วันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

คู่มือเตรียมสอบ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ป.1 - 2 - 3 ___ สังคม ป.2 - บทที่ 7 ข่าว เหตุการณ์ และวันสำคัญ (เนื้อหา)

คู่มือเตรียมสอบ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ป.1 - 2 - 3 ___ สังคม ป.2 - บทที่ 7 ข่าว เหตุการณ์ และวันสำคัญ (เนื้อหา)



Download - เนื้อหา 
บทที่ 7 ข่าว เหตุการณ์ และวันสำคัญ





     1.  ข่าว เหตุการณ์
ก.   ความหมายและวิธีการบอกเล่าข่าว
ข่าว หมายถึง  การบอกเล่า หรือแจ้งเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้ผู้อื่นได้รับทราบ
เหตุการณ์ หมายถึง เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน อาจเป็นเหตุการณ์ในทางที่ดี หรือเหตุการณ์ในทางที่ไม่ดีก็ได้ เรื่องของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วไปไม่มีผลต่อผู้อื่น เรียกว่า เป็นเหตุการณ์เฉพาะตัว
แต่ถ้าเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญ เกิดผลต่อเนื่องแก่ผู้คนเป็นอย่างมาก เรียกว่า ข่าวจึงต้องมีการส่งข่าวให้รับทราบกันทั้งเรื่องที่เป็นข่าวดีและข่าวร้าย เพื่อให้ทันเหตุการณ์ด้านต่าง ๆ

วิธีการบอกเล่าข่าว เมื่อเรารับรู้ข่าวแล้วนำมาบอกเล่าให้ผู้อื่นฟัง เราต้องมีวิธีการที่เหมาะสม ดังนี้
1)     เล่าลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นจนจบให้ถูกต้อง
2)     พูดเล่าด้วยน้ำเสียงชัดเจน ไม่พูดตะกุกตะกัก
3)     ควรเล่าเรื่องที่มีประโยชน์ ไม่แต่งเติมเรื่องเอง

ข.  ประโยชน์ของการทราบข่าว
การทราบข่าว  และติดตามข่าวอยู่เสมอ ให้ประโยชน์แก่เรา ดังนี้
1)     ทำให้มีความรู้  ทันเหตุการณ์ปัจจุบัน
2)     รู้ความเจริญก้าวหน้าด้านต่าง ๆ  ของโลกที่ทันสมัย
3)     รู้จักวิธีป้องกันระวังภัยที่อาจเกิดขึ้น
4)     ทำให้เกิดความคิด ความเข้าใจจากเหตุการณ์ ของข่าวว่ามีสาเหตุมาจากสิ่งใด และจะแก้ไขอย่างไร
5)     เป็นผู้ที่สนใจข่าวสารข้อมูลและเหตุการณ์ มีทักษะในการอยู่ในสังคมอย่างผู้ฉลาด


ค.  แหล่งข่าวที่ทำให้เรารู้ข้อมูลต่าง ๆ
1)     การพบเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วยตนเอง เช่น รถชนกัน ฝนตก น้ำท่วม
2)     การรับฟังจากการบอกเล่าของผู้ที่เชื่อถือได้
3)     การฟังเสียงจากสถานีวิทยุ
4)     การดูจากโทรทัศน์
5)     การอ่านหนังสือพิมพ์รายวัน หนังสือความรู้ที่ทันสมัย

ง.      ประเภทของข่าว
1)     ข่าวในประเทศ เป็นข่าวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ หรือเป็นพิเศษ ที่เป็นเรื่องภายในประเทศ ได้แก่
o  ข่าวในพระราชสำนัก เป็นข่าวพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์
o  ข่าวการเมืองและการปกครอง
o  ข่าวเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับอาชีพ การเงิน สินค้าต่าง ๆ
2)     ข่าวต่างประเทศ เป็นเรื่องราวของประเทศอื่นรอบโลก ที่มีทั้งข่าวดี และข่าวไม่ดี
3)     ข่าวสารคดี เป็นข่าวที่ให้ความรู้โดยทั่วไป
4)     ข่าวกีฬา เป็นข่าวในวงการกีฬาประเภทต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ
5)     ข่าวทั่วไป เป็นข่าวเหตุการณ์ประจำวันที่เกิดขึ้น เช่น ข่าวอุบัติเหตุรุนแรง ข่าวโรคภัยไข้เจ็บ

     2.  วันสำคัญ
วันสำคัญ หมายถึง วันที่ระลึกถึงบุคคลที่มีคุณงามความดีต่อสังคมและประเทศ หรือเหตุการณ์ในอดีต แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
1)     วันสำคัญเกี่ยวกับชาติ และพระมหากษัตริย์
2)     วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
3)     วันสำคัญทางประเพณีและวัฒนธรรม


วันสำคัญที่ควรรู้ มีดังนี้
1)  วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันเฉลิมพระชนพรรษา (วันคล้ายวันเกิด) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ถือเป็นวันชาติไทย และวันพ่อแห่งชาติด้วย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นต่อคนไทย ได้เสด็จไปเยี่ยมเยียนดูแลทุกสุขราษฎรทั่วประเทศ ทรงมีโครงการช่วยเหลือและพัฒนาการทำมาหากินมากมาย ประชาชนคนไทยทุกหมู่เหล่า ต่างพร้อมใจกันถวายพระพร ทรงพระเจริญ” ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา และใช้ดอกพุทธรักษาเป็นสัญลักษณ์ของวันพ่อด้วย โรงเรียนและสถานที่ราชการหยุด 1 วัน มีการประดับธงชาติ โคมไฟรวมทั้งมีพานพุ่มถวายนักการะด้วย

2)  วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ตรงกับวันที่ 12 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา หมายถึง วันคล้ายวันเกิดสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระองค์ทรงช่วยเหลือราษฎรในด้านฝึกอาชีพในท้องถิ่น และเสด็จไปเยี่ยมเยียนราษฎรในท้องถิ่นต่างๆ เพื่อรงช่วยเหลือเช่นกัน เมื่อถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษา ประชาชนต่างถวายพระพร ทรงพระเจริญ”  มีการประดับธงชาติ โคมไฟ ถวายพานพุ่มสักการะ และถือว่าเป็นวันแม่แห่งชาติ โดยมีดอกมะลิเป็นสัญลักษณ์

3)  วันปิยมหาราช
ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม เป็นวันคล้ายวันสวรรคต (วันตาย) ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์มีพระมหากรุณาธิคุณมากมายต่อประเทศชาติ และประชาชน ได้แก่ โปรดเกล้าฯ ให้เลิกทาส ทรงพัฒนาประเทศโดยตั้งให้มีโรงเรียน โรงพยาบาล การรถไฟ การไฟฟ้า ฯลฯ
ในวันปิยมหาราช ประชาชนทุกกลุ่มจะไปถวายพวงมาลา เพื่อสักการะพระองค์ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า


4)  วันวิสาขบูชา
ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ซึ่งวันนี้เป็นวันคล้ายวันประสูติ (เกิด) ตรัสรู้ (รู้แจ้ง) และปรินิพพาน (ตาย) ของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่ในสมัยพุทธกาล นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่มหัศจรรย์มาก จึงถือว่าวันวิสาขบูชาเป็นวันพระพุทธ
เมื่อถึงวันวิสาขบูชาทุกปี ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธจะมีการตักบาตร ฟังเทศน์ เวียนเทียน ทำสมาธิให้จิตใจสงบ ถือศีลบำเพ็ญบุญคุณ และบำเพ็ญประโยชน์ต่าง ๆ โรงเรียนและสถานที่   ต่าง ๆ หยุด 1 วัน

5)   วันอาสาฬหบูชา
ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา มีความสำคัญ คือ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา (การสั่งสอนครั้งแรก) แก่ปัญจวคีย์ ซึ่งเป็นนักบวชทั้ง 5 รูป ทำให้เกิดมีพระสงฆ์องค์แรก และมีพระรัตนตรัยครบองค์สาม คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถือว่าวันอาสาฬหบูชาเป็นวันพระสงฆ์
โรงเรียนและสถานที่ต่าง ๆ หยุด 1 วัน เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ถือศีล ทำสมาธิ และเวียนเทียน เพื่อเป็นการบำเพ็ญบุญ และบำเพ็ญประโยชน์ต่าง ๆ

6)  วันเข้าพรรษา
ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ต่อจากวันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่พระสงฆ์รับว่า จะอยู่ประจำที่วัด 3 เดือน ไม่เดินทางไปค้างคืนในที่ต่าง ๆ เพื่อให้พระสงฆ์ได้ศึกษาพระธรรมวินัย และปฏิบัติได้ถูกต้อง ทั้งยังได้ดูแล ซ่อมแซม ศาสนสถานในวัดด้วย
โรงเรียนและสถานที่ต่าง ๆ หยุด 1 วัน เพื่อจะได้ทำบุญตักบาตร ถวายเทียนพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่พระสงฆ์

7)  วันมาฆบูชา
ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง ที่มีเหตุการณ์มหัศจรรย์เกิดขึ้น คือ ในสมัยพุทธกาลมีพระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมาย ซึ่งพระสงฆ์ทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นพระอรหันต์ และเป็นผู้ที่พระพุทธเจ้ารงบวชให้เอง ในวันที่มีความมหัศจรรย์นี้ พระพุทธเจ้าแสดงธรรมที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ เว้นการทำชั่ว หมั่นทำความดี และฝึกจิตใจที่สงบ ดีงาม
โรงเรียนและสถานที่ต่าง ๆ หยุด 1 วัน เพื่อให้ทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ เวียนเทียน และรักษาศีล ฝึกสมาธิให้มีจิตใจที่สงบ

8)  วันลอยกระทง
ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นวันสำคัญทางพระเพณีไทย มีการนำกระทงไปลอยตามแม่น้ำลำคลอง เพื่อเป็นการบูชา และขอขมาต่อพระแม่คงคม ที่ให้มีแหล่งน้ำในการประกอบอาชีพต่าง ๆ และได้ใช้น้ำเพื่อดำรงชีวิตและความเป็นอยู่

9)  วันขึ้นปีใหม่
ตรงกับวันที่ 1 มกราคม เป็นวันที่เปลี่ยนพุทธศักราช (พ.ศ.) ใหม่ ถือเป็นวันปีใหม่ที่ตรงกันทุกประเทศทั่วโลก
ในวันขึ้นปีใหม่ เราทำบุญตักบาตร ส่งบัตรอวยพรหรือให้ของขวัญกัน เราต้องตั้งใจทำความดีให้แก่ตัวเอง และบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น

10)วันเด็ก
ตรงกับวันเสาร์สัปดาห์ที่สองของเดือนมกราคม จัดเพื่อให้เด็กได้รู้ถึงความสำคัญ และหน้าที่ของตนเอง เมื่อเติบโตขึ้น ต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเอง และการงานต่าง ๆ ของตน หน้าที่ของเด็กโดยตรง คือ การศึกษาเรียนรู้ ฝึกฝนตนเองให้ทำงานเป็น และทำถูกต้อง เพื่อเป็นผู้ใหญ่ที่ดีของชาติในอนาคตต่อไป

11)วันครู
ตรงกับวันที่ 16 มกราคม ของทุกปี จัดขึ้นเพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงพระคุณของครู ซึ่งเป็นพระคุณที่สามต่อจากพ่อแม่ เราต้องศึกษาเรียนรู้อยู่ในโรงเรียนเป็นเวลาหลายปีกว่าจะมีความรู้ ความคิด ความชำนาญในการทำงาน เมื่อเติบโตมีอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ครูเป็นผู้อบรมสั่งสอน ทั้งวิชาการ และคุณธรรม
ผู้ที่มีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ ครูอาจารย์ ย่อมมีทั้งความสุข ความเจริญในชีวิตและหน้าที่การงาน

12) วันสงกรานต์


ตรงกับวันที่ 13 เมษายน ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามประเพณีไทย มีกิจกรรมหลายอย่าง ได้แก่ การทำบุญถวายภัตตาหารพระสงฆ์ มีการสรงน้ำพระพุทธรูป และพ่อแม่ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ต่อจากนั้นก็จะมีการเล่นที่สนุกสนาน สาดน้ำกัน ซึ่งควรเป็นการเล่นที่สุภาพ ไม่แกล้ง หรือเล่นรุนแรง ซึ่งบางคนจะไม่ชอบ เพราะรำคาญและเบื่อหน่าย อาจทำให้เกิดผลเสียต่อประเพณี







Download - เนื้อหา












ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Blog เพื่อนการศึกษา

***Blog เพื่อนการศึกษา*** สรุปเนื้อหาเข้า ป.1 - ม.6 สรุปเนื้อหา - วิชาสังคมศึกษา ป.3 (สรุปตามสาระการเรียนรู้) แบบทดสอบประจำหน่วยการเรียนรู...