บทที่ 3 ชุมชนและสิ่งแวดล้อม
1. ความหมาย และขนาดของชุมชน
ชุมชน หมายถึง กลุ่มคนหลายครอบครัว มาตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณใกล้กัน บางชุมชนมีบ้านเรือนหนาแน่น บางชุมชน มีบ้านเรือนอยู่ห่างกัน ทุกคนใสชุมชนส่วนมากจะรู้จักและทำงานร่วมกัน ตลอดจนพึ่งพาอาศัยใกล้ชิดกัน
ขนาดของชุมชนแต่ละแห่งไม่เท่ากัน เริ่มตั้งแต่ขนาดเล็กไปถึงขนาดใหญ่ ดังนี้
หลายบ้าน รวมกัน è หมู่บ้าน
หลายหมู่บ้าน รวมกัน è ตำบล หรือ แขวง
หลายตำบล รวมกัน è อำเภอ หรือ เขต
หลายอำเภอ รวมกัน è จังหวัด
หลายจังหวัด รวมกัน è ประเทศ
ในระดับแรก เราควรรู้จักชุมชนที่เป็นหมู่บ้านและตำบลที่เราอาศัยก่อน
2. สถานที่ที่ควรรู้จัก
ในชุมชนมีบ้านเรือนมาอยู่รวมกันหลายหลัง และมีสถานที่ที่ควรรู้จัก ซึ่งเกี่ยวข้องกับทุกคนในชุมชน ดังนี้
1) โรงเรียน เป็นสถานศึกษาของเด็กนักเรียน
2) ตลาด เป็นที่ซื้อขายสินค้าต่าง ๆ
3) สถานีอนามัย เป็นสถานที่รักษาดูแลผู้เจ็บป่วย
4) สถานีตำรวจ เป็นสถานที่รับแจ้งเหตุร้ายต่าง ๆ และดูแลความปลอดภัยในชุมชน
5) วัด เป็นสถานที่ทำพิธีกรรมทางศาสนา
6) สถานีรถโดยสาร สถานีรถไฟ ท่าเรือ และท่าอากาศยาน เป็นสถานที่จอดรับส่งผู้ที่จะเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ
3. บุคคล
คนที่อยู่รวมกันในชุมชน ต่างก็มีอาชีพและหน้าที่แตกต่างกันตามความรู้และความสามารถ ทุกอาชีพย่อมให้ประโยชน์แก่ทุกคนในชุมชน จึงต้องมีการแลกเปลี่ยน ช่วยเหลือ ดูแล และให้บริการแก่กัน เราเป็นเด็กยังไม่มีอาชีพ แต่เรามีหน้าที่ศึกษาหาความรู้ เพื่อนำไปประกอบอาชีพตามที่ได้เรียนมา
เราควรรู้จักบุคคลในชุมชน ดังนี้
1) ครู อาจารย์ ทำหน้าที่สั่งสอน อบรม ดูแลนักเรียน ให้มีความรู้ความสามารถเพื่อให้เป็นคนดีมีความสามารถ
2) แพทย์ – พยาบาล ทำหน้าที่รักษาและดูแลผู้ป่วยในชุมชน
3) พ่อค้า – แม่ค้า เป็นผู้ที่นำสิ่งของ สินค้าต่าง ๆ มาบริการขายให้แก่คนในชุมชน
4) ตำรวจ ทำหน้าที่จับกุมคนทำผิดกฎหมาย และดูแลความสงบเรียบร้อย
5) ทหาร ทำหน้าที่ป้องกันประเทศ รักษาความสงบ และความมั่นคง
6) เกษตรกร เป็นผู้ผลิตพืชผัก และสัตว์ที่เป็นอาหารให้แก่ชุมชน
7) พระสงฆ์ และผู้เผยแผ่คำสอน เป็นผู้เผยแผ่หลักธรรมคำสอนให้คนทำดี เว้นทำชั่ว และเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
8) บุรุษไปรษณีย์ ทำหน้าที่ส่งจดหมาย และพัสดุให้แก่คนในชุมชน
4. ข้อปฏิบัติตนต่อชุมชน
เราเป็นเด็กและเป็นนักเรียน ถือว่าเป็นสมาชิกของชุมชน ซึ่งทุกคนที่อยู่ในชุมชนต้องรู้ถึงหน้าที่ และการปฏิบัติตนให้ถูกต้อง เหมาะสม มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน หรือท้องถิ่นที่ตนอยู่ ให้มีความเจริญก้าวหน้า เป็นชุมชนที่สงบ สะอาด ร่มเย็น น่าอยู่ มีความปลอดภัย และ ทุกคนอยู่กันอย่างพอเพียง และมีความสุข
ข้อควรปฏิบัติของเราที่มีต่อชุมชน คือ
1) ตั้งใจศึกษาเรียนรู้ เพื่อนำความรู้ความสามารถ เป็นแนวทางประกอบอาชีพที่สุจริตในอนาคต
2) ทำตามกฎระเบียบของชุมชน และกฎหมายของบ้านเมืองที่กำหนดไว้ เช่น
o รักษาความสะอาด ทิ้งขยะลงในที่รองรับทุกครั้ง
o ปฏิบัติตามกฎจราจร ข้ามถนนในทางข้าม หรือตามสัญญาณไฟ
o ไม่ขีดเขียนผนัง หรือรั้วของสถานที่ต่าง ๆ ให้สกปรกเลอะเทอะ
o ไม่เด็ด หรือทำลายดอกไม้ หรือต้นไม้ที่ทางการปลูกไว้
3) ร่วมใจกันต่อต้านภัย และห่างไกลสิ่งเสพติดทั้งปวง
4) ช่วยกันดูแลรักษา และมีส่วนร่วมในกันพัฒนาสิ่งแวดล้อมในชุมชน
5) ประพฤติตนเป็นคนดี มีคุณธรรม ฝึกตนให้มีวินัยในตนเอง สร้างความดีให้แก่ครอบครัวและประเทศชาติ
6) สำรวจหรือสอบถามจากผู้ใหญ่ว่า ในชุมชนของเรา มีสิ่งดีงามที่น่าภูมิใจอะไรบ้าง ซึ่งควรไปศึกษา หรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชน จะทำให้เกิดการเรียนรู้และภาคภูมิใจ
5. สิ่งแวดล้อมและทรัพยากร
5.1 ความหมาย
1) สิ่งแวดล้อม คือ สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเรา มีทั้งสิ่งมีชีวิต และสิ่งไม่มีชีวิต เป็นทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มีการพึ่งพาอาศัยกัน
o สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ได้แก่ คน พืช สัตว์ ดิน น้ำ อากาศ
o สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น หรือสิ่งแวดล้อมทางสังคม ได้แก่ บ้าน โรงเรียน ถนน สะพาน เขื่อน ฯลฯ
2) ทรัพยากร คือ สิ่งที่เป็นทรัพย์ หรือ มีค่า ส่วนทรัพยากรธรรมชาติ คือ สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และมีคุณค่า หรือให้ประโยชน์แก่มนุษย์ในการดำรงชีวิต
ดังนั้น ทรัพยากรธรรมชาติทุกอย่างเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งแวดล้อมทุกชนิดไม่ใช่ทรัพยากรทั้งหมด ขึ้นอยู่กับการนำมาใช้ประโยชน์ได้ตรงกับความต้องการของมนุษย์
5.2 การพึ่งพาอาศัยกันของสิ่งแวดล้อม
สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติในชุมชน ได้แก่ ต้นไม้ ภูเขา พื้นดิน บ่อน้ำ อากาศ แสงแดด สัตว์ต่าง ๆ ที่อยู่ตามพื้นดิน หรือยู่บนต้นไม้ บางแห่งอยู่ใกล้แม่น้ำ หรือทะเล เราสังเกตเห็นว่าสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มีความสัมพันธ์หรือพึ่งพาอาศัยกัน เช่น
o คน สัตว์ พืช ต้องการอากาศเพื่อใช้ในการหายใจ
o คนกินอาหารทุกวัน ที่ได้จากพืชและสัตว์
o พืชต้องการน้ำ อากาศ และแสงแดดช่วยในการเจริญเติบโต
o คนได้อาศัยร่มเงาของต้นไม้บังแสงแดด
o สัตว์บางชนิดอาศัยอยู่ในน้ำ บางชนิดอาศัยตามต้นไม้
ดังนั้น เราจึงเห็นได้ว่า คน พืช สัตว์ ต้องพึ่งพาอาศัยกัน รวมทั้งต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติด้วย
5.3 การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน
ทรัพยากรธรรมชาติ คือ สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่ให้ประโยชน์แก่เรา การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ มีดังนี้
1) ต้นไม้ ดอกไม้ ที่มีอยู่ หรือปลูกไว้ที่บ้าน ที่โรงเรียน หรือในชุมชน ทำให้มีความร่มรื่น ให้อากาศดี มองดูสดชื่น สวยงาม ต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา ได้มานั่งพักผ่อน ดอกไม้ใช้ประดับตกแต่งบริเวณ และสถานที่ให้สวยงาม มองดูสบายตา
2) น้ำจากแหล่งน้ำ เราใช้ดื่ม อาบ ซักเสื้อผ้า ล้างมือ ล้างสิ่งต่าง ๆ ให้สะอาด รวมทั้งใช้รดน้ำต้นไม้ให้เจริญเติบโต และใช้เลี้ยงสัตว์ด้วย
3) ดิน เป็นที่ปลูกสร้างอาคาร ปลูกหญ้าในสนาม และปลุกต้นไม้ดอกไม้ต่าง ๆ ที่สำคัญ ดินเป็นที่ปลูกข้าว พืชผัก ผลไม้ ที่เป็นอาหารของคนและสัตว์
4) อากาศ มีอยู่ในที่โล่งแจ้ง อากาศเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญของสิ่งมีชีวิต อากาศที่มีการถ่ายเททำให้เกิดลมพัน อากาศดี และบริสุทธิ์ ทำให้เรารู้สึกสดชื่น เย็นสบาย และมีร่างกายแข็งแรง
เราได้ใช้บริเวณโรงเรียน หรือชุมชนที่มีสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับพืชและสัตว์ในท้องถิ่น ลักษณะของสิ่งแวดล้อมตามสภาพจริง เพื่อให้เข้าใจประโยชน์ การพึ่งพาอาศัยกัน และรู้จักช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่ในสภาพที่ดี
5.4 คุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ
ทรัพยากรธรรมชาติ มีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของคน พืช สัตว์ และมีคุณค่าต่อการดำเนินชีวิตของคนอย่างยิ่ง ทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าสำคัญ คือ
1) อากาศ
อากาศ เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็น และสำคัญมากของสิ่งมีชีวิต ถ้าขาดอากาศ สิ่งมีชีวิตก็ต้องตาย ถ้าอากาศเสีย มีฝุ่นละออง ควันรถ ควันไฟ มีกลิ่นเหม็นเน่าของขยะ สิ่งเหล่านี้ทำอันตรายต่อชีวิตของคน ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ
โรงเรียนของเรามีสนามเป็นที่โล่งกว้าง เพื่อใช้ทำกิจกรรมหลายอย่าง เช่น เข้าแถวตอนเช้า เรียนวิชาพลศึกษา ฝึกกิจกรรมลูกเสือ – เนตรนารี รวมทั้งเป็นที่วิ่งเล่นของเราด้วย
บริเวณที่โล่งกว่าง มีอากาศดี เพราะมีการถ่ายเทของอากาศ ในชุมชนที่มีการจราจรหนาแน่น มีรถมาก ทำให้เกิดควัน และฝุ่นที่เป็นอากาศเสียและมีพิษ จึงต้องมีการปลูกต้นไม้ เพื่อช่วยดูดอากาศเสีย และให้อากาศดี
2) น้ำ
น้ำ เป็นทรัพยากรที่สำคัญมาก ถ้าไม่มีน้ำ สิ่งมีชีวิตทั้งหมดก็อยู่ไม่ได้ ต้องตาย คนเราได้นำน้ำจากแหล่งต่าง ๆ เช่น บึง สระ แม่น้ำ ลำคลอง น้ำบาดาล มาทำให้ใสและสะอาด เพื่อใช้ดื่ม ชำระล้าง และทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ อาบน้ำ แปรงฟัน ล้างภาชนะ ใช้รดน้ำต้นไม้ ใช้ทำอาหาร ใช้ซักผ้า ถูบ้าน ล้างห้องน้ำ และอื่น ๆ อีกมากมาย
เราต้องรู้จักใช้น้ำอย่างประหยัด ให้คุ้มค่า เช่น
o รินน้ำดื่มให้พอดี ไม่รินมากเกินไปจนดื่มไม่หมด แล้วเททิ้ง ซึ่งไม่ควรทำ
o ขณะแปรงฟัน ล้างมือ ล้างหน้า ฟอกสบู่ถูตัว เวลาอาบน้ำต้องปิดน้ำไว้ก่อน ไม่เปิดน้ำตลอดเวลา
o ใช้บัวรดน้ำต้นไม้ ทำให้ออกกำลังกาย
o น้ำที่ใช้แล้ว เช่น น้ำถูบ้าน น้ำล้างผัก ผลไม้ ให้รองใส่ถังไว้รดต้นไม้ หรือสนามหญ้า แต่ไม่ควรใช้น้ำที่มีสบู่ หรือ ผงซักฟอกไปรด
3) ต้นไม้
ต้นไม้ เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นสิ่งมีชีวิต ต้นไม้มีประโยชน์ต่อคนและสัตว์ เพราะทำให้มีอากาศดีใช้ในการหายใจ ช่วยทำให้เกิดฝนตก ช่วยป้องกันน้ำท่วมได้ ให้ร่มเงา เป็นอาหารของคนและสัตว์ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์หลายชนิด คนเรานำไม้จากต้นไม้มาสร้างบ้าน ทำตู้ โต๊ะ เก้าอี้ และอื่น ๆ อีกมาก การช่วยดูแลรักษาต้นไม้ในบ้าน โรงเรียน และชุมชน คือ
o ไม่เด็ดดอกไม้ ใบไม้ และไม่ดึง ไม่หักกิ่งไม้เล่น
o ช่วยรดน้ำต้นไม้ที่ปลูกในบ้านและในโรงเรียน
o ไม่ปีนป่ายต้นไม้ใหญ่ เพราะอาจจะตกลงมาทำให้บาดเจ็บ
o ลองหัดปลูกต้นไม้ที่ชอบและสนใจ พร้อมทั้งให้การดูแล
4) สัตว์
สัตว์ ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยที่คนไม่ได้เลี้ยงไว้ ซึ่งมีอยู่ทั่วไปทุกแห่ง ได้แก่
o ไส้เดือน อยู่ในดิน ช่วยทำให้ดินร่วม เหมาะแก่การปลูกพืช
o ผึ้ง ผีเสื้อ บินหาน้ำหวานจากดอกไม้ ช่วยผสมเกสรดอกไม้ แต่ตอนเป็นหนอนบุ้งของผีเสื้อ จะกัดกินใบพืชมาก และถ้าเราไปถูกจะทำให้เป็นผื่นและคัน
o นก มักจะทำรังอยู่ตามต้นไม้ ช่วยจิกกินหนอน และแมลงที่กัดกินพืช
o คางคก อึ่งอ่าง เป็นสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบก ที่ช่วยจับกินแมลง
นอกจากนี้ยังมีสัตว์ธรรมชาติอื่น ๆ แต่ไม่ค่อยมีประโยชน์ บางชนิดอาจจะให้โทษด้วย เช่น มด ปลวก ตะขาบ งู ยุง แมลงวัน
สิ่งที่ควรปฏิบัติเกี่ยวกับสัตว์ที่มีตามธรรมชาติ ได้แก่
o ไม่รังแกทำร้ายสัตว์ ไม่จับสัตว์มาเล่น
o บริเวณที่มีต้นไม้ รกรุงรัง ไม่ไปเล่นบริเวณนั้น
ส่วนสัตว์เลี้ยงที่นิยมเลี้ยงในบ้าน เช่น หมา แมว นก ปลา ควรมีสถานที่เลี้ยงที่เหมาะสม เพราะมีปัญหาเรื่องการเลี้ยงสัตว์ไว้ในบ้าน เช่น
o ส่งเสียงดัง รบกวนเพื่อนบ้านใกล้เคียง ทำให้ทะเลาะกัน
o อาจจะดุร้าย และกัดคนอื่นที่ไม่รู้จัก ทำให้ต้องเสียเงิน
o ทำให้บ้านสกปรก มีกลิ่นเหม็น มีเศษขนตามที่ต่าง ๆ ทำให้ไม่สบาย ต้องหมั่นทำความสะอาดตัวของสัตว์ ที่อยู่ ภาชนะใส่อาหาร เป็นประจำ
o ทำให้มีความกังวล ห่วงใย จะเดินทางไปที่อื่นหลายวัน ก็ไม่อยากไป หรือต้องฝาคนอื่นดูแล
o ต้องระวังโรคที่เกิดจากสัตว์ แล้วมาสู่คน เช่น โรคไข้หวัดนก โรคพิษสุนัขบ้า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น