเด็ก เข้าชายสิทธัตถะ ทรงตั้งใจศึกษาเล่าเรียนวิชาความรู้ทุกอย่างที่ครูอาจารย์อบรมสั่งสอนได้อย่างรวดเร็ว แสดงถึงพระสติปัญญาที่ฉลาด และในด้านกำลังกาย ทรงฝึกการกีฬา และการต่อสู่โดยใช้อาวุธต่าง ๆ ทรงเป็นนักรบที่มีฝีมือ ในฐานะที่เป็นพระราชโอรสของกษัตริย์ที่ต้องเป็นผู้นำในการต่อสู่กับข้าศึก
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะมีพระชนมายุ 29 พรรษา ทรงออกผนวช เพราะทรงเห็นว่า การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นความทุกข์ของคน เมื่อผนวชแล้ว ทรงค้นหาวิธีดับทุกข์อยู่ 6 ปี จึงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และทรงเทศนาสั่งสอนผู้คนเป็นเวลา 45 ปี จึงเสด็จปรินิพพาน

ข.     ชาดก
ชาดก หมายถึง เรื่องในอดีตชาติที่ผ่านมาของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นเรื่องที่มีคติสอนใจเกี่ยวกับการกระทำที่มีผลตอบสนอง คือ ทำดีได้ดี ทำชั่ว ได้ชั่ว” พระพุทธเจ้าตรัสเล่าเพื่อเป็นตัวอย่างขณะที่ทรงเทศนาสั่งสอนผู้คน เมื่อเราศึกษาเรืองชาดกแล้ว ควรได้ข้อคิดเพื่อสอนใจตัวเองด้วย



เรื่องที่ 1 วัณณุปถชาดก ความพยายามทำให้เกิดความสำร็จ
          นานมาแล้ว ณ เมืองพาราณสี มีพ่อค้าเป็นนายกองเกวียน ได้บรรทุกสินค้าและเสบียงอาหารด้วยเกวียน 500 เล่ม ไปค้าขายต่างเมืองกับเพื่อนพ่อค้าด้วยกัน และบริวารระหว่างทางต้องผ่านทะเลทรายที่แห้งแล้ว ไม่สามารถเดินทางในเวลากลางวัน เพราะอากาศร้อนระอุมาก จะเดินทางเฉพาะเวลากลางคืน โดยมีผู้นำทาง และหยุดพักผ่อนตอนกลางวัน การเดินทางผ่านไปหลายวัน จนเหลือเพียงวันเดียวก็จะพ้นเขตทะเลทราย มาถึงเมืองที่จะค้าขาย เหล่าบริวารจึงประมาท คิดว่าวันรุ่งขึ้นก็จะถึงที่หมาย เมื่อกินอาหารแล้วจึงเทน้ำที่มีอยู่จนหมด จะได้ไม่หนักมาก
          พอถึงกลางคืนก็เดินทางต่อ แต่ในคืนนี้ผู้นำทางอ่อนเพลียเพราะอดนอนหลายคืน จึงเผลอหลับไป ทำให้กองเกวียนเดินทางผิด วกกลับไปทางเดิม พอใกล้สว่าง ผู้นำทางตื่นขึ้นมาแหงนดูดาว จึงรู้ว่าผิดทาง เร่งให้กลับขบวนเกวียน แต่กว่าจะกลับขบวนเกวียนได้ ก็สว่างพอดี นายกองเกวียนเห็นว่า ยังเช้าอยู่ อากาศไม่ร้อนมาก จึงรีบสำรวจหาแหล่งน้ำ พบหญ้าอกหนึ่ง เขามั่นใจว่าต้องมีน้ำอยู่ใต้ดินแน่นอน เขาสั่งให้บริวารช่วยกันขุดบริเวณนั้น แต่ทุกคนก็ท้อแท้ เพราะขุดไปจนลึกแล้วพบแผ่นหินใหญ่ นายกองเกวียนก้มลงเอาหูแนบกับแผ่นหิน ได้ยินเสียงน้ำไหล จึงบอกบริวารให้ช่วยกันใช้ค้อนเหล็กทุบชั้นหิน แล้วด้วยความเพียร ทำให้หินแตก มีน้ำพุ่งขึ้นมามากมาย ทุกคนได้ใช้น้ำดื่ม และอาบโดยทั่วกัน แล้วเดินทางไปค้าขายต่อในเมืองจนสินค้าหมด ได้กำไรตามต้องการ จึงเดินทางกลับอย่างมีความสุข
เรื่องที่ 2 สุวัณณสามชาดก  คนดีย่อมมีความกตัญญูกตเวที
          กาลครั้งหนึ่ง มีฤาษีสองสามีภรรยาอาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ และมีบุตรชายคนหนึ่ง ชื่อ สุวัณณสาม (สุวรรณสาม) ซึ่งเป็นเด็กดี มีความกตัญญู เชื่อฟัง และรับใช้พ่อแม่ รวมทั้งมีจิตใจที่เมตตากรุณาต่อสัตว์ป่าที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้น
          วันหนึ่ง ฤาษีทั้งสองออกไปหาผลไม้ในป่า เกิดฝนตกหนัก จึงไปหลบที่ใต้ต้นไม้คิดกับจอมปลวก ซึ่งมีงูเห่าอาศัยอยู่ จึงถูกงูเห่าพ่นพิษใส่ตาของฤาษีทั้งสอง ทำให้ตาบอด หาทางกลับที่พักไม่ได้
          การที่ฤาษีทั้งสองต้องตาบอด เพราะผลกรรมในชาติก่อนที่เป็นหมอรักษาตา และโกรธคนไข้ที่ไม่จ่ายเงินค่ารักษา จึงหลอกให้หยอดตาของฤาษีทั้งสอง ทำให้ตาบอดหาทางกลับที่พักไม่ได้
          สุวัณสามออกตามหาพ่อแม่ที่ในป่าจนพบ เมื่อรู้เรื่องราวแล้ว เขาร้องไห้และหัวเราะสลับกันไป เมื่อพ่อแม่ถามก็ตอบว่า ที่ร้องให้เพราะเสียใจที่พ่อแม่ต้องตาบอก ที่หัวเราะก็คือ ดีใจที่จะได้ดูแลปรนนิบัติพ่อแม่ ทุกวัน สุวัณณสามจะตักน้ำ ทำความสะอาดที่พัก ซักผ้า และออกไปหาผลไม้มาเป็นอาหาร ซึ่งทำด้วยความตั้งใจทุกวัน เมื่อออกไปป่าเพื่อหาผลไม้ ก็จะมีฝูงกวาง และสัตว์หลายชนิดเดินตาม
          ต่อมามีพระราชาองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า ท้าวปิลยักขราช ออกมาล่าสัตว์ในป่า เห็นรอยเท้าสัตว์มากมายก็สงสัย จึงซุ่มแอบดูอยู่ เห็นสุวัณณสามเดินมาตักน้ำ มีฝูงกวางเดินตาม พระราชาคิดว่า จะยิงด้วยธนูให้สลบก่อนจึงจะดูว่าเป็นใคร พระราชาจึงยิงะนูไปถูกอกข้างขวาของสุวัณณสาล้มลง สุวัณณสามรู้ตัวก่อนว่าถูกยิง ก็ตั้งสติแล้วพูดว่า เราและพ่อแม่ของเราไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร เนื้อของเราเป็นอาหารไม่ได้ แล้วมายิงเราทำไม
          ท้าวปิลยักขราชรู้สึกละอายใจจึงออกจากที่ซ่อน มาซักถามจนเข้าใจ และรู้เรื่อง ได้สัญญาว่าจะเลี้ยงดูพ่อแม่ให้อย่างดี สุวัณณสามก็สลบไป พระราชาคิดว่าสุวัณณสามตายแล้ว จึงรีบไปยังที่พักของฤาษีทั้งสอง และเล่าเรื่องให้ฟัง พร้อมทั้งยอมรับผิด พ่อแม่ของสุวัณณสามเสียใจมาก ขอให้พระราชาพาไปที่ร่างของสุวัณณสาม แล้วร้องไห้รำพันด้วยความรักลูก เมื่อตั้งสติได้ ฤาษีทั้งสองจึงอธิษฐานขอให้ลูกฟื้น ด้วยอำนาจของคำอธิษฐานและคุณความดีของสุวรรณสามที่กตัญญูต่อพ่อแม่ ทำให้สุวัณณสามฟื้นขึ้นมา และฤาษีทั้งสอง ห็หายจากตาบอด มองเห็นได้ดังเดิม
          ท้าวปิลยักขราชรู้สึกแปลกใจมาก จึงตรัสถามสาเหตุของเรื่องราว สุวณณสามจึงบอกว่า เพราะความดีที่กตัญญูต่อพ่อแม่ จึงทำให้เรื่องร้ายกลายเป็นดี และขอให้พระราชาเลิกล่าสัตว์ ซึ่งเป็นการเบียดเบียนชีวิตกัน พระราชาให้สัญญาและขอโทษสุวัณณสาม แล้วเสด็จกลับเมือง ส่วนสุวัณณสามก็ได้ดูแลปรนนิบัติพ่อแม่ให้มีความสุข และบำเพ็ญเพียรภาวนาต่อไป
          ** ความหมายของคำศัพท์  
          อธิษฐาน : ความตั้งใจที่มุ่งหวังผลอย่างใดอย่างหนึ่ง



ค.     พุทธสาวก
พุทธสาวก หมายถึง ผู้ที่ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วขอออกบวชเป็นศิษย์ เพื่อนำพระธรรมคำสอนไปปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นการเผยแผ่พระศาสนาให้มั่นคงสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
พุทธสาวกในระดับชั้นนี้ เป็นผู้ที่ขอออกบวช มีอายุไม่ถึง 20 ปี และถือศีล 10 ข้อ เรียกว่า สามเณร เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล

          สามเณรบัณฑิต
          สามเณรบัณฑิต เกิดในตระกูลที่นับถือ และเลื่อมใสพระสารีบุตร พออายุ 7 ปี ก็ขออนุญาตพ่อแม่ ว่า ขอบรรพชาเป็นสามเณร โดยมีพระสารีบุตรเป็นพระอุปัชฌาย์
          ตอนเช้าพระสารีบุตรไปบิณฑบาต ก็ได้พาสามเณรบัณฑิตไปด้วย ระหว่างทาง สามเณรเห็นคนกำลับกั้นน้ำจากเหมืองฝายส่งเข้าท้องนา จึงสงสัยถามพระสารีบุตรว่า น้ำมีจิตใจหรือไม่ พระสารีบุตรตอบว่า น้ำไม่มีจิตใจ สามเณคคิดว่าน้ำไม่มีจิตใจ แต่คนทำให้น้ำไหลเข้าในนาได้ แต่คนมีจิตใจ ทำไมจึงไม่สามารถบังคับใจของตนเอง
          เมื่อเดินต่อมา เห็นคนกำลังถากไม้ทำล้อเกวียน ก็ถามว่า ไม้มีจิตใจหรือไม่ พระสารีบุตรตอบว่า ไม้ไม่มีจิตใจ สามเณรคิดอีกว่า คนนำไม้ที่ไม่มีจิตใจมาทำล้อได้ แต่ทำไมคนจึงไม่บังคับจิตใจตนเอง
          ต่อมาก็เห็นว่า คนกำลังใช้ไฟลนโลหะทำลุกศร เพื่อดัดให้ตรง สามเณรก็ถามอีก และคิดว่าคนสามารถดัดลูกศรให้ตรงได้ แต่บังคับใจของตนไม่ได้ สามเณรจึงคิดต่ออีกว่า จิตใจของคนก็ต้องฝึกได้ จึงขออนุญาตพระสารีบุตรกลับมาที่วัดก่อน ท่านได้เข้าไปในวิหาร นั่งบำเพ็ญเพียรภาวนา ทำใจเป็นสมาธิ และบรรลุเป็นพระอรหันต์
          ** ความหมายของคำศัพท์
1.      พระอรหันต์ ผู้ที่กำจัดกิเลสซึ่งเป็นข้าศึกทางจิตใจจนหมดสิ้น
2.      พระอุปัชฌาย์ : ผู้รับรองกุลบุตรในการรับการบวช และทำหน้าที่ฝึกอบรม ฝึกสอนในการศึกษาพระธรรมต่อไป



    4.   หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
ก.     รู้จักพระรัตนตรัย
พระรัตนตรัย มีความหมายแยกเป็น 2 คำ คือ
รัตน แปลว่า แก้ว
ตรัย แปลว่า สาม
พระรัตนตรัย หมายถึง แก้วที่มีค่าอันประเสริฐ 3 ดวง คือ
1)     พระพุทธ คือ พระพุทธเจ้า ผู้เป็นศาสดาของศาสนาพุทธ
2)     พระธรรม คือ คำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นทั้งข้อห้ามและปฏิบัติ และข้อควรปฏิบัติตน
3)     พระสงฆ์ คือ ผู้ที่ออกบวช ปฏิบัติตามคำสอน และเผยแผ่คำนอนสืบต่อมา ให้พระพุทธศาสนายังคงอยู่ตลอดไป

ข.     หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ควรนำมาปฏิบัติตน
เราควรศึกษา และนำหลักธรรมมาปฏิบัติ เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ในสังคมอย่างสงบสุข ซึ่งมีหลักธรรมที่ควรนำมาปฏิบัติมากมาย แต่ในระดับชั้นนี้มี 3 เรื่อง ดังนี้
1)     โอวาท 3
โอวาท 3 เป็นหลักธรรมที่เป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา มี 3 ข้อ ดังนี้
(1)  เว้นความชั่ว
ความชั่ว คือ การกระทำที่ไม่ดี เป็นบาป เป็นสิ่งเลวร้าย ถ้าทำไปมีผลทำให้เกิดความทุกข์กาย ทุกข์ใจ มีความลำบาก เดือนร้อนแก่ตัวเองและผู้อื่น เราต้องละเว้น หลีกเลี่ยงหนีห่างจากสิ่งที่เป็นความชั่วทั้งหาย ได้แก่
o  ไม่รังแกเพื่อน
o  ไม่ทำร้ายสัตว์
o  ไม่ทะเลาะวิวาทกัน
o  ไม่หยิบสิ่งของ หรือแย่งของผู้อื่น


(2) ให้ทำความดี
ความดี คือ การกระทำที่ดีงาม เป็นบุญแก่ตัวเอง มีผลทำให้เกิดความสุข ความสบายใจ เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น เราต้องหมั่นทำความดี ซึ่งเป็นการพัฒนาตนเองให้มีความประพฤติที่ดีงาม เรียนว่า มีคุณธรรม และจริยธรรม ได้แก่
o  แบ่งปันสิ่งของ หรือช่วยเหลือผู้เดือดร้อน
o  พูดให้กำลังใจผู้อื่น
o  รับผิดชอบหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
o  ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ อดทน

(3) มีจิตใจบริสุทธิ์
จิตใจบริสุทธิ์ หมายถึง จิตใจที่ดีงาม คนที่มีจิตใจดี ย่อมมีการกระทำและคำพูดที่ดีด้วย เราต้องฝึกจิตใจของเราให้มีความตั้งใจดี คิดในสิ่งที่ดี ไม่คิดร้าย ไม่คิดอิจฉาริษยา
o  ชื่นชม และยินดีที่เพื่อนได้รับรางวัล
o  ตั้งใจอ่านหนังสืออย่างมีสมาธิ

2)    หิริ โอตัปปะ
หิริ อ่านว่า หิ – หริ หมายถึง ความละอายใจในการทำบาป ไม่ยอมทำความชั่ว แม้ว่าจะมีโอกาส เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี เช่น
o  ไม่ขโมยสิ่งของผู้อื่นเพราะกลัวคนเห็น
o  ไม่ทะเลาะวิวาทกัน เพราะกลัวถูกทำโทษ

โอตัปปะ อ่านว่า โอด – ตับ – ปะ  หมายถึง ความเกรงกลัวต่อการทำบาป ไม่กล้าทำความทำความชั่ว ทั้งต่อหน้าและลับหลังผู้อื่น เพราะเกรงกลัวว่าจะทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน เช่น
o  ไม่คิดขโมยสิ่งของผู้อื่น เพราะคิดว่าเป็นบาป
o  ไม่คิดกลั่นแกล้ง หรือทะเลาะกัน เพราะคิดว่าจะเดือดร้อน

ดังนั้น เราต้องรู้จักคิดไตร่ตรอง และคิดอย่างมีเหตุผลก่อนที่จะทำอะไรที่เป็นสิ่งไม่ดี โดยฝึกตนเองให้ละอายต่อการทำชั่ว ไม่ปล่อยให้ความชั่วเข้าครอบงำจิตใจ การมี หิริ – โอตตัปปะ อยู่ในใจเสมอ เป็นการพัฒนาตนให้มีจิตใจสูง ซึ่งเป็นจิตใจที่ดีงาม
3)    กตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่และครอบครัว
กตัญญู อ่านว่า กะ – ตัน – ยู หมายถึง การรู้จักพระคุณ
กตเวที อานว่า กะ – ตะ – เว – ที หมายถึง การตอบแทนพระคุณ
พ่อแม่เป็นผู้ให้กำเนิดและให้ชีวิตแก่เรา ท่านเลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนเราตั้งแต่เล็กจนโต ด้วยความรักและห่วงใย ท่านเป็นผู้มีพระคุณต่อเราอย่างยิ่ง ความดีของพ่อแม่ที่มีต่อลูก คือ
o  ความอดทนในการเลี้ยงดูลูกให้เติบโต
o  ความเมตตากรุณา มีความรักความห่วงใยลูก
o  ความรับผิดชอบ ส่งเสียให้การศึกษาเล่าเรียน
o  ความเสียสละ ยอมเหน็ดเหนื่อยเพื่อให้ลูกมีความสุข
ดังนั้น เราเป็นลูก จึงต้องทำความดี เพื่อตอบแทนพระคุณของพ่อแม่ คือ
(1)   เชื่อฟัง และทำตามคำสั่งสอนของพ่อแม่ ไม่ดื้อดึง และไม่เอาแต่ใจตัวเอง
(2)   รักและเคารพพ่อแม่ โดยการกราบไหว้ก่อนไปโรงเรียน และกลับจากโรงเรียนทุกวัน
(3)   กตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ โดยตั้งใจเรียนหนังสือ ประพฤติตนเป็นคนดี ช่วยเหลือทำงานในบ้านเท่าที่ทำได้ และเลี้ยงดูท่านเมื่อท่านชรา

ค.     มงคล 38
มงคล หมายถึง สิ่งที่เป็นความดีงาม เมื่อนำมาปฏิบัติจะทำให้เกิดผลดี มีความสุข ความเจริญก้าวหน้าในชีวิต พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า มงคลมี 38 ประการ แต่ในระดับชั้น ป.1 ควรเรียนรู้เรื่องมลคล และฝึกปฏิบัติตน 2 ข้อ ดังนี้
1)     ทำตัวดี
ตัวเราเป็นผู้ที่ทำตนเองให้เป็นคนดี ซึ่งคนอื่นจะมาทำให้ไม่ได้ คนดี หมายถึง มีการกระทำที่ดีทั้งกาย วาจา และใจ ผลของการทำดี ย่อมทำให้มีความสุข ความเจริญ เป็นที่ยกย่อง และได้รับความไว้วางใจจากผู้อื่น การทำตัวดีมีข้อปฏิบัติดังนี้
o  ทำดีทางกาย เช่น แบ่งปันสิ่งของ ช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ลักขโมย ไม่แย่งของรักผู้อื่น ไม่แกล้ง หรือรังเกียจผู้อื่น
o  ทำดีทางวาจา เช่น พูดดี พูดเพราะ พูดความจริง ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดกล่าวร้าย หรือ ยุยง ไม่พูดเพ้อเจ้อ
o  ทำดีทางใจ เช่น คิดในสิ่งที่ดี ไม่คิดร้ายผู้อื่น ไม่คิดโลภอยากได้ของผู้อื่น ไม่คิดอิจฉาริษยา
o  ทำหน้าที่ของตนให้เหมาะสม เราเป็นเด็กต้องเคารพ และเชื้อฟังผู้ใหญ่ ตั้งใจเรียนด้วยความขยัน อดทน เป็นผู้มีระเบียบวินัยดี

2)    ว่าง่าย
เด็กที่ว่าง่าย คือ เด็กที่เชื่อคำแนะนำสั่งสอน และคำตักเตือนของพ่อแม่ ครู และ ผู้ใหญ่ที่มีความหวังดี การทำตามคำแนะนำของผู้ใหญ่ ทำให้โอกาสที่ผิดพลาดมีน้อย ตรงข้ามกับเด็กที่ว่ายาก เป็นเด็กที่ดื้อรั้น อวดดี ไม่ฟังคำแนะนำสั่งสอนของใคร ย่อมทำให้เกิดความผิดพลาดเสียหาย
ความเป็นผู้ว่าง่าย เป็นสิ่งที่ดีของผู้ฉลาด เพราะรู้จักรับฟังข้อคิดเห็น คำแนะนำคำเตือนสติจากผู้มีประสบการณ์ ทำให้เราได้รู้จักยั้งคิด ไตร่ตรอง ไม่วู่วาม และทำให้เราได้รู้จักแก้ไข และปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น การว่าง่ายสอนง่าย จึงเป็นมงคลของเราอีกข้อหนึ่ง

ง.   พุทธศาสนสุภาษิต
พุทธศาสนสุภาษิต เป็นข้อคิดสอนใจที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติเป็นภาษาบาลีสั้น ๆ แต่มีความหมาย และข้อคิดเตือนใจให้ละเว้นความชั่ว หมั่นทำความดี และฝึกจิตใจให้บริสุทธิ์ตามหลักธรรม เมื่อเราท่องจำได้ ก็ต้องรู้และเข้าใจความหมายแล้วนำไปปฏิบัติ จะเกิดผลที่ดีงามแก่ตนเองและส่วนรวม ซึ่งในระดับชั้นนี้ มีพุทธศานสุภาษิตที่ควรรู้ 2 ข้อ ดังนี้
1)     อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ
อ่านว่า อัด – ตา – หิ – อัด – ตะ – โน – นา – โถ
แปลว่า ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน
ความหมาย เราต้องรู้จักฝึกช่วยเหลือคนเองในเรื่องต่าง ๆ ให้ได้ ไม่ต้องคอยให้ผู้อื่นทำให้ทุกอย่าง เช่น การแปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว สวมเสื้อผ้า การกินอาหาร การอ่านเขียนหนังสือ เพราะเราเติบโตขึ้นทุกวัน จะคอยให้พ่อแม่ หรือผู้อื่นช่วยเหลือทุกอย่างตลอดเวลาย่อมเป็นไปไม่ได้ เด็กที่รู้จักช่วยตัวเองได้ตั้งแต่เล็ก จะเป็นผู้ที่กล้าคิด กล้าพูด และกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม มีความมั่นใจ กล้าตัดสินใจได้ พร้อมทั้งรู้จักแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกวิธี เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่
ดังนั้นการพึ่งพา และช่วยเหลือคนเองได้ จึงเป็นสิ่งที่ต้องต้องฝึกปฏิบัติจากสิ่งง่ายจนถึงสิ่งยาก ทำให้เรารู้สึกภูมิใจ และไม่ทำให้ผู้อื่นต้องลำบากใจด้วย
2)    มาตา มิตฺตํ สเก ฆเร
อ่านว่า มา – ตา – มิด – ตัว – สะ – เก – คะ – เร
แปลว่า มารดาเป็นมิตรในเรือนตน
ความหมาย มารดาหรือผู้ที่เป็นแม่ ซึ่งให้กำเนิด และเลี้ยงดูลูกด้วยความรัก มีความห่วงใยลูกอยู่ตลอดเวลา เมื่อลูกเกิดใหม่เป็นทารก แม่ให้ลูกดื่มนำ ป้อนข้าวป้อนน้ำ แม่ฝึกให้ลูกพูด ฝึกเดิน และให้ลูกช่วยเหลือตัวเองจนทำได้ เมื่อโตขึ้น แม่ส่งลูกไปศึกษาหาความรู้ที่โรงเรียน ให้คำปรึกษาแก่ลูก เปรียบเสมือนเป็นเพื่อนของลูกที่อยู่ในบ้าน
เราจะต้องระลึกถึงพระคุณของแม่ เชื่อฟังคำอบรมสั่งสอนของท่าน ไม่ทำให้ท่านผิดหวัง และเสียใจในความประพฤติของเรา

จ.     เรื่องน่ารู้จากพระไตรปิฎก
พระไตรปิฎก เป็นหนังสือตำราที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่ได้รวบรวมบันทึกคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า โดยจัดเป็นหมวดหมู่
เรื่องน่ารู้จากพระไตรปิฎก เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ ให้ข้อคิดที่ดีของพระพุทธศาสนา สามารถนำเป็นแนวทางปฏิบัติตนได้ ซึ่งมีหลายเรื่องที่น่าสนใจควรแก่การศึกษา เรื่องที่น่ารู้ในระดับชั้นนี้ คือ

พระสารีบุตรโปรดมารดา
พระสารีบุตร มีชื่อเดิมว่า อุปติสสะ (อ่านว่า อุ – ปะ – ติด – สะ) มารดาของท่านชื่อนางสารี จึงได้ชื่อเมื่อบวชเป็นพระสงฆ์ว่า พระสารีบุตร ท่านเป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า พระสารีบุตรมีพี่น้อง 6 คน แต่นางสารีไม่ศรัทธา และไม่นับถือพระพุทธเจ้า
ต่อมา พระสารีบุตร ตรวจดูอายุสังขารของตน จะมีอายุอีกเพียง 7 วัน จึงระลึกถึงโยมมารดา คิดว่าจะไปนิพพานที่บ้าน จึงกราบลาพระพุทธเข้ากลับไปบ้าน ท่านได้ชี้แจงแสดงธรรม โปรดมารดา จนมารดายอมรับนับถือพระพุทธศาสนา แล้วพระสารีบุตรจึงนิพพาน
เรื่องนี้เป็นแบบอย่างที่ดี ที่พระสารีบุตรได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อมารดา ท่านได้ตอบแทนพระคุณของมารดา โดยชี้ทางอันประเสริฐ เพื่อให้มารดาพ้นจากการหลงผิด
ความหมายของคำศัพท์จากเรื่องนี้
1)     อัครสาวก : สาวกผู้เป็นเลิศ หรือ สาวกที่ยอดเยี่ยม
2)     ศรัทธา    : ความเชื่อ , การยอมรับนับถือ
3)     สังขาร   : ร่างกาย
4)     นิพพาน  : ตาย

     5.  หน้าที่ชาวพุทธ
ชาวพุทธ หมายถึง ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธด้วยความเลื่อมใส่ ชาวพุทธที่ดีนับถือพระรัตนตรัย และทำตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วยังมีหน้าที่ต่อพระพุทธศาสนาอีกหลายด้านที่ต้องปฏิบัติตามวัย คือ
ก.     รู้อานิสงส์ของการสวดมนต์
อานิสงส์ หมายถึง ประโยชน์ของการทำความดี หรือผลแห่งบุญกุศล
การสวดมนต์ หมายถึง การกล่าวสรรเสริญบูชาคุณพระรัตนตรัย จะใช้คู่กับคำว่า ไฟว้พระ เรียกว่า สวดมนต์ไหว้พระ ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ ได้รับการฝึกสวดมนต์ตั้งแต่ยังเล็ก ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน จึงควรรู้ถึงอานิสงส์ หรือประโยชน์ของการสวดมนต์ ดังนี้
1)     เป็นการสวดบูชาคุณของพระรัตนตรัย
2)     ทำจิตใจให้สงบ ไม่ฟุ้งซ่าน และจิตเกิดสมาธิ
3)     เกิดสติปัญญา และรู้คิดจากการสวดมนต์แปล ที่เป็นจุดประสงค์ของบทสวดมนต์
4)     การตั้งใจสวดมนต์ ทำให้มีวินัยในตนเอง
5)     ได้ฝึกปฏิบัติศาสนพิธีที่เป็นพื้นฐานตั้งแต่ยังเป็นเด็ก
การสวดมนต์ไหว้พระ เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม เวลาที่สวดมนต์นิยมปฏิบัติก่อนเข้าห้องเรียนตอนเช้า และก่อนนอนตอนกลางคืนทุกวัน ภาษาที่ใช้สวดเป็นภาษาบาลี และมีแบบที่แปลเป็นภาษาไทยด้วย
ข.      การปฏิบัติตนเมื่อไปวัด
วัด คือ สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพุทธ เช่น ทำบุญ ฟังเทศก์ เวียนเทียน รักษาศีล ปฏิบัติธรรม งานบวช งานศพ และเป็นสถานที่อยู่พักอาศัยของสงฆ์ และสามเณรด้วย
ประโยชน์ของวัด
1)     เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ของศาสนาพุทธ
2)     เป็นที่พักอาศัยของพระสงฆ์และสามเณร
3)     เป็นที่มาของวัฒนธรรม และประเพณีไทย
4)     เป็นศูนย์รวมของศิลปกรรมต่าง ๆ เช่น การก่อสร้าง การปั้น การแกะสลัก การวาดภาพฝาผนัง
5)     เป็นศูนย์รวมของสังคม เมื่อมาทำพิธีทางศาสนา เช่น การทำบุญ การบวชนาค การเผาศพ
6)     วัดให้ความสงบร่มเย็น เมื่อเข้าไปในวัดจะรู้สึกจิตใจสงบ ดังนั้น วัดจึงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ต้องการความสงบ สะอาด สำรวม และเรียบร้อย
เมื่อเราไปวัด ควรปฏิบัติ ดังนี้
1)     แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย ไม่ใช้สีฉูดฉาด และไม่ควรใส่เครื่องประดับ
2)     มีมารยาท สำรวมกิริยา วาจา ไม่คึกคะนอง ไม่พูดเสียงดัง
3)     ช่วยรักษาความสะอาดในวัด ทิ้งขยะลงในที่รองรับทุกครั้ง
4)     ถอดรองเท้าก่อนเข้าโบสถ์ วิหาร หรือ กุฏิ
5)     ไม่ขีดเขียนตามฝาผนัง กำแพง หรือตามพื้นของวัด
6)     ไม่เด็ดดอกไม้ หรือหักกิ่งไม้เล่น และไม่ทำลายสิ่งของในวัด
7)     ไม่ควรนำเด็กอ่อนไปวัด และเด็กที่ซุกซนมาก ชอบทำลายของหรือรังแกผู้อื่น ต้องมีผู้ดูแลใกล้ชิด

ค.     มารยาทชาวพุทธ
มารยาท หมายถึง การมีกริยาท่าทาง และการพูดจาต่อบุคคลอื่น โดยแสดงด้วยความสุภาพเรียบร้อย
มารยาทชาวพุทธ เป็นการแสดงกิริยาวาจาที่สุภาพเรียบร้อย อ่อนโยน ของบุคคลที่นับถือศาสนาพุทธ ปฏิบัติต่อบุคคลอื่น ซึ่งควรทำอย่างถูกต้อง และเหมาะสม จนเป็นสิสัยที่ดีติดตัวตลอดไป มารยาทเป็นเรื่องที่ต้องฝึกให้ถูกต้องและเหมาะสม เพราะต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เรื่องที่ควรเรียนรู้ และฝึกปฏิบัติ ได้แก่
1)     การประนมมือ
การประนมมือ เป็นการแสดงความเคารพในขณะที่เราสวดมนต์หรือฟังเทศน์ หรือ สนทนากับพระสงฆ์ และเป็นท่าเตรียมของการกราบและการไหว้ด้วย
วิธีการ ให้ยกมือทั้งสองประกบกันไว้ระหว่างอก ให้ปลายมือตั้งขึ้น นิ้วมือทั้งหมดชิดกัน ข้อศอกทั้งสองข้างแนบลำตัว
2)     การไหว้
การไหว้ แสดงถึงการเคารพแบบไทยอย่างอ่อนน้อมต่อผู้มีพระคุณ ผู้ที่มีอายุมากกว่าเรา  รวมทั้งผูที่รู้จักกัน จะอยู่ในท่ายืนไหว้ หรือ นั่งไหว้ก็ได้
o  การไหว้พระสงฆ์ ประนมมือให้หัวแม่มือจรดระหว่างคิ้ว ก้มศีรษะ ผู้ชายยืนขาชิด ค้อมตัวลง ผู้หญิงให้ก้าวขาป้างหน้าประมาณ 1 ก้าว แล้วย่อตัวก้มลงไหว้
o  การไว้ผู้ที่มีอายุมากกว่าตน ไหว้โดยประนมมือ แล้วยกมือขึ้นให้หัวแม่มือจรดปลายคาง ปลายนิ้วชี้จรดที่จมูก ค้อมตัวลงเล็กน้อย
o  การไหว้ผู้ที่มีอายุใกล้เคียงกัน ไหว้โดยประนมมืออยู่ระหว่างอก แล้วก้มศีรษะลงเล็กน้อย
ลักษณะของท่าทางการไหว้ที่กล่าวไปนั้นเป็นท่ายืนไหว้ ถ้าเรานั่งไหว้ให้ประนมมือ แล้วก้มศีรษะลงโดยยกระดับการก้มศีรษะเหมือนกับที่กล่าวไปในท่ายืน โดยผู้ที่อาวุโสมาก เราก้มศีรษะลงมาก

    6. ชาวพุทธตัวอย่าง
ชาวพุทธตัวอย่าง หมายถึง บุคคลที่มีความดีงาม น่าเคารพบูชา เราศึกษาประวัติและคุณงามความดีของบุคคลที่เป็นชาวพุทธตัวอย่าง เพื่อนำแนวปฏิบัติมาเป็นข้อคิด และเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตของเราให้มีความสุข ความเจริญ ในระดับชั้นนี้ควรศึกษาเรื่องชาวพุทธตัวอย่าง ดังนี้
ก.      พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงเป็นในหลวงของเรา ทรงพระราชสมภพ (เกิด) เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 สมเด็จพระบรมราชชนก (บิดา) คือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระบรมราชชนนี (มารดา) คือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช (พี่ชาย) 1 พระองค์ กคือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และมีพระเชษฐภคินี (พี่สาว) 1 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลป์ยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชศรัทธาอันมั่นคงในพระพุทธศาสนา ได้เสด็จออกผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และ ประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเวลา 15 วัน ทรงประกอบพระราชกรณียกิจมากมาย เพื่อส่งเสริมบำรุงพระพุทธศาสนา เช่น เสด็จพระราชดำเนิน บำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ทรงถวายผ้าพระกฐินตามวัดต่าง ๆ ทรงมีพระราชจริยาวัตรที่สอดคล้องกับพุทธปณิธาน คือ ทรงศึกษาธรรม ทรงปฏิบัติธรรม ทรงเผยแผ่ และทรงปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา
พระราชจริยาวัตรที่โดดเด่น ประทับใจแก่คนทั้งหลายในโลก คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีกตัญญูกตเวที ต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเป็นอย่างยิ่ง ทรงเชื่อฟังและปฏิบัติตามพระราโชวาทของสมเด็จพระบรมราชชนนี ทำให้พระองค์ทรงมีพระราชอัธยาศัยที่งดงาม อ่อนโยน และเอื้ออาทรต่อพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า
เมื่อสมเด็จพระบรมราชชะนีทรงประชวร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปเยี่ยม และปรนนิบัติอย่างสม่ำเสมอ จนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล อุทิศถวายแด่สมเด็พระบรมราชชนนีอย่างสมพระเกียรติและต่อเนื่อง
พระราชจริยาวัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องความกตัญญูกตเวทีนี้ เป็นแบบอย่างที่มีงามแก่ชาวไทยทุกคน ในการนำไปปฏิบัติหนน้าที่ของลูกที่ดีต่อพ่อแม่

ข.      เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม)
เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม) เป็นบุตรคนโตของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อยกลาง)  เกิดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2385 เมื่อบิดาจึงแก่อสัญกรรมใน พ.ศ. 2410 จึงได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นพระยานครศรีธรรมราช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชต่อจากบิดา
แต่ก่อนได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นเจ้าเมือง ได้บวช และพำนักอยู่ที่วัดพิชัยญาติการาม ท่านเป็นผู้มีศรัทธาในพระรัตนตรัย สวดมนต์ไหว้พระอยู่เป็นประจำ คืนหนึ่งท่านกำลังสวดมนต์ไหว้พระอยู่ในกุฏิ มีคนร้ายลอบยิงปืนเข้าไปตรงช่องฝาของกุฏิในขณะที่ท่านกำลังก้มกราบพระ ทำให้กระสุนปืนข้ามศีรษะไป จึงรอดตาย และไม่ได้รับอันตรายใด ๆ
เจ้าพระยาสุธรรมมนตรีรอดพ้นตากการถูกยิง และได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ก็เพราะอานิสงส์ที่ท่านได้สวดมนต์ไหว้พระ และทำความดีในการรับราชการในลำดับต่อมา

     7. การบริหารจิตและการเจริญปัญญา
ก.      ความหมาย
การบริหารจิต หมายถึง การฝึกฝน และควบคุมจิตใจของตนเอง ให้รู้จักคิดในทางที่ดี ถูกต้อง การบริหารจิตที่ให้ผลดีคือ การฝึกสมาธิ โดยต้องมีสติและสัมปชัญญะคอยควบคุมจิตใจ
การเจริญปัญญา หมายถึง การมีจิตใจที่เข้มแข็ง อดทน มีเหตุผลในการแยกสิ่งที่ดี และสิ่งไม่ดีได้ถูกต้อง และเลือกทำในสิ่งที่ดี จะให้ประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม
การบริหารจิตและเจริญปัญญา ต้องรู้จักการฝึกสติอย่างง่ายตามวัยก่อน เมื่อฝึกสติพอได้แล้ว ก็จะทำให้ใจเป็นสมาธิด้วย

ข.     ประโยชน์ของการฝึกสติ
สติ หมายถึง ความระลึกได้ ต้องรู้จักคิดก่อนพูด และก่อนทำว่า เราจะพูดอะไร จะทำอะไรก่อนหลัง สิ่งเหล่านี้ต้องหมั่นฝึกฝน โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เป็นแนวทางในการฝึกสติ ดังนั้นการฝึกสติให้ประโยชน์แก่เรา ดังนี้
1)     จำเรื่องที่ฟังอย่างเข้าใจ และซักถามได้ตรงเรื่อง
2)     พูดตอบคำถามอย่างชัดเจนถูกต้อง
3)     อ่านหนังสือและเรื่องต่าง ๆ ได้เข้าใจ ไม่สับสน
4)     ทำงานได้ถูกต้อง ตามขั้นตอน
5)     สติ ทำให้รู้คิดอย่างไตร่ตรอง และมีเหตุผล ทำให้ผิดพลาดน้อย

ค.      กิจกรรมที่เป็นแนวทางฝึกสติ
การฝึกสติ เป็นการฝึกจิตใจให้จดจ่ออยู่กับสิ่งที่กำลังกระทำ โดยใช้กิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้มีสติ ระลึกได้อยู่ตลอดเวลาว่าทำอะไร และเป็นพื้นฐานในการฝึกสมาธิด้วย
กิจกรรมที่ควรฝึกในระดับขั้นนี้ ได้แก่
1)     การสวดมนต์ไหว้พระ และแผ่เมตตา
เราเป็นเด็ก เรานับถือศาสนาพุทธ จึงควรสวดมนต์ และแผ่เมตตาทุกวัน เพื่อบูชาคุณพระรัตนตรัย และฝึกจิตในให้สงบ เราสวดมนต์ไหว้พระในกิจกรรมตอนเช้าก่อนเข้าเรียนทุกวัน และก่อนเข้านอน เราก็สวดมนต์ไหว้พระและแผ่เมตตาด้วย นอกจากนี้ในเวลาอื่นเราก็ยังสวดมนต์ ไหว้พระได้อีกหลายโอกาส เช่น การไปทำบุญที่วัด การเข้าห้องประชุม
เมื่อสวดมนต์แล้ว เราก็จะมีการแผ่เมตตาให้แก่ผู้อื่น เพื่อช่วยลดความเห็นแก่ตัว และแบ่งปันความดีให้แก่คนที่เรารัก รวมทั้งคนทั่วไปด้วย การสวดมนต์ไหว้พระและแผ่เมตตา เป็นการฝึกจิตใจให้จดจ่อในคำสวดมนต์ อย่างต่อเนื่อง จึงต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา

2)     การฟังเพลง และร้องเพลงอย่างมีสติ
การฟังเพลงและการร้องเพลง เราต้องจำเนื้อร้อง ทำนองเพลง และเข้าใจความหมายของเนื้อเพลงได้ โดยการฝึกสติให้ใจจดจ่อในการฟัง และการฝึกร้อง จะช่วยให้เราปฏิบัติกิจกรรมการร้องเพลงได้ดี มีความสนุกสนาน เพราะการมีสติช่วยให้จดจำเนื้อร้อง ทำนองเพลงได้รวดเร็ว และถูกต้อง

     8. วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นวันที่มีปรากฏการณ์สำคัญเป็นพิเศษ ตั้งแต่สมัยพุทธกาล การเรียนรู้วันสำคัญ เพื่อให้เราเข้าใจที่มาและการปฏิบัติกิจกรรมให้เหมาะสม ถูกต้อง เราควรรู้เรื่องวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาในเบื้องต้น ดังนี้
1)     วันวิสาขบูชา
วันวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ความสำคัญของวันนี้ คือ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ (เกิด) ตรัสรู้ (รู้แจ้ง) ปรินิพพาน (ตาย) เป็นเหตุการณ์ที่ตรงกับวัน และเดือนเดียวกัน ต่างกันที่ปีซึ่งไม่ตรงกัน
2)     วันอาสาฬหบูชา
วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ความสำคัญของวันนี้ คือ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา (หมายถึง การสั่งสอนครั้งแรก) แก่ปัญจวคีย์ และมีนักบวชชื่อ โกณทัญญะ เข้าใจหลักธรรมคำสอน ได้ขอบวชเป็นพระสงฆ์องค์แรกของพระพุทธศาสนา
3)     วันมาฆบูชา
วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันที่มีพระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป เดินทางมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยไม่ได้นัดหมาย ซึ่งพระสงฆ์เหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ และเป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ทั้งหมด และพระพุทธเข้าทรงแสดงธรรมสำคัญ ซึ่งเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เรียกว่า โอวาท 3 คือ เว้นการทำชั่ว ให้ทำความดี ให้มีจิตใจบริสุทธิ์


สิ่งที่ควรทำเมื่อถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ได้แก่
o  ทำบุญตักบาตรในตอนเข้า
o  ฟังธรรม รักษาศีล
o  เวียนเทียนที่วัดตอนค่ำ
o  ทำสมาธิให้จิตใจสงบ
o  ตั้งใจทำความดี ทั้งกาย วาจา ใจ

     9. การปฏิบัติตนต่อศาสนวัตถุ และศาสนสถาน
ก.      ศาสนวัตถุ
ศาสนวัตถุ หมายถึง สิ่งของที่ยกไปมาได้ เป็นวัตถุทางพระพุทธศาสนาที่ควรเคารพบูชา เช่น พระพุทธรูป พระเครื่อง

ข.     ศาสนสถาน
ศาสนสถาน หมายถึง สิ่งก่อสร้าง เป็นสถานที่ที่เกี่ยวข้องทางพระพุทธศาสนา คือ วัดวาอารามต่าง ๆ ซึ่งมีสิ่งก่อสร้างหลายอย่าง และมีความหมายต่างกัน เช่น โบสถ์ วิหาร เจดีย์ กุฏิ ศาลา


ข้อควรปฏิบัติต่อศาสนสถาน คือ เมื่อเราไปวัด ต้องแต่งกายสุภาพ แสดงกิริยาท่าทางเรียบเร้อย ไม่พูดตะโกน เอะอะ ไม่พูดคำหยาบคาย ไม่ทำสิ่งของเสียหาย ไม่สวมหมวก มีจิตศรัทธาในการบริจาค เพื่อมีส่วนช่วยบำรุงดูแลด้วย ซึ่งได้กล่าวไว้เป็นส่วนใหญ่แล้วในเรื่องหน้าที่ชาวพุทธ



Download (เนื้อหา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Blog เพื่อนการศึกษา

***Blog เพื่อนการศึกษา*** สรุปเนื้อหาเข้า ป.1 - ม.6 สรุปเนื้อหา - วิชาสังคมศึกษา ป.3 (สรุปตามสาระการเรียนรู้) แบบทดสอบประจำหน่วยการเรียนรู...