วันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

คู่มือเตรียมสอบ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ป.1 - 2 - 3 ___ สังคม ป.2 - บทที่ 4 เศรษฐกิจในชีวิตประจำวัน (เนื้อหา)

คู่มือเตรียมสอบ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ป.1 - 2 - 3 ___ สังคม ป.2 - บทที่ 4 เศรษฐกิจในชีวิตประจำวัน (เนื้อหา)



Download - เนื้อหา 

บทที่ 4 เศรษฐกิจในชีวิตประจำวัน


          เราได้เรียนรู้ว่าเศรษฐกิจ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำงานเพื่อให้มีรายได้ และนำมาใช้จ่ายในความเป็นอยู่อย่างเหมาะสม เรื่องของเศรษฐกิจจึงเกี่ยวข้องกับรายได้ รายจ่าย การผลิต การบริโภค อาชีพ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่มีต่อความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน นำมาปฏิบัติให้ถูกต้อง พอเหมาะพอดี และให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและครอบครัว
          พ่อแม่ต้องทำงานเพื่อให้มีรายได้จากอาชีพที่ท่านทำ และนำเงินไปใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นของครอบครัว ได้แก่ ค่าอาหาร เสื้อผ้า เครื่องใช้ ค่าเล่าเรียนของลก ค่ารักษาพยาบาล และสิ่งอื่น ๆ ที่จำเป็น

     1.  รายได้และการผลิต
1.1   ความหมาย
รายได้ หมายถึง ผลตอบแทนที่ได้จากการทำงาน โดยใช้แรงกาย สติปัญญา และความรู้ความสามารถ สิ่งที่ได้รับจากการทำงาน อาจจะเป็นเงิน หรือสิ่งของ หรือบริการก็ได้
การผลิต หมายถึง การนำสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติในท้องถิ่นที่เป็นทรัพยากร มาจัดทำสิ่งต่าง ๆ ตามต้องการ ที่เป็นสินค้าและบริการ เรียกว่า ผลผลิต ซึ่ง ผลผลิตเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดรายได้
ดังนั้น รายได้ จึงเกี่ยวข้องกับการผลิต เพราะการผลิตเป็นการทำงานที่มีผลผลิต คนที่ทำงานได้ผลผลิต เรียกว่า ผู้ผลิต และผลผลิตทำให้เกิดรายได้

1.2   รายได้ของครอบครัว
รายได้ของครอบครัว หมายถึง เงิน หรือสิ่งของที่ได้จากการทำงาน แล้วนำไปซื้อ หรือแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งของที่จำเป็นและต้องการ พ่อแม่เป็นผู้ทำงานประกอบอาชีพ เพื่อมีรายได้เป็นเงินนำมาใช้จ่ายสิ่งต่าง ๆ ในครอบครัว ลักษณะรายได้ของครอบครัว คือ
o  การทำของกินของใช้ ทำให้เกิดผลผลิต แล้วนำไปขายได้เงินมาใช้จ่ายในด้านอื่น สิ่งที่ทำให้เกิดผลผลิต เช่น ปลูกข้าว ปลูกผัก ผลไม้ เลี้ยงสัตว์ ทำขนม ทำอาหาร ทอผ้า ทำของใช้ต่าง ๆ
o  การทำงานหรือรับจ้าง ได้ค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน เงินค่าจ้าง ค่าแรงต่าง ๆ ซึ่งนำไปซื้อ หรือจ่ายสิ่งที่จำเป็นอื่น ๆ ตัวอย่างของการทำงาน เช่น รับราชการ ทำงานในบริษัท ห้างร้าน หรือ โรงงาน ขับรถ รับจ้างขุดดิน รับซักรีดเสื้อผ้า
      
    2. รายจ่าย และการบริโภค
2.1   ความหมาย
รายจ่าย หมายถึง  การนำผลตอบแทนจากการทำงาน ที่เป็นรายได้ หรือเป็นเงินนำมาซื้อจ่ายสิ่งที่จำเป็นและต้องการของชีวิตและของครอบครัว รายจ่ายที่สำคัญ ได้แก่ ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้าและของใช้ ค่ายา และค่ารักษา ค่าเดินทาง ฯลฯ
การบริโภค หมายถึง การกิน หรือ การใช้สิ่งของ ที่เป็นสินค้าและบริการต่าง ๆ เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ คนเราทุกคนอยู่ในฐานะเป็นผู้บริโภคทั้งนั้น แม้ว่าจะเป็นเด็ก หรือ คนชรา ที่ไม่ได้ทำงาน ไม่มีรายได้ ก็ต้องมีการบริโภค หรือ มีการใช้จ่ายด้วย เช่น การกินอาหาร การมีเสื้อผ้าสะอาดสวมใส่

2.2   สิ่งที่เป็นรายจ่าย และการบริโภค
สิ่งที่คนเราต้องการและมีความจำเป็นในการบริโภค ทำให้เกิดเป็นรายจ่ายขึ้น สิ่งเหล่านั้น คือ สินค้า และบริการที่ผู้ผลิตได้จัดทำขึ้นจากทรัพยากร แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
1)     สินค้าสำหรับผู้บริโภค ได้แก่
*  สินค้าที่ใช้แล้วหมดไป เช่น อาหาร เชื้อเพลง หนังสือพิมพ์
*  สินค้าที่ใช้ได้นาน สึกหรอช้า เช่น บ้าน เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า
*  สินค้าที่ให้ความสะดวก เรียกว่า บริการ เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ การใช้รถประจำทาง การตรวจรักษาของแพทย์ ธนาคาร
2)     สินค้าสำหรับผู้ผลิต ได้แก่ สินค้าและบริการที่ผู้ผลิตนำไปใช้ในการผลิตสินค้า และบริการ เช่น
*  ชาวนาปลูกข้าว ต้องมีที่ดิน เมล็ดพันธุ์ข้าว ปุ๋ย เครื่องมือในการไถดิน และการเก็บเกี่ยว และยุ้งฉางเก็บข้าวที่เกี่ยวมาไว้
*  ผู้ทำกิจการทอผ้า ต้องมีที่ดินสร้างโรงงาน เครื่องจักร รถบรรทุก พืชเส้นใย เช่น ป่าน ปอ
     3. รายจ่ายในครอบครัว
พ่อแม่เป็นหัวหน้าครอบครัว พ่อทำงานเพื่อให้ได้เงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในบ้าน พ่อดูแลบ้านให้มีความสะดวกสบายและปลอดภัย ส่วนแม่เป็นผู้ดูแลภายในบ้าน เกี่ยวกับการใช้จ่าย การทำอาหาร การทำความสะอาดบ้าน เสื้อผ้า เครื่องใช้ บางครอบครัวแม่ต้องทำงาน เพื่อให้มีรายได้เพิ่ม นำเงินมาใช้จ่ายด้วย ส่วนลูกก็ต้องรู้เรื่องการใช้จ่ายในบ้านด้วย
แต่ละครอบครัวต้องมีรายจ่ายที่แยกเป็น 3 อย่าง ดังนี้
1)     การจ่ายประจำทุกวัน ได้แก่
o  ค่าอาหาร 3 มื้อ ค่าขนม
o  ค่าของใช้สิ้นเปลือง เช่น สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก
o  ค่าเดินทางไปทำงาน ไปโรงเรียน
o  ค่าอุปกรณ์การเรียนของลูก เช่น ดินสอ ยางลบ ไม้บรรทัด
2)     รายจ่ายเป็นครั้งคราว
รายจ่ายเป็นครั้งคราว เป็นรายจ่ายตามกำหนดเวลา ส่วนมากจะจ่ายเป็นรายเดือน ได้แก่ ค่าไฟฟ้า ค่ำน้ำประปา ค่าโทรศัพท์ ค่าเช้าบ้าน หรือผ่อนบ้าน ค่าเล่าเรียนของลูก
3)     รายจ่ายที่ไม่แน่นอน
รายจ่ายที่ไม่แน่นอน เป็นรายจ่ายที่ไม่มีกำหนดเวลาล่วงหน้า ได้แก่ ค่าทำบุญ ค่าเสื้อผ้า ค่ารักษาพยาบาล และค่ายา ค่าซ่อมแซมบ้าน และสิ่งของเครื่องใช้ ค่าหนังสือพิมพ์ ค่าท่องเที่ยวพักผ่อน ค่าช่วยงานสังคม เช่น งานบวช งานแต่งงาน งานศพ
เราจะเห็นได้ว่า ในครอบครัวจะต้องมีรายจ่ายมากมาย มีทั้งรายจ่ายส่วนรวมของบ้าน และรายจ่ายส่วนตัวของแต่ละคน ดังนั้นในการใช้จ่ายที่ยังไม่จำเป็น หรือสิ่งของบางอย่างที่อยากได้ เราต้องคิดก่อนตัดสินใจซื้อ เช่น
o  มีความจำเป็นต้องซื้อหรือไม่ ใช้ประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่
o  มีของเดิมพอใช้ได้ไหม มีเงินพอซื้อหรือไม่
เรายังเป็นเด็ก ไม่มีรายได้ จ้องขอจากพ่อแม่ แต่พ่อแม่ต้องมีรายจ่ายในการเลี้ยงดู และให้การศึกษาแก่เราเป็นเวลาหลายปี กว่าที่เราจะทำงานมีรายได้เลี้ยงตัวเอง และครอบครัวต่อไป ดังนั้นการที่พ่อแม่ให้เงินค่าใช้จ่ายประจำวันแก่เรา ต้องรู้จักใช้ รู้จักซื้อสิ่งที่จำเป็น ควรมีเหลือเก็บออม ไม่ใช้จนหมด การใช้จ่ายเงินจนหมด ไม่มีเหลือเก็บ เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง และอาจเกิดปัญหาได้


   4. เงิน การออม และธนาคาร
เราได้เรียนรู้เรื่อง รายได้ กับรายจ่าย การผลิต และการบริโภคแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำงานประกอบอาชีพของทุกคน เมื่อเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังมีเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องอีก คือ เงิน การออมและธนาคาร เนื้อหาสาระของทุกเรื่องที่กล่าวมานี้ เป็นวิชาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นสาระสำคัญอีกสาระหนึ่ง ในกลุ่มวิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม

4.1  ความหมายของเงิน
เงิน หมายถึง สิ่งที่ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนผลของการผลิตกับการบริโภคแต่ละประเทศมีการกำหนดค่าของเงิน เป็นหน่วยที่ยอมรับกันในสังคม ของสังคมในประเทศนั้น
เงินไทย มีหน่วย เป็น บาท และ สตางค์


4.2 ประเภทของเงิน
ประเภทของเงิน ในระดับชั้นนี้ ควรรู้จักลักษณะของเงินที่ใช้กันอยู่ทั่วไป มี 2 ประเภท คือ
1)     เงินเหรียญ หรือเรียกว่า เหรียญกษาปณ์ ทำด้วยโลหะ จึงมีน้ำหนักมาก เงินเหรียญมี 2 สี คือ
o  สีเงิน มีเหรียญ 1 บาท เหรียญ 2 บาท เหรียญ 5 บาท เหรียญ 10 บาท
o  สีทอง มีเหรียญ 25 สตางค์ กับเหรียญ 50 สตางค์
หน่วยงานที่ผลิตเงินเหรียญ คือ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง


2)     ธนบัตร เป็นเงินที่ทำด้วยกระดาษพิมพ์พิเศษโดยเฉพาะ มีเลขหมายเป็นรหัสกำกับไว้เพื่อป้องกันการปลอมแปลง ธนบัตรจึงมีน้ำหนักเบากว่าเงินเหรียญ สามารถพกพาได้สะดวก
ธนบัตรที่ใช้มี 6 ชนิด แต่ละชนิด จะมีสี และ ขนาดแตกต่างกัน รวมทั้งมีมูลค่าของราคากำกับไว้ด้วย ดังนี้
o  ธนบัตรใบละ 10 บาท
o  ธนบัตรใบละ  20 บาท
o  ธนบัตรใบละ 50  บาท
o  ธนบัตรใบละ 100  บาท
o  ธนบัตรใบละ 500  บาท
o  ธนบัตรใบละ 1,000  บาท
หน่วยงานที่ผลิตธนบัตร คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย
เราลองนำเงินเหรียญทั้ง 6 ชนิด มาสังเกตดูทุกชนิดจะมีภาพนูนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่ด้านหน้า แต่ด้านหลังของแต่ละแบบจะไม่เหมือนกัน และ ธนบัตรก็เช่นกัน จะมีภาพพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 อยู่ด้านหน้า ส่วนด้านหลัง จะเป็นพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ ของพระมหากษัตริย์พระองค์ต่าง ๆ ในราชวงศ์จักรี

4.3 ความหมายของการออม
การออมทรัพย์หรือการเก็บออม คือ การแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งที่เหลือจากการใช้จ่ายประจำวัน มาเก็บสะสมไว้ทีละเล็ก ทีละน้อย การเก็บออมเป็นการประหยัดวิธีหนึ่ง และเงินที่เก็บออมไว้ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในเวลาจำเป็น

เราได้เงินจากพ่อแม่มาโรงเรียนทุกวัน เราต้องคิดและวางแผนในการใช้เงินในแต่ละวันว่าจะซื้อสิ่งที่จำเป็น เราไม่ควรจ่ายเงินในแต่ละวันจนหมดไม่เหลือ ควรเก็บออมอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเก็บไว้ได้มากพอควร ก็นำไปฝากธนาคาร ถ้ามีความจำเป็นจึงถอนเงินมาใช้จ่าย การฝึกเก็บออม รู้จักประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ใช้จ่ายเงินเกินฐานะ จะทำให้รู้จักคิด วานแผนเป็น และเป็นคนช่างสังเกต การที่เรามีเงินเก็บออมด้วยตนเอง ทำให้เรารู้สึกดีใจ และภูมิใจ

4.4 ประโยชน์ของการเก็บออม
1)     ทำให้มีเงินเพิ่มมากขึ้น เพราะการออมเป็นการสะสมเงิน
2)     มีเงินทุนไว้เรียนต่อในชั้นที่สูงขึ้น ซึ่งจะต้องมีรายจ่ายมาก
3)     เพื่อซื้อสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่จำเป็น โดยไม่ต้องรบกวนพ่อแม่
4)     การซื้อสิ่งของด้วยเงินสด ดีกว่าซื้อของเงินผ่อน
5)     เป็นเงินที่เก็บไว้ลงทุนประกอบอาชีพที่ต้องการได้
6)     มีเงินไว้ใช้จ่ายเมื่อยามจำเป็น เช่น ค่ารักษาพยาบาล
7)     มีความภูมใจที่มีเงินไว้แก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น โดยไม่ต้องกู้ยืม ทำให้เกิดเป็นหนี้สิน

4.5 ธนาคาร
ธนาคาร หมายถึง สถาบันการเงิน เป็นหน่วยงานที่ให้ความสะดวก เกี่ยวกับการเงิน ได้แก่
o  รับฝากเงินออมของประชาชน พร้อมทั้งให้ค่าฝากเป็นเงินเพิ่มที่เรียกว่าดอกเบี้ยด้วย
o  ให้บุคคลขอยืมเงินเพื่อนำไปลงทุนทำงาน หรือทำธุรกิจ เช่น ค้าขาย ตั้งโรงงาน สร้างบ้าน ทำสวนผลไม้ โดยผู้ขอยืมต้องเสียค่าบริการให้แก่ธนาคาร
จึงเห็นได้ว่า ธนาคารก็ต้องมีรายได้ และรายจ่ายในการจัดการและให้ความสะดวก ซึ่งรายได้ของธนาคารนำมาจ่ายเป็นเงินเดือนของพนักงาน ค่าสถานที่ และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมทั้งเป็นดอกเบี้ย ให้แก่ผู้ที่นำเงินมาฝากด้วย
ธนาคารและสถาบันการเงินมีหลายประเภท ที่เกี่ยวข้องกับระบบการเงินในรูปแบบต่าง ๆ กัน เช่น ข้อกำหนดในการรับฝาก การขอยืม การได้ หรือการเสียดอกเบี้ย ระยะเวลาฝาก และยืม ถ้าเราเก็บออมเงินโดยการนำมาฝากไว้ที่ธนาคาร ก็จะได้เงินเพิ่มจากดอกเบี้ยด้วย เราควรสนใจศึกษาเรียนรู้รายละเอียดต่อไป โดยเฉพาะเมื่อเราไปประกอบอาชีพ เมื่อเติบโตย่อมต้องเกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินอย่างแน่นอน

    5. การพัฒนาเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจ หมายถึง เรื่องของการทำงานที่สัมพันธ์กับชีวิต ความเป็นอยู่ จึงมีเรื่องเกี่ยวกับ รายได้ รายจ่าย ผลผลิต การบริโภค การเงิน การออม และธนาคาร ทุกเรื่องต้องมีความสัมพันธ์ และมีผลเกิดขึ้นในลำดับต่อมา ซึ่งผลทางเศรษฐกิจมี 2 แบบ คือ
o  ผลดี เพราะมีรายได้จากผลผลิตมาก ทำให้มีเงินในการใช้จ่าย บริโภคในสิ่งที่ต้องการ ไม่มีหนี้สิน
o  ผลเสีย เพราะมีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย หรือ ได้ผลผลิตไม่มีทำให้ไม่มีเงินใช้จ่ายในการบริโภค ต้องไปกู้ยืมเงิน เป็นหนี้ที่ต้องใช้ จึงเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ
ดังนั้นจึงต้องมีการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ดีขึ้น และแก้ปัญหาที่มีอยู่ให้ได้ผลตามต้องการ ซึ่งเรียกว่า การพัฒนาเศรษฐกิจ แม้ว่าเรายังอยู่ในวัยเด็ก เราก็มีความสามารถ และมีการพัฒนาเศรษฐกิจของตัวเอง ครอบครัว และโรงเรียนได้ โดยปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และ ฝึกเพื่อพัฒนาได้ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก การพัฒนาตนเองในด้านเศรษฐกิจในชั้นนี้ มีดังนี้

5.1 สหกรณ์ในโรงเรียน
ทุกโรงเรียนมีกิจกรรมสหกรณ์ในโรงเรียน โดยมากเป็นสหกรณ์ร้านค้า นอกจากต้องการให้นักเรียนได้เรียนรู้โดยมีส่วนร่วมปฏิบัติจริง และยังเป็นการฝึกพัฒนาเศรษฐกิจที่อยู่ใกล้ตัวด้วย
สหกรณ์โรงเรียนเป็นกิจกรรมการเรียนรู้เบื้องต้น เพื่อให้นักเรียนได้มีความรู้ และมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่มีประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ กิจกรรมสหกรณ์ร้านค้าในโรงเรียน มีการดำเนินงานโดยคณะกรรมการ ที่มีครู และนักเรียน ที่ได้รับการเลือกตั้ง เป็นผู้จัดซื้อ จัดหาสินค้าที่จำเป็นต้องใช้ในโรงเรียน ให้นักเรียนและครูเป็นสมาชิก โดยลงทุนซื้อหุ้น จะได้มีเลขหมายสมาชิกประจำตัว เมื่อสมาชิกมาซื้อสินค้าในร้านสหกรณ์ ก็บันทึกยอดซื้อไว้ แล้วนำยอดซื้อมารวมกัน ซึ่งจะได้รับเงินปันผลกำไรจากยอดซื้อเมื่อสิ้นปี
ดังนั้นกิจกรรมสหกรณ์ร้านค้าในโรงเรียน ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้โดยการปฏิบัติจริง มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ให้ประโยชน์แก่ตนเอง และโรงเรียน รวมทั้งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจเบื้องต้นด้วย

5.2  เศรษฐกิจพอเพียง
หลักเศรษฐกิจแบบพอเพียง เป็นพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานแก่ผู้มีอาชีพเป็นชาวนาก่อน โดยให้ประหยัด ไม่มีหนี้สิน และทำนาให้มีข้าวกินตลอดปี เหลือจึงขาย ส่วน ผัก ปลา และผลไม้อื่น ๆ ให้ปลุกและเลี้ยงเสริม เพื่อกินในครอบครัว ซึ่งต้อง ขยัน อดทน เข้มแข็งในการทำงาน และร่วมแรงร่วมใจกันในชุมชน ช่วยกันแก้ไขปัญหา ซึ่งแม้ว่าจะมีอาชีพอื่น หรือยังเป็นเด็กนักเรียน ก็สามารถนำหลักการของเศรษฐกิจแบบพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นคุณธรรมที่เราควรฝึกปฏิบัติ เพื่อให้ได้ผลดีทางเศรษฐกิจ คือ ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ อดทน เข้มแข็ง ร่วมแรงร่วมใจ
   
5.3 การเพิ่มผลผลิตเบื้องต้นในการทำงาน
การเพิ่มผลผลิตเบื้องต้นในการทำงาน คือ การพัฒนาต้นเองที่เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ซึ่ง เกี่ยวกับความเป็นอยู่ และการทำงาน ที่ต้องได้รับการฝึกตั้งแต่ยังเด็ก คือ
1)     ฝึกความตั้งใน และพยายามทำสิ่งต่าง ๆ ให้เสร็จทันเวลา
2)     ฝึกการใช้จ่ายเงินในสิ่งที่จำเป็น รู้จักคิดก่อนใช้เงิน
3)     รู้จักเลือกซื้อสิ่งของที่มีคุณภาพ
4)     ช่วยประหยัดทรัพยากรและค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็น เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าโทรศัพท์
5)     คำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยในความเป็นอยู่ และการทำงาน เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสีย หรือ ความเสียหาย

5.4 รู้จักประโยชน์และฝึกกิจกรรม 5 ส.
กิจกรรม 5 ส. เป็นกิจกรรมที่ฝึกนิสัยในการดูแลรักษาสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ทั้งที่บ้าน โรงเรียน ที่ทำงาน เป็นการเพิ่มผลผลิต และเป็นรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง มีดังนี้
o  สะสาง คือ แยกเอาของที่จำเป็นไว้ ส่วนของที่ไม่จำเป็นให้กำจัดไป
o  สะดวก คือ จัดเก็บของที่จำเป็นให้เรียบร้อย หยิบใช้ได้ง่าย
o  สะอาด คือ หมั่นทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ตามกำหนดเวลา เพื่อตรวจสอบสภาพการใช้งาน
o  สุขลักษณะ คือ การจัดเก็บ และทำความสะอาดอย่างต่อเนื่อง ไม่ทิ้งไว้นาน
o  สร้างนิสัย คือ เป็นการสร้างวินัยในตนเอง ในเรื่องการทำงานที่มีความรับผิดชอบ ตั้งใจทำ และตรงเวลา








Download - เนื้อหา




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Blog เพื่อนการศึกษา

***Blog เพื่อนการศึกษา*** สรุปเนื้อหาเข้า ป.1 - ม.6 สรุปเนื้อหา - วิชาสังคมศึกษา ป.3 (สรุปตามสาระการเรียนรู้) แบบทดสอบประจำหน่วยการเรียนรู...