วันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

คู่มือเตรียมสอบ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ป.1 - 2 - 3 ___ สังคม ป.2 - บทที่ 1 เรารักบ้านของเรา (เนื้อหา)

คู่มือเตรียมสอบ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ป.1 - 2 - 3 ___ สังคม ป.2 - บทที่ 1 เรารักบ้านของเรา (เนื้อหา)



บทที่ 1 เรารักบ้านของเรา


     1.  องค์ประกอบทางกายภาพของบ้าน
องค์ประกอบ หมายถึง สิ่งต่าง ๆ ที่มารวมกัน ทำให้เกิดเป็นรูปร่าง สถานที่ หรือ บริเวณโดยรอบ ส่วนกายภาพ หมายถึง สิ่งที่มองเห็น สิ่งที่จับต้องได้
องค์ประกอบของบ้าน มีองค์ประกอบที่เป็นตัวบ้าน คือ พื้นบ้าน เสา หลังคา ประตู หน้าต่าง ฝ้าเพดาน บันได ซึ่งสร้างด้วยไม้ อิฐ ปูน กระจก โลหะ ในบ้านประกอบด้วยห้องหลายห้องที่เจ้าของบ้านต้องการ ห้องที่สำคัญ ได้แก่ ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องรับแขก ห้องนั่งเล่น
นอกจากตัวบ้านที่มีองค์ประกอบของบ้านแล้ว ยังมีองค์ประกอบทางกายภาพรอบ ๆ บ้าน หรือ สภาพแวดล้อมบริเวณบ้านด้วย เช่น ต้นไม้ สนาม พื้นดิน รั้ว ทางเดินรอบบ้าน ถนนหน้าบ้าน บ้านที่อยู่ใกล้เคียง

     2. หน้าที่และความสัมพันธ์ขององค์ประกอบในบ้าน
องค์ประกอบต่าง ๆ ของบ้าน ทำให้สมาชิกในบ้านได้มีที่อยู่อาศัย เป็นที่กิน ที่นอน และที่พักผ่อนอย่างมีความสุข บางบ้านอาจจะเป็นที่ทำงานประกอบอาชีพด้วย นั้นนั้นความสัมพันธ์ขององค์ประกอบในบ้านกับหน้าที่ของบุคคลในบ้าน มีดังนี้
-          ห้องนอน  เป็นที่นอนหลับพักผ่อนเวลากลางคืน ต้องหมั่นปัดกวาดเช็ดถู และ ทำความสะอาดเครื่องนอน เช่น พับผ้าห่มเมื่อตื่นนอนทุกครั้ง หมั่นซักปลอกหมอนหรือผ้าปูที่นอนบ่อย ๆ ไม่นำอาหาร หรือขนมเข้ามากินในห้องนอน
-          ห้องน้ำ  เป็นที่ชำระล้างร่างกายให้สะอาด และมีส้วมใช้เป็นที่ขับถ่าย จึงต้องหมั่นล้างและทำความสะอาดเป็นประจำ ไม่ปล่อยให้สกปรก รกรุงรัง และไม่ให้มีกลิ่นเหม็น
-          ห้องครัว  เป็นที่ปรุง หรือ ทำอาหาร มีเครื่องใช้ต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำ และการกินอาหาร ได้แก่ เตา หม้อ กระทะ มีด ถ้วยชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำ โต๊ะ เก้าอี้ ก๊อกน้ำ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ต้องล้างหรือทำความสะอาดทันที เมื่อใช้แล้วอย่าปล่อยทิ้งไว้ และจัดเก็บประจำที่ เพื่อหยิบใช้ได้สะดวก
-          ห้องอื่น ๆ และบริเวณบ้าน  ต้องหมั่นดูแลทำความสะอาด ไม่ปล่อยให้รกรุงรัง โดยสมาชิกทุกคนในบ้านต้องแบ่งหน้าที่และช่วยกันทำ เพื่อให้มีสุขอนามัยที่ดี ไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นำโรค เช่น หนู ยุง แมลงวัน แมลงสาบ
     3.  บทบาทหน้าที่ของบุคคลในบ้าน
แต่ละบ้านจะมีจำนวนบุคคลหรือสมาชิกไม่เท่ากัน บางบ้านเป็นครอบครัวใหญ่ อยู่ร่วมกันหลายคน บางบ้านเป็นครอบครัวเล็ก มีคนอยู่กันน้อย แต่ละคนจะมีวัย เพศ สถานภาพ และบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน
-    วัย หมายถึง ระดับอายุ เช่น วัยเด็ก วัยผู้ใหญ่ วัยผู้สูงอายุ
-    เพศ หมายถึง เพศชาย เพศหญิง
-    สถานภาพ หมายถึง ฐานะ ตำแหน่งหรือเกียรติยศของบุคคล
-    บทบาท หมายถึง การทำหน้าที่ที่กำหนดไว้
-    หน้าที่ หมายถึง สิ่งที่ต้องทำตามสถานภาพหรือบทบาท

พ่อ
          พ่อเป็นผู้ชาย อยู่ในวัยผู้ใหญ่ พ่อเป็นหัวหน้าครอบครัว มีบทบาทในการดูแลครอบครัว หน้าที่ของพ่อ คือ ทำงานหาเงินเพื่อเป็นรายได้ นำมาใช้จ่ายในครอบครัว อบรมสั่งสอนลูกให้เป็นคนดี และรู้หน้าที่ พ่อเป็นตัวอย่างในการกระทำต่าง ๆ ของลูก

แม่
แม่เป็นผู้หญิง อยู่ในวัยผู้ใหญ่ แม่มีหน้าที่ดูแลภายในบ้าน เกี่ยวกับอาหารการกิน เสื้อผ้า ความสะอาดบ้าน อบรม สั่งสอนลูกให้มีความรับผิดชอบ มีน้ำใจ แม่เป็นผู้ที่ให้กำลังใจลูก บางครอบครัวแม่ต้องทำงานประกอบอาชีพ เพื่อหารายได้มาใช้จ่ายในครอบครัวด้วย แม่จึงทำงานมากและเหนื่อยมาก

ลูก
ลูก คือ เด็กชาย และเด็กหญิง ที่เกิดจากพ่อแม่เดียวกัน ในครอบครัวอาจมีลูกหนึ่งคน หรือหลายคนก็ได้ เราเป็นลูกของพ่อแม่ อาจจะมีสถานภาพและบทบาท ดังนี้

ก.     พี่ชาย หรือ พี่สาว
พี่ชายหรือพี่สาว เป็นผู้ที่เกิดก่อนเรา มีอายุมากกว่าเรา พี่โตพอที่จะช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของพ่อแม่บางอย่างได้ เช่น ช่วยเลี้ยงน้อง ช่วยทำงานบ้าน ช่วยเก็บสิ่งของต่าง ๆ ให้เข้าที่ พี่ควรดูแลและช่วยเหลือน้อง

ข.     น้องชาย หรือน้องสาว
น้องชายหรือน้องสาว เป็นผู้ที่เกิดทีหลังเรา มีอายุน้อยกว่าเรา น้องต้องเชื่อฟัง พ่อ แม่ และพี่ ไม่ดื้อดึง ไม่เอาแต่ใจตัว ช่วยเหลืองานบ้านเท่าที่จะทำได้
ในบ้านของเรามีความเป็นอยู่อย่างมีความสุข เพราะทุกคนในบ้านรู้บทบาทและหน้าที่ของคนเอง ดูแลช่วยเหลือ และมีน้ำใจห่วงใยกัน โดยเฉพาะงานในบ้านที่เกี่ยวกับการทำอาหาร การทำความสะอาดบ้านเรือน เสื้อผ้า ของใช้ต่าง ๆ ต้องแบ่งหน้าที่และช่วยกัน ไม่เห็นแก่ตัว

     4.  การรู้จักข้อมูล และการบันทึกข้อมูลของตนเองและครอบครัว
ข้อมูล หมายถึง เรื่องราวที่เป็นความจริง มีหลักฐานยืนยันที่แน่นอน ข้อมูลของคนไทยที่เกิดมาทุกคน ต้องมีหลักฐานสำคัญบันทึกไว้ว่าเกิดที่ไหน และอยู่ที่ใดของประเทศไทย ข้อมูลสำคัญที่ควรรู้จัก เป็นเอกสารที่ทางราชการบันทึกไว้ และมอบให้ทุกครอบครัว 1 ชุด มีดังนี้
ก.      สูจิบัตร หรือเรียกว่า ใบแจ้งเกิด เด็กไทยทุกคนที่เกิดมา พ่อแม่ต้องไปแจ้งเกิดที่อำเภอหรือเขต โดยบอกชื่อ นามสกุล เพศ วันเดือนปีเกิด ชื่อพ่อแม่ และที่อยู่อาศัย เป็นหลักฐานว่าเป็นคนไทย และจำเป็นต้องใช้เมื่อเข้าโรงเรียน
ข.      สำเนาทะเบียนบ้าน เป็นเอกสารของทางราชการที่บอกข้อมูลของบ้านเกี่ยวกับ เลขที่ อยู่ที่ ซอย ถนน แขวง หรือตำบล เขต หรืออำเภอ และจังหวัด โดยมีการบันทึกข้อมูลของสมาชิกที่อยู่ในบ้านนั้นเกี่ยวกับ ชื่อ นามสกุล เพศ วันเดือนปีเกิด เอกสารนี้ต้องใช้มาก ตั้งแต่เข้าโรงเรียน เข้าทำงาน ทำบัตรประจำตัวประชาชน และอื่น ๆ

     5.  ครอบครัวดี มีสุข
บ้านและครอบครัวเป็นรากฐานของชีวิต คนเราย่อมมาจากบ้านและครอบครัวที่มีฐานะ และความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน แต่เราสามารถเรียนรู้ ฝึกตัวเองให้ทำหน้าที่ รวมทั้งปฏิบัติตนให้ถูกต้องเหมาะสมได้
ในบ้านของเราอยู่กันอย่างมีความสุข เพราะทุกคนในบ้าน รู้บทบาทและหน้าที่ของตนเอง ช่วยเหลือดูแลมีน้ำใจห่วงใยกัน โดยเฉพาะงานในบ้านเกี่ยวกับการทำอาหาร การทำความสะอาดเสื้อผ้า ของใช้ บ้านเรือน ต้องแบ่งหน้าที่และช่วยกัน ไม่สร้างปัญหาความยุ่งยาก หรือวุ่นวาย และไม่เห็นแก่ตัว เพราะเรารักพ่อแม่พี่น้อง เรารักบ้านและครอบครัวของเรา
ข้อปฏิบัติตนต่อครอบครัว
1)     ตื่นนอนแต่เช้าทุกวัน และพับผ้าห่ม เก็บหมอนให้เรียบร้อย
2)     ช่วยเหลือการทำงานบ้านตามกำลัง โดยช่วยทำเป็นประจำ
3)     รับประทานอาหารตามเวลาด้วยกัน
4)     ช่วยปิดไหห้าและน้ำประปาเมื่อใช้แล้วทุกครั้ง
5)     กิจวัตรประจำวันต้องฝึกให้ตรงเวลา เช่น กินอาหาร ไปโรงเรียน และกลับบ้าน เวลาเล่นหรือพักผ่อนดูทีวี และเวลานอน
6)     มีน้ำใจช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อดูแลกัน

     6.   การพูด
การพูด เป็นการสื่อสาร บอกเล่าเรื่องราวต่อกัน หรือพูดคุยซักถามเรื่องที่สนใจ โดยจะสลับกันเป็นผู้พูด และผู้ฟัง เราควรมีมารยาทและนิสัยที่ดีในการพูด ดังนี้
1)     มีน้ำเสียงอ่อนโยน ไม่พูดเสียงดัง กระโชกโฮกฮาก
2)     ใช้คำพูดที่ไพเราะแทนผู้พูด และผู้ฟังที่เหมาะสม เช่น ฉัน เธอ คุณ ท่าน มีคำลงท้ายว่า ครับ หรือ ค่ะ ทุกครั้ง
3)     พูดความจริงเสมอ จะทำให้มีผู้เชื่อถือ
4)     คำพูดที่แสดงถึงมารยาทดี ควรพูดให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ คือ สวัสดี ขอบคุณ ขอบใจ และขอโทษ
5)     การพูดที่ไม่ดี และไม่ควรทำอย่างยิ่ง คือ พูดปด หรือ พูดไม่จริง พูดคำหยาบ พูดนินทาว่าร้ายผู้อื่น และพูดมาก หรือพูดเพ้อเจ้อ



Download - เนื้อหา





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Blog เพื่อนการศึกษา

***Blog เพื่อนการศึกษา*** สรุปเนื้อหาเข้า ป.1 - ม.6 สรุปเนื้อหา - วิชาสังคมศึกษา ป.3 (สรุปตามสาระการเรียนรู้) แบบทดสอบประจำหน่วยการเรียนรู...