วันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

คู่มือเตรียมสอบ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ป.1 - 2 - 3 ___ สังคม ป.3 - บทที่ 7 ข่าว เหตุการณ์ และวันสำคัญ (เนื้อหา)

คู่มือเตรียมสอบ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ป.1 - 2 - 3 ___ สังคม ป.3 - บทที่ 7 ข่าว เหตุการณ์ และวันสำคัญ (เนื้อหา)


Download - เนื้อหา 

บทที่ 7 ข่าว เหตุการณ์ และวันสำคัญ



     1.      ความสำคัญของข่าวและการแจ้งข่าว
ข่าว คือ การบอกเล่า การแจ้งเรื่องที่เป็นเหตุการณ์สำคัญ ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้คน และสังคมเป็นอย่างมาก จึงต้องมีการแจ้งข่าวให้รับทราบเรื่องราวโดยทั่วกัน ทั้งที่เป็นเรื่องข่าวดี และข่าวร้าย เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
เรื่องของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป ไม่มีผลต่อผู้อื่น เป็นเหตุการณ์เฉพาะตัวของบุคคล แต่ถ้าเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญ ต้องมีการส่งข่าวให้รับทราบทั่วกัน เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ โดยมีกลุ่มบุคคลที่ทำหน้าที่รวบรวมข่าวสารข้อมูล แล้วส่งข่าวที่ได้มาให้ประชาชนรับรู้ เราเรียกว่า ผู้สื่อข่าว ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อสารมวลชน โดยส่งข่าวสารข้อมูลผ่านสื่อต่าง ๆ คือ หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์
ประโยชน์และสิ่งที่ได้ในการรับทราบข่าว คือ ทำให้มีความรู้ที่ทันต่อเหตุการณ์ รู้ความเจริญก้าวหน้าของโลกที่ทันสมัย รู้ระวังและป้องกันภัยต่าง ๆ ที่เกิดจากคน หรือธรรมชาติ ที่สำคัญคือ การรู้คิดและเข้าใจจากเหตุการณ์ของข่าวที่มีว่าเกิดจากสาเหตุใด มีผลอย่างไร มีวิธีแก้ไขปรับปรุงในสิ่งที่ผิดพลาด มีโทษอย่างไร รวมทั้งวิธีรักษาสิ่งที่ดีงาม มีคุณค่าให้คงอยู่ด้วยวิธีใด

     2.      ประเภทของข่าว
ข่าวที่เราได้รับทราบในแต่ละวันมีหลายประเภท บางข่าวเป็นเรื่องสำคัญที่ควรสนใจ บางเรื่องก็ไม่สำคัญ เราควรเลือกรับข้อมูลและข่าวที่มีประโยชน์ ให้ความรู้และความคิดแก่เรา ข่าวบางเรื่องต้องพิจารณาว่าเป็นความจริง หรือเป็นเพียงการโฆษณา ประเภทของข่าว ได้แก่
1)     ข่าวในพระราชสำนัก เป็นข่าวพระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระเอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ บางครั้งเป็นข่าวพระราชพิธีที่สำคัญของประเทศชาติ บ้านเมือง อาจจะมีการถ่ายทอดสดทางวิทยุ และโทรทัศน์ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบทั่วกัน
2)     ข่าวราชการ เป็นข่าวของทางรัฐบาล ที่แจ้งเรื่องสำคัญให้ประชาชนได้รับทราบ
3)     ข่าวการเมือง เป็นข่าวเกี่ยวกับการปกครอง หรือกฎหมาย เช่น การเลือกตั้งผู้แทนราษฎร
4)     ข่าวเศรษฐกิจ เป็นข่าวเกี่ยวกับการทำมาหากินด้านต่าง ๆ ที่เป็นเรื่องการเงิน การธนาคาร รายได้จากอาชีพ
5)     ข่าวกีฬา เป็นข่าวเกี่ยวกับวงการกีฬาประเภทต่าง ๆ การจัดการแข่งขันกีฬาที่สำคัญของโลก เช่น ข่าวกีฬาโอลิมปิก ข่าวกีฬาเอชียนเกมส์ ข่าวฟุตบอลโลก
6)     ข่าวต่างประเทศ เป็นข่าวสถานการณ์ของประเทศอื่นรอบโลกที่มีทั้งข่าวดีและข่าวที่ไม่ดี
7)     ข่าวสารคดี เป็นข่าวเกี่ยวกับความรู้ โดยทั่วไปในแต่ละสาขาวิชา เช่น ข่าวการเกษตร ข่าวสิ่งแวดล้อม
8)     ข่าวการศึกษา เป็นข่าวเกี่ยวกับการเรียนการสอน ความก้าวหน้าด้านการศึกษา
9)     ข่าวทั่วไป เป็นข่าวเหตุการณ์ประจำวันที่เกิดขึ้น เช่น ข่าวอุบัติเหตุรุนแรง ข่าวโรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้น

     3.     การรวบรวมข่าว
จุดมุ่งหมายของการรวบรวมข่าว เพื่อเป็นการเตือนใจการทรงจำข่าวที่มีความหมายดี เก็บเป็นที่ระลึก เช่น งานพระราชพิธีที่สำคัญ ข่าวสารข้อมูลที่เป็นความรู้ การแนะนำสิ่งที่ดี เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ อาชีพ ความเป็นอยู่ ซึ่งข่าวที่เราสามารถเก็บรวบรวมได้ คือข่าวจากหนังสือพิมพ์ โดยการตัดข่าวที่เป็นภาพและตัวหนังสือ ติดทำสมุดรวบรวมข่าว บันทึกวัน เดือน ปี ของข่าวนั้น ซึ่งข่าวที่เก็บรวบรวม ควรเป็นข่าวสำคัญ หรือข่าวที่ให้ความรู้ บางข่าวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ หรือเป็นข่าวเฉพาะบุคคล ไม่ต้องรวบรวม
ในปัจจุบัน มีอุปกรณ์ที่ทันสมัยในการบันทึกข่าวทั้งภาพและเสียง เก็บเป็นแผ่น เรียกว่า วีดี ซึ่งต้องมีเครื่องบันทึกและเครื่องใช้แผ่นซีดีนี้ เป็นอุปกรณ์ที่มีราคาค่อนข้างสูง

     4.      วันสำคัญ
วันสำคัญ หมายถึง วันที่ระลึกถึงความสำคัญของบุคคล หรือเหตุการณ์ที่ผ่านมาในอดีต และมีกิจกรรมที่ควรปฏิบัติ เมื่อถึงวันสำคัญนั้นในรอบปี
วันสำคัญที่ควรทราบ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
1)     วันสำคัญที่เกี่ยวกับชาติ และพระมหากษัตริย์
2)     วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
3)     วันสำคัญทางประเพณี
ก.      วันสำคัญเกี่ยวกับชาติ และพระมหากษัตริย์
(1)      วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา (วันคล้ายวันเกิด) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ถือว่าเป็นวันชาติไทย และเป็นวันพ่อแห่งชาติ ด้วย
ในวันนี้สถานที่ราชการ โรงเรียน และสถานที่ทำการต่าง ๆ หยุด 1วัน มีการประดับธงชาติ และโคมไฟตามสถานที่ต่าง ๆ อย่างสวยงาม เพื่อถวายความจงรักภักดี น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และถวายพระพร แด่พระองค์ท่านด้วย สิ่งที่เราสามารถทำได้ เช่น เราบำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชน ทำความสะอาดที่สาธารณะ หรือปลูกต้นไม้ เราใช้ดอกพุทธรักษาเป็นสัญลักษณ์ของวันพ่อด้วย
(2)      วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตรงกับวันที่ 12 สิงหาคม เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา (วันคล้ายวันเกิด) สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถือว่าเป็นวันแม่แห่งชาติด้วย
เมื่อถึงวันนี้ สถานที่ราชการและโรงเรียนหยุด 1 วัน มีการประดับธงชาติและโคมไฟตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อถวายพระพร และถวายความจงรักภักดี เป็นการแสดงความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน เรามีการบำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชน และตั้งใจกระทำในสิ่งที่ดีงาม เราใช้ดอกมะลิเป็นสัญลักษณ์ของวันแม่
(3)      วันปิยมหาราช ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคต (วันตาย) ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี
ประชาชนต่างถวายพระราชสมัญญานามแด่พระองค์ว่า พระปิยมหาราช แปลว่า พระเจ้าแผ่นดินอันเป็นที่รักของพระชาชน เพราะพระองค์มีพระราชกรณียกิจ (งาน) ที่เป็นประโยชน์อย่างมากมาย แก่ประเทศชาติ และประชาชน ทำให้บ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรือง อยู่เย็นเป็นสุขอย่างมาก ได้แก่ โปรดเกล้าฯ ให้เลิกทาส ทรงตั้งโรงเรียน โรงพยาบาล ปรับปรุงการปกครองให้ทันสมัย เริ่มให้มีการไฟฟ้า การประปา การรถไฟ ฯลฯ
เมื่อถึงวันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี ประชาชน ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ทุกหมู่เหล่า ต่างไปถวายพวงมาลาที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์


ข.     วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
(1)      วันวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เป็นวันคล้ายวันประสูติ (เกิด)  ตรัสรู้ (รู้แจ้ง) และปรินิพพาน (ตาย) ของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นพระศาสดาของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นวันที่ตรงกันอย่างมหัศจรรย์ คือ วันเพ็ญกลางเดือน 6 ต่างกันที่ปี
เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พุทธศาสนิกชนต่างน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธองค์ โดยการตักบาตร ฟังเทศน์ เวียนเทียน ทำจิตใจให้สงบ มีสมาธิ ละเลิกสิ่งที่ไม่ดีทั้งปวง และตั้งใจทำความดี
โรงเรียนและสถานที่ต่าง ๆ หยุด 1 วัน เพื่อห้พุทธศาสนิกชนได้ปฏิบัติ และร่วมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาดังกล่าว
(2)      วันอาสาฬหบูชา (อ่านว่า อา – สาน – หะ – บู – ชา) ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 มีความสำคัญ คือ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา (สั่งสอนครั้งแรก) แก่ปัญจวคคีย์ (นักบวช 5 รูป) ทำให้มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นองค์แรก คือ พระโกณฑัญญะ และมีพระรัตนตรัยครบองค์สาม คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ในวันนี้โรงเรียนและสถานที่ต่าง ๆ หยุด 1 วัน เพราะเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ เราไปทำบุญ ตักบาตร ฟังเทศน์ เวียนเทียน เพื่อให้จิตใจสงบ เป็นการทำความดี เว้นทำชั่ว และฝึกทำใจให้สงบ บริสุทธิ์
(3)      วันเข้าพรรษา ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 มีความสำคัญ คือ เป็นวันที่พระสงฆ์รับว่า จะอยู่ประจำที่วัดเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อให้พระสงฆ์ศึกษา และปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างถ่องแท้ และนำมาสั่งสอนประชาชนอย่างถูกต้อง นับเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนา นอกจากนี้เพื่อมิให้พระสงฆ์ต้องเดินทางไปพักแรมที่อื่นในฤดูฝน (พรรษา แปลว่า ฤดูฝน) เพราะ ลำบาง ไม่สะดวก อาจเหยียบย่ำข้าวในหรือ หรือสัตว์ตัวเล็ก ให้เสียหาย หรือตัวพระสงฆ์เองอาจะอาพาธได้ (ไม่สบาย)
ก่อนเข้าพรรษา นิยมมีการบวชนาคจนเป็นประเพณี และประเพณีแห่เทียนพรรษาถวายวัด เมื่อถึงวันนี้โรงเรียนหยุด 1 วัน เพื่อให้เราไปทำบุญตักบาตร และถวายผ้าอาบน้ำฝน แด่พระสงฆ์
(4)      วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่มีเหตุการณ์มหัศจรรย์ 4 ประการเกิดขึ้น คือ
-          มีพระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
-          พระสงฆ์เหล่านั้นเป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้เอง
-          พระสงฆ์เหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ผู้รู้แจ้งทั้งสิ้น
-          เป็นวันที่มีพระจันทร์เต็มดวง และพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เรียกว่า โอวาทปาฏิโมก มี 3 ข้อ ที่สรุปเป็นข้อสำคัญ คือ เว้นการทำชั่ว หมั่นทำความดี และมีจิตใจที่สงบและบริสุทธิ์
ในวันมาฆบูชา ทางราชการและโรงเรียนหยุด 1 วัน เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ไปทำบุญ ตักบาตร ฟังเทศน์ เวียนเทียน รักษาศีล และฝึกสมาธิให้จิตใจสงบ
(5)      วันอัฏฐมีบูชา ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 ถัดจากวันวิสาขบูชา 7 วัน มีความสำคัญ คือ เป็นวันคล้ายวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ (ร่างกาย) ของพระพุทธเจ้า กิจกรรมที่นิยมปฏิบัติในวันนี้ ได้แก่ ทำบุญ ตักบาตร ฟังเทศน์ รักษาศีล

ค.     วันสำคัญทางประเพณีและทางสังคม
(1)      วันลอยกระทง ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งน้ำในแม่น้ำลำคลองจะเต็มฝั่ง ท้องฟ้ามักจะแจ่มใสเพราะหมดฤดูฝนแล้ว เมื่อถึงวันนี้ประชาชนคนไทยนิยมนำกระทงที่ประดิษฐ์อย่างสวยงามด้วยวัสดุธรรมชาติ มาลอยตามลำน้ำในยามค่ำคืน เพื่อเป็นการบูชา และขอขมาต่อพระแม่คงคา ซึ่งแสดงความเคารพและระลึกถึงพระคุณของแหล่งน้ำที่ให้ประโยชน์แก่ชีวิตมากมาย
การลอยกระทง ถือเป็นประเพณีไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และนิยมปฏิบัติต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
(2)      วันขึ้นปีใหม่ ตรงกับวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี เป็นวันที่เปลี่ยนพุทธศักราช (พ.ศ.) ใหม่ ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามสากลของโลก
เมื่อถึงวันปีใหม่เราทำบุญตักบาตร ตั้งใจทำความดี เรานิยมส่งบัตรอวยพร (ส.ค.ส.)  และให้ของขวัญ รวมทั้งนิยมมีงานรื่นเริงด้วย การที่เวลาเปลี่ยนไปทุกวัน เราเติบโตขึ้นจึงควรคิดว่า เวลากลับคืนมาไม่ได้ เราต้องหมั่นทำความดีอยู่เสมอ และไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยไร้ประโยชน์
(3)      วันสงกรานต์ ตรงกับวันที่ 13 เมษายน ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย ซึ่งจะมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย เช่น ทำบุญ เลี้ยงพระ สรงน้ำพระพุทธรูป มีการละเล่นแบบไทยตามชุมชน และมีการละเล่นสาดน้ำกัน ผู้ที่อยู่ห่างไกลบ้านเกิด ก็จะเดินทางกลับไปกราบไหว้ นำของฝากไปให้พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ต้องท้องถิ่นของตน
ทางราชการและสถานที่ทำงานหยุด 3 วัน คือ ตั้งแต่วันที่ 13 – 15 เมษายน
(4)      วันเด็ก ตรงกับเสาร์สัปดาห์ที่สองของเดือนมกราคม วันเด็กจัดขึ้นเพื่อให้เด็กทราบถึงหน้าที่และความสำคัญของตัวเด็กเอง รวมทั้งให้รู้จักความรับผิดชอบที่ตัวเองจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต
เราควรระลึกถึงหน้าที่โดยตรงของเรา คือ การศึกษาเรียนรู้ ฝึกฝนตัวเองให้มีคุณภาพในการทำงาน ทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อครอบครัวและสังคม รวมทั้งสนใจต่อคำขวัญที่ผู้ใหญ่มอบให้
(5)      วันสิ่งแวดล้อมโลก ตรงกับวันที่ 5 มิถุนายน เป็นวันที่กำหนดให้ตรงกันทั่วโลก เพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในโลก ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดผลเสียที่กระทบต่อชีวิต และความเป็นอยู่ของมนุษย์ที่มีปัญหาตามมาหลายด้าน ดังนั้นมนุษย์ทุกคนต้องช่วยกันดูแลรักษา และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่ และให้ประโยชน์ต่อทุกคน
(6)      วันงดสูบบุหรี่โลก ตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคม เป็นวันที่กำหนดเพื่อให้ชาวโลกทุกคนเห็นและเข้าใจถึงพิษภัยของบุหรี่ ที่มีอันตรายต่อสุขภาพเป็นอย่างยิ่ง เป็นบ่อเกิดของโรคร้ายแรงหลายโรค เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็งปอด คนที่ไม่สูบบุหรี่แต่อยู่ใกล้ชิดผู้ที่สูบบุหรี่ก็มักจะเป็นโรคร้ายเช่นกัน จึงมีการรณรงค์ให้งดหรือหาทางลดเลิกในการสูบบุหรี่ เราเป็นเด็กต้องหลีกเลี่ยงจากควันบุหรี่ และไม่ทดลองสูบโดยเด็ดขาด



Download - เนื้อหา






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Blog เพื่อนการศึกษา

***Blog เพื่อนการศึกษา*** สรุปเนื้อหาเข้า ป.1 - ม.6 สรุปเนื้อหา - วิชาสังคมศึกษา ป.3 (สรุปตามสาระการเรียนรู้) แบบทดสอบประจำหน่วยการเรียนรู...