วันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

คู่มือเตรียมสอบ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ป.1 - 2 - 3 ___ สังคม ป.3 - บทที่ 5 สืบค้นเวลา และความเป็นมาของชาติไทย (เนื้อหา)

คู่มือเตรียมสอบ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ป.1 - 2 - 3 ___ สังคม ป.3 - บทที่ 5 สืบค้นเวลา และความเป็นมาของชาติไทย (เนื้อหา)


Download - เนื้อหา 


บทที่ 5 สืบค้นเวลา และความเป็นมาของชาติไทย




     1.      ประวัติศาสตร์สัมพันธ์กับเวลา
ความหมายและความสำคัญของประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ คือ การเรียนรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นมาแล้ว และผ่านไปตามเวลา เรื่องที่มีความสำคัญ หรือมีการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อความเป็นอยู่ของกลุ่มคนอย่างมาก ได้มีการบันทึกไว้ด้วยวิธีการหลายแบบ ทำให้ผู้ที่เกิดมาทีหลังได้รับรู้ว่าเรื่องราวที่สำคัญนั้นเกิดขึ้นได้เมื่อใด มีผลอย่างไร ต่อมาถึงปัจจุบัน ประวัติศาสตร์จึงมีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับเวลาเป็นอย่างยิ่ง
ความสำคัญของประวัติศาสตร์ คือ ทำให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และเข้าใจถึงเหตุการณ์สำคัญที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งมีผลต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนในขณะนี้ จึงต้องมีข้อมูล หลักฐาน ลำดับเหตุการณ์ต่อเนื่อง สาเหตุที่เกิดขึ้น และผลของเหตุการณ์ที่ผ่านไป

    2.     เรื่องของเวลาและวันเดือนปี
1)     การเกิดเวลา
เราอาศัยอยู่บนโลก ซึ่งโลกเป็นดาวเคราะห์ที่มีการหมุนรอบตัวเอง และหมุนรอบดวงอาทิตย์ด้วย
ดวงจันทร์เป็นดาวเคราะห์ที่มีการหมุน 3 แบบ คือ หมุนรอบตัวเอง และหมุนรอบโลก และหมุนรอบดวงอาทิตย์ไปพร้อมกับโลกด้วย
ดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์ที่มีพลังงานแสงสว่าง และพลังงานความร้อนอย่างมหาศาล จึงเป็นศูนย์กลางที่มีดาวเคราะห์ต่าง ๆ หมุนรอบดวงอาทิตย์ ดังนั้น การหมุนของโลก และดวงจันทร์ จึงเกิดปรากฎการณ์ธรรมชาติ คือ เวลา วัน เดือน ปี ดังนี้
o  เวลา 24 ชั่วโมง คือ 1 วัน เกิดจากการหมุนรอบตัวเองของโลก 1 รอบ เป็นเวลากลางวัน 12 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่ เช้า สาย เที่ยง บ่าย เย็น และเป็นเวลากลางคืน 12 ชั่วโมง ตั้งแต่ ย่ำค่ำ ดึก ไปจนถึงย่ำรุ่ง
o  เวลา 1 เดือน เกิดจากการหมุนของดวงจันทร์รอบโลก 1 รอบ เป็นเวลา 29 – 30 วัน หรือ 1 เดือน โดยเริ่มจากหันด้านสว่างเพิ่มขึ้นในแต่ละคืนในเวลา 15 คืน ดวงจันทร์สว่างเต็มดวง เรียกว่า ข้างขึ้น
เมื่อมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงในคืน 15 ค่ำ แล้ว ต่อไปเป็นคืนแรม 1 ค่ำ จนถึงแรม 14 ค่ำ หรือ 15 ค่ำ ดวงจันทร์จะค่อย ๆ แหว่งหายไป เพราะหันด้านมือให้เราเห็น ดวงจันทร์ครึ่งดวง จนถึงเสี้ยวเล็ก ๆ และมองไม่เห็นดวงจันทร์เลยทั้งคืน เรียกว่า ข้างแรม ซึ่งมีระยะเวลา 14 – 15 คืน
o  เวลา 1 ปี เกิดจากการหมุนของโลกรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบ ซึ่งในขณะที่โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์นั้น โลกก็หมุนรอบตัวเองเป็นเวลา 365   วัน  และในขณะเดียวกันที่ดวงจันทร์ หมุนรอบโลกได้ 12 รอบด้วย
สรุป การเกิดช่วงเวลาตามที่กล่าวไป จะเกิดปรากฎการณ์ธรรมชาติที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ดังนี้
o  1 วัน มี 24 ชั่วโมง แต่ละวันจะเกิดกลางวันและกลางคืน
o  1 เดือนมี 29 – 30 วัน แต่ละเดือนจะเกิดข้างขึ้นและข้างแรม
o  1 ปี มี 12 เดือน หรือ 365 วัน กับอีก 6 ชั่วโมง ดังนั้นในช่วงเวลา 4 ปี จึงต้องมีวันเพิ่มอีก 1 วัน เป็น 366 วัน โดยเพิ่มอีก 1 วัน ในเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้ปีนั้นเดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน ในรอบ 1 ปี จะเกิดฤดูกาลต่าง ๆ เช่น ฤดู ร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว

2)    การนับปีตามศาสนา
การนับปีตามศาสนาที่สำคัญควรรู้ คือ
(1)   พุทธศักราช (พ.ศ.) คือ จำนวนปีที่นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน โดยนับ พ.ศ. 1 เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว 1 ปี เป็นการนับปีของผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา
(2)   คริสต์ศักราช (ค.ศ.) คือ จำนวนปีที่นับตั้งแต่วันประสูติของพระเยซู เป็นการนับปีของผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งเป็นที่รู้จัก และยอมรับเป็นหลักสากลทั่วโก คริสต์ศักราชเกิดหลังพุทธศักราชเป็นเวลา 543 ปี
(3)   ฮิจเราะห์ศักราช คือ จำนวนปีที่นับตั้งแต่วันหนีภัยของพระนบีมูฮัมมัด เป็นการนับปีของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ฮิจเราะห์ศักราชเกิดหลักพระพุทธศาสนาเป็นเวลา 1,124 ปี
    
3)    การนับวัน เดือน ปี ตามแบบจันทรคติ หรือ แบบไทย
การนับวัน เดือน ปี ตามแบบจันทรคติ หรือแบบไทย หมายถึง การนับช่วงเวลา โดยยึดการโคจรของดวงจันทร์เป็นหลัก ดังนี้
o  การนับวัน จะนับวันเป็นข้างขึ้น 15 วัน และข้างแรม 14 – 15 วัน เริ่มต้นจากข้างขึ้นที่ยังมองไม่เห็นดวงจันทร์ แล้วคืนต่อมา ค่อยสว่างขึ้นจนเต็มดวง เป็นเวลา 15 วัน เรียกวันขึ้น 15 ค่ำ ที่มีดวงจันทร์เต็มดวงว่า คืนเดือนหงาย
ต่อจากนั้น เริ่มวันแรม 1 ค่ำ ที่พระจันทร์ยังคงเต็มดวงอยู่แล้วค่อย ๆ แหว่งหายไป จนถึง 14 – 15 วัน ดวงจันทร์จะมืดทั้งดวง ช่วงนี้เรียกว่า ข้างแรม ซึ่งวันแรม 14 – 15 ค่ำ เรียกว่าคืนเดือนมืด
o  การนับเดือน ในทางจันทรคติจะเรียกตามลำดับเดือน โดย 2 เดือนแรก จะมีชื่อเรียนเฉพาะ คือ
§  เดือนที่ 1 เรียก เดือนอ้าย
§  เดือนที่ 2 เรียก เดือนยี่
§  เดือนที่ 3 ถึงเดือนที่ 12 เรียกตามลำดับ ว่า เดือน สาม เดือน สี่ ไปจนถึงเดือนสิบสอง
เนื่องจากเดือนทางจันทรคติมี 2 ลักษณะ คือ
(1)   เดือนคี่ หรือ เดือน ขาด มี 29 วัน คือ มีวันข้างขึ้น 15 วัน และวันข้างแรม 14 วัน ได้แก่ เดือนอ้าย เดือนสาม เดือนห้า เดือนเจ็ด เดือนเก้า และเดือนสิบเอ็ด
(2)   เดือนคู่ หรือเดือนเต็ม มี 30 วัน  คือ มีวันข้างขึ้น 15 วัน และวันข้างแรม 15 วัน ได้แก่ เดือนยี่ เดือนสี่ เดือนหก เดือนแปด เดือนสิบ และเดือนสิบสอง
การนับวัน และเดือนทางจันทรคตินี้ ยังมีใช้กันอยู่วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และทางประเพณี เช่น
1)     วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3
2)     วันวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6
3)     วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8
4)     วันเข้าพรรษา ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8
5)     วันลอยกระทง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12

o  การนับปี ในทางจันทรคติ หรือ นับปีแบบไทย จะนับตามปีนักษัตร กำหนด 12 ปี เป็น 1 รอบ แต่ละปี มีสัญลักษณ์สำคัญเป็นสัตว์ประจำปี เช่น
1 ปี ชวด – หนู , 2 ปี ฉลู – วัว , 3 ปีขาล – เสือ ไปจนถึง 12 ปีกุน – หมู

วิธีเขียน และอ่านการบอกเวลาทางจันทรคติ
เขียนโดยใช้ตัวเลขไทย และสัญลักษณ์ โดยมีวิธีการอ่าน เช่น
 อ่านว่า วันอังคาร ขึ้น 7 ค่ำ เดือน อ้าย
 อ่านว่า วันศุกร์ แรม 9 ค่ำ เดือนแปด

ความหมายของการเขียน และอ่านเวลาทางจันทรคติ
§  เลขตัวแรก หมายถึง ชื่อของวันใน 1 สัปดาห์ เริ่มวันอาทิตย์ คือเลข ๑
§  ตัวเลขที่อยู่บนเครื่องหมายไปยาลน้อย (ฯ) หมายถึง ข้างขึ้น
§  ตัวเลขที่อยู่ล่างเครื่องหมายไปยาลน้อย (ฯ) หมายถึง ข้างแรม
§  ตัวเลขตัวสุดท้าย หมายถึง ลำดับเดือน

4)    การนับวัน เดือน ปี ตามแบบสุริยคติ หรือแบบสากล
การนับวัน เดือน ปี ตามแบบสุริยคติ หรือแบบสากล หมายถึง การนับช่วงเวลา โดยยึดการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์เป็นหลัก ดังนี้
o  การนับวัน เป็นการนับระยะเวลาที่โลกหมุนรอบตัวเอง 1 รอบ ใช้เวลา 24 ชั่วโมง การกำหนดวัน มี 2 แบบ คือ
(1)   กำหนดชื่อวัน 7 วัน เริ่มต้นจาก วันอาทิตย์ วันจันทร์ วันอังคาร วันพุธ วันพฤหัสบดี วันศุกร์ และ วันเสาร์ เรียกว่า เป็นเวลา 1 สัปดาห์
(2)   กำหนดเป็นวันที่ โดยใช้ตัวเลข ในเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 30 หรือ วันที่ 31
o  การนับเดือน เป็นการนับระยะเวลาที่ดวงจันทร์ โคจรหรือหมุนรอบโลก 1 รอบ ใช้เวลาประมาณ 30 หรือ 31 วัน มีทั้งหมด 12 เดือน โดยเริ่มต้นเดือนแรกคือ เดือนมกราคม จนถึงเดือนที่ 12 คือ เดือนธันวาคม
§  เดือนที่ลงท้ายด้วยคม ใน 1 เดือน มี 31 วัน เป็นจำนวน 7 เดือน
§  เดือนที่ลงท้ายด้วยยน ใน 1 เดือน มี 30 วัน เป็นจำนวน 4 เดือน
§  เดือน กุมภาพันธ์ มี 28 หรือ 29 วัน
o  การนับปี เป็นการนับระยะเวลาที่โลกและดวงจันทร์หมุนรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบ เป็นเวลา 365 วัน 6 ชั่วโมง พอครบ 4 ปี ต้องเพิ่มอีก 1 วัน เป็น 366 วัน โดยเพิ่มในเดือนกุมภาพันธ์ในปีนั้นมี 29 วัน จึงเรียกปีที่เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน หรือ ปีที่มีจำนวน 366 วันว่า ปี อธิกสุรทิน

การนับปีตามแบบสุริยคติ จะนับปีตามศาสนา คือ จะมีคำว่า พุทธศักราช (พ.ศ.) หรือ คริสต์ศักราช (ค.ศ.) อยู่หน้าตัวเลขจำนวนปีตามศาสนา
วิธีเขียนหรืออ่านวัน เดือน ปี ตามแบบสุริยคติ หรือ แบบสากล เช่น
วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 หรือ
      วันที่  19 พฤษภาคม ค.ศ. 2008


     3.     การเปรียบเทียบเวลาตามที่ปรากฏในปฏิทิน
ปฏิทิน คือ เครื่องมือในการบอกเวลา เป็นวัน เดือน ปี โดยมีการจัดพิมพ์ 3 แบบ คือ แบบรายวัน แบบรายเดือน และแบบรายปี แต่ส่วนมากนิยมจัดพิมพ์แบบรายเดือน
การเปรียบเทียบเวลาทั้งทางจันทรคติ และทางสุริยคตินั้น เราสามารถดูได้จากปฏิทินที่เป็นรายเดือน ซึ่งจะสะดวกและมีรายละเอียดมากกว่าแบบอื่น






ตัวอย่างปฏิทิน เดือนตุลาคม พ.ศ. 2551
          ตามตัวอย่าง เดือนตุลาคม พ.ศ. 2551 นี้ แสดงให้เห็นการบอกเวลาทางสุริยคติ และทางจันทรคติ คือ
o  วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันออกพรรษา และเป็นวันพระด้วย เป็นการนับทางจันทรคติ ซึ่งตรงกับทางสรุยคติ คือ วันอังคารที่ 14 ตุลาคม
o  วันที่ 23 ตุลาคม เป็นวันปิยมหาราช หมายถึง วันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราชกาลที่ 5 เป็นการนับทางสุริยคติ
o  นอกจากนี้ยังบอกวันที่เป็นวันพระ ซึ่งตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำ วันขึ้น 15 ค่ำ วันแรม 8 ค่ำ และวันแรม 14 หรือ 15 ค่ำ ด้วย





       4.      ข้อมูลและวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์
1)     แหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์
การเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ในอดีตที่ผ่านไป ต้องมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นข้อมูลในการประกอบเหตุผลจากการศึกษาค้นคว้า และเป็นสิ่งอ้างอิงที่เชื่อมั่นได้ว่าเป็นไปได้จริง หลักฐานและร่องรอยทางประวัติศาสตร์ ที่เรียกว่า แหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ มีลักษณะที่ใช้อ้างอิงได้ 3 ประเภท คือ
1)  สถานที่ ได้ที่ ที่ตั้งของชุมชนเก่าแก่ โบราณสถานที่เป็นสิ่งก่อนร้างมานานนับพันปี หรือร้อยปี เช่น ปราสาทหิน วัด เจดีย์ โบสถ์ วิหาร อนุสาวรีย์ ภาพแกะสลัก หรือภาพเขียนตามฝาผนังในถ้ำ หรือตามภูเขา แต่ละแห่งย่อมมีเรื่องราวและประวัติที่มาของการสร้างในอดีต
2)   วัตถุ ได้แก่ สิ่งของเครื่องใช้ที่เคลื่อนย้ายได้ ส่วนมากมีการรวบรวมจัดเก็บไว้ตามพิพิธภัณฑ์ หรือตามวัดบางแห่ง เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รู้จักและศึกษา เช่น พระพุทธรูป เครื่องประดับโบราณ เครื่องปั้นดินเผา อาวุธ ถ้วยชามเครื่องใช้ต่าง ๆ
3)   ตัวอักษร ได้แก่ หลักศิลาจารึก จดหมายเหตุ วรรณคดี นิทาน พงศาวดาร ตำนาน บันทึกทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักฐานที่บันทึกเป็นตัวอักษร ได้แสดงถึงวัฒนธรรมทางภาษา และต้องการให้คนรุ่นหลังได้รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ในอดีต

2)    วิธีการศึกษาประวัติศาสตร์
ชุมชนหรือท้องถิ่นของเรา อาจมีประวัติหรือเรื่องราวความเป็นมาในอดีต ที่เป็นเหตุการณ์ หรือเรื่องของบุคคลที่น่าสนใจ ซึ่งวิธีการหารข้อมูลเพื่อศึกษาประวัติของท้องถิ่น รวมทั้งประวัติศาสตร์ของชาติไทยในเบื้องต้น มีดังนี้
(1)  ถามเรื่องราวจากบุคคล
เราสามารถซักถามประวัติที่มาของท้องถิ่น บุคคลที่ควรรู้จัก ประเพณี การทำมาหากินที่มีสืบต่อกันมาในชุมชน จากพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย หรือผู้รู้ในท้องถิ่น เช่น  พระสงฆ์ ครู คนเฒ่า คนเก่ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ยินดีบอกเล่าเรื่องราวแก่ลูกหลานที่สนใจ นับว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก
(2) การไปศึกษาสถานที่จริง
เพื่อการศึกษาสถานที่สำคัญในท้องถิ่น หรือมีโอกาสได้ไปเที่ยวชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แหล่งอื่นที่น่ารู้ จะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่มีความหมาย สร้างความภูมิใจ ความรัก และหวงแหนสิ่งที่มีคุณค่าของชาติ ทางประวัติศาสตร์ เราทุกคนต้องมีจิตสำนึกที่ช่วยกันดูแลรักษา ไม่ทำลาย และหวงแหนสิ่งที่มีคุณค่าของประเทศ
(3) ศึกษาและสืบค้นข้อมูล
สถานที่บางแห่งเรายังไม่มีโอกาสได้ไปจริง แต่เราสามารถสืบค้นข้อมูลเพื่อศึกษาเรียนรู้ได้ โดยการอ่านเอกสาร หรือหนังสือที่บันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไว้มากมาย หรือค้นคว้าจากระบบการเก็บข้อมูลที่ทันสมัย ทำให้เราสามรถศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่สำคัญของชาติได้เป็นอย่างดี หากยังมีข้อสงสัยหรือยังสับสนอยู่ เราควรสอบถามจากครูหรือผู้ใหญ่เพื่อให้เข้าใจยิ่งขึ้น

5.      ประวัติความเป็นมาของชาติไทย
ชาติของเรา คือ ชาติไทย เป็นชาติที่เก่าแก่ มีความเป็นมาที่ยาวนาน มีขอบเขตของดินแดนที่มั่นคงเป็นปึกแผ่น และมีเอกราช ไม่อยู่ภายใต้การปกครองของชาติอื่น คนที่เกิดและอาศัยอยู่ในแผ่นดินไทย เรียกว่า คนไทย
1)     ความหมายของชาติและเอกราช
ชาติ มายถึง ประเทศ หรือแผ่นดินที่มีขอบเขตแน่นอน
เอกราช หมายถึง ความเป็นอิสระ มีเสรีภาพ ไม่อยู่ภายใต้การปกครองของชาติอื่น
ชาติไทยของเรา มีเรื่องราวที่เป็นประวัติศาสตร์มานานนับพันปี ในฐานะที่เราเป็นคนไทย จึงต้องเรียนรู้เรื่องของชาติไทยในอดีต เพื่อให้รู้เหตุการณ์ที่ต่อเนื่อง และเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงในแต่ละสมัย ตลอดจนให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในแผ่นดินไทยของเรา ที่มีบรรพบุรุษได้ยอมเสียสละชีวิตและเลือดเนื้อ เพื่อปกป้องรักษาแผ่นดินที่เป็นชาติไทยของเราด้วยความหวงแหนไว้ให้แก่ลูกหลานไทยของเรา
ดังนั้น คนไทยในยุคปัจจุบันต้องรู้และศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทย สำนึกในความเป็นไทย ที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ ช่วยกันดูแลรักษาไว้ให้คงอยู่ตลอดไป โดยไม่เสื่อมสลาย
2)     กษัตริย์ผู้ทรงมีพระคุณของชาติไทย
เราได้เรียนรู้มาแล้วว่า ชาติไทยของเรามีพระมหากษัตริย์ คือ พระเจ้าแผ่นดิน ผู้ทรงเป็นประมุขของชาติ ทรงเป็นผู้นำในการปกป้องและรักษาดินแดนให้รอดพ้นจากข้าศึกที่จะเข้ามายึดครอง แม้บางครั้ง ประเทศชาติอาจจะประสบปัญหา แต่พระมหากษัตริย์ของเราทรงแก้ไขวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ให้ผ่านพ้นไปได้ รวมทั้งทรงปรับปรุงและพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างเหมาะสม เราเรียนรู้ว่ากษัตริย์ผู้สร้าง หมายถึง พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงสร้างอาณาจักร และปกครองพระองค์แรกของแต่ละยุคสมัย เรายังต้องเรียนรู้ถึงกษัตริย์ผู้มีพระคุณต่อคนไทยและชาติไทยอย่างมากมายมหาศาล และได้ถวายพระราชสมัญญาว่า มหาราช” หมายถึง พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงมีคุณงามความดีที่ยิ่งใหญ่ และเป็นกษัตริย์ผู้มีพระคุณต่อชาติไทย
กษัตริย์ผู้มีพระคุณ หมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน ผู้มีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงต่อชาติไทย บางพระองค์ทรงกอบกู้เอกราชจากข้าศึกศัตรู บางพระองค์ทรงปกครองประเทศโดยสร้างความเจริญรุ่งเรืองในด้านต่าง ๆ มากมายเป็นพิเศษ เราควรทราบ ดังนี้
(1)   พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ในสมัยกรุงสุโขทัย ทรงคิดประดิษฐ์อักษรไทย ปกครองราษฎรให้มีความสุขความเจริญ ทรงรับศาสนาพุทธเข้ามรให้คนไทยศรัทธาและนับถือกันอย่างแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบันนี้
(2)   สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ทรงมีความกล้าหาญในการรบ ทรงกอบกู้เอกราชของชาติ ที่ได้เสียกรุงครั้งที่ 1 เป็นเมืองขึ้นของข้าศึกถึง 15 ปี
(3)   สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ทรงทำนะบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองมาก ทั้งในด้านการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ ความเจริญทางด้านศิลปวัฒนธรรม
(4)   สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในสมัยกรุงธนบุรี ทรงกอบกู้เอกราชของชาติที่ได้เสียงกรุงศรีอยุธยาแก่ข้าศึกเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งมีความเสียหายรุนแรงมาก จึงทรงตั้งเมืองหลวงใหม่ที่กรุงธนบุรี พระองค์ทรงรวบรวมผู้คนที่แตกแยกออกไปให้กลับคืนมาเป็นชาติไทยเช่นเดิม
(5)   สมเด็จพระปิยมหาราช ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายอยางเพื่อเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ทรงเลิกทาส ตั้งโรงเรียน ทรงปรับปรุงการปกครอง การคมนาคม และอื่น ๆ อีกหลายด้าน พระองค์ทรงได้รับการเทิดประเกียรติเป็น สมเด็จพระปิยมหาราช” หมายถึง พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ อันเป็นที่รัก และเคารพสักการะของปวงชนชาวไทย


3)     ภูมิปัญญา
ภูมิปัญญาไทย หมายถึง สิ่งต่าง ๆ ที่คนไทยได้คิดทำขึ้น เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตประจำวัน  เป็นความรู้ความสามารถโดยเฉพาะ ที่มีความสัมพันธ์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นที่อาศัยแต่ละแห่ง ภูมิปัญญาไทยแสดงให้เห็นชัดเจนในเรื่องที่เกี่ยวกับการทำมาหากินและปัจจัย 4 อย่าง มีดังนี้
o  การทำมาหากิน คนไทยในแต่ละท้องถิ่นสมัยก่อน ได้คิดเครื่องมือเครื่องใช้ที่ช่วยในการทำงาน เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ต้องการ เช่น การไถนา โดยใช้ไถคราดดินเพื่อปลูกข้าว การจับสัตว์น้ำโดยใช้เบ็ด ไซ สุ่ม ยอ ฯลฯ การทอผ้าโดยใช้กี่กระตุก เป็นต้น
o  อาหารไทย ใช้ผลผลิตที่เป็นพืชและสัตว์ในท้องถิ่นมาปรุงเป็นอาหารได้หลายอย่าง มีทั้งอาหารที่นิยมกินในแต่ละภาคของไทย เช่น ต้มยำกุ้ง แกเหลือง แกงฮังเล ข้าวเหนียวไก่ย่าง ส้มตำ อาหารไทยส่วนมากจะมีรสจัด
o  ที่อยู่อาศัย บ้านไทยมักจะสร้างด้วยไม้ ให้มีหลังคาสูงเพื่อระบายอากาศ และรับลมมีใต้ถุนสูงเพื่อให้พ้นน้ำท่วม และอันตรายจากสัตว์มีพิษ แต่ปัจจุบันที่อยู่อาศัยมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่เป็นตึก อยู่รวมกันหลายครอบครัว ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ ทำให้ใช้ไฟฟ้ากันมาก
o  เครื่องนุ่งห่ม เรามีผ้าไทยที่เป็นผ้าไหม ผ้าฝ้าย ทอลวดลายสวยงาม นำมาตัดเป็นชุดที่งดงาม ซึ่งเป็นการแต่งชุดไทย และชุดสากลนิยมทั้งชายและหญิง
o  ยารักษาโรค คนไทยมีภูมิปัญญาที่นำตัวยารักษาโรคที่ได้จากพืชมากมาย เรียกว่า สมุนไพร ที่มีคุณภาพ ใช้รักษาอาการเจ็บป่วยได้หลายชนิด สมุนไพรบางอย่างมาจากพืชผักพื้นบ้านที่เป็นอาหารของเรา

4)     โบราณสถาน โบราณวัตถุ
โบราณสถาน โบราณวัตถุ เป็นสถานที่และสิ่งของต่าง ๆ ที่ได้สร้างมานานแล้ว และยังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงวัฒนธรรมของไทยในอดีต บางอย่างเป็นร่องรอยที่ไม่ใช้การแล้ว บางอย่างยังคงใช้ประโยชน์อยู่
o  โบราณสถาน ในแต่ละท้องถิ่นส่วนใหญ่จะเป็นเจดีย์ วัดวาอาราม ซึ่งเป็นที่รู้จัก และเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ที่ทำให้เกิดอันตรายได้หลายแห่ง เช่น พระธาตุดอยสุเทพที่จังหวัดเชียงใหม่ เจดีย์พระธาตุจอมกิตติที่จังหวัดเชียงราย วัดพระศรีรัตนศาสดารามที่กรุงเทพมหานคร ปราสาทหินพิมายที่จังหวัดนครราชสีมา ปราสาทพนมรุ้งที่จังหวัดบุรีรัมย์ พระธาตุพนม ที่จังหวัดนครพนม พระบรมธาตุที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น
o  โบราณวัตถุ เป็นสิ่งที่เคลื่อนย้ายได้ และสร้างมานานแล้ว ส่วนมากจะเป็นพระพุทธรูป เครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับ อาวุธโบราณ รวมทั้งเสื้อผ้า หรือผ้าทอโบราณ ตลอดจนสิ่งของเครื่องใช้เก่าแก่ที่ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบันก็มีอยู่บ้าง โบราณวัตถุที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ จะมีการจัดเก็บรักษา และแสดงเป็นนิทรรศการที่พิพิธภัณฑสถานต่าง ๆ ของจังหวัด และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติด้วย

5)     บุคคลสำคัญในท้องถิ่น
บุคคลสำคัญในท้องถิ่น คือ ผู้ที่ทำประโยชน์ให้แก่กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่น เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ในปัจจุบัน ส่วนมากจะหมายถึง ผู้ที่ทำหน้าที่หัวหน้าในท้องถิ่น ที่ดูแลความสงบเรียบร้อย และสร้างความเจริญให้แก่ท้องถิ่น เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ พระสงฆ์ แต่บุคคลสำคัญที่จะกล่าวนี้ เป็นบุคคลที่ทำคุณงามความดีในอดีตที่มีผู้ยกย่อง เคารพนับถือ และได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ไว้เป็นที่ระลึกด้วย
บุคคลสำคัญในท้องถิ่นที่ควรรู้ ได้แก่
ก.      สุนทรภู่
สุนทรภู่ เป็นกวีที่มีชื่อเสียงมาก ท่านมีผลงานในการแต่งหนังสืออ่านมากมาย ท่านเกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ บิดาเป็นคนอำเภอแกลง จังหวัดระยอง มารดาเป็นแม่นมในพระธิดาของกรมพระราชวังหลัง ต่อมาได้แยกทางกัน บิดาไปบวชอยู่ที่อำเภอแกลง ท่านจึงอยู่กับมารดา และได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่วัดชีปะขาว มีความรู้แตกฉานด้านภาษา จึงมีนิสัยชอบบทร้อยกรองมาตั้งแต่เยาว์วัย
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) สุนทรภู่เข้ารับราชการอยู่ในกรมอาลักษณ์ สามารถแต่งบทกวีเป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่ 2 มาก จึงได้รับแต่งตั้งเป็นสุนทรโวหาร
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) สุนทรภู่ออกจากราชการไปบวชอยู่ประมาณ  6 – 7 พรรษา จึงได้สึก ระยะนี้เป็นช่วยที่ท่านต้องลำบาง เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระองค์โปรดให้สุนทรภู่เข้ารับราชการอยู่ในกรมอาลักษณ์อีก และโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระสุนทรโวหาร และรับราชการต่อมาจนถึงแก่กรรม ใน พ.ศ. 2398 รวมอายุ 70 ปี
สุนทรภู่เป็นกวีเอก มีผลงานด้านวรรณกรรมที่มีความไพเราะของภาษา มีสำนวนที่แฝงข้อคิดให้คติสอนใจแก่ผู้อ่าน งานของท่านส่วนมากจะเป็นบทกลอน ที่นับว่าเป็นมรดกล้ำค่า ได้แก่ นิราศภูเขาทอง นิราศเมืองแกลง โคลงนิราศสุพรรณ พระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม เป็นต้น ทางการได้จัดสร้างอนุสาวรีย์ของสุนทรภู่อยู่ที่บ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง และนางเงือก ซึ่งเป็นตัวละครตัวเองในเรื่องพระอภัยมณี ที่เป็นยอดนิทานคำกลอนที่คนไทยทุกยุคทุกสมัยรู้จักและคุ้นเคยดี
ปี พ.ศ. 2529 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า องค์การยูเนสโก ได้ประกาศรับรองพระสุนทรโวหาร (ภู่) กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประเทศไทย เป็นบุคคลที่มีผลงานดีเด่นในด้านศิลปวัฒนธรรม และยกย่องให้เป็นกวีเอกของโลกด้วย

ข.      ท้าวเทพกษัตรี และท้าวศรีสุนทร
ท้าวเทพกษัตรี เดิมชื่อ จัน ท้าวศรีสุนทร เดิมชื่อ มุก เป็นพี่น้องกัน นางจันสมรสกับพระยาถลาง จึงได้บรรดาศักดิ์เป็น คุณหญิงจัน
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2328 ซึ่งเป็นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ รัชกาลที่ 1 ได้มีศึกสงครามกับพม่า โดยพระเจ้าปะดุง กษัตริย์พม่า ยกกองทัพมาทำสงครามกับไทยถึง 9 ทัพ และมีทัพหนึ่งยกมาตีเมืองถลาง ซึ่งมียี่หวุ่น เป็นแม่ทัพจะมาโจมตีไทย
ในขณะนั้น เจ้าเมือถลางเพิ่งถึงแก่กรรม คุณหญิงจันซึ่งเป็นภรรยา กับคุณมุกน้องสาว และกรมเมืองได้เกณฑ์ผู้คนช่วยกันสร้างค่าย แล้ววางอุบายให้หญิงแต่งกายเป็นชายเดินปะปนไปกับทหารและชาวบ้าน เพื่อหลอกพม่าให้เห็นว่าฝ่ายไทยมีทหารมาเพิ่มตลอดเวลา ทำให้พม่าไม่กล้าโจมตี เพียงแต่ล้อมเมืองไว้ ต่อมาเสบียงอาหารของฝ่ายพม่าขาดแคลนจึงยกทัพกลับไป เมืองถลางจึงไม่ได้รับความเสียหาย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงทราบถึงวีกรรมความกล้าหาญของคุณหญิงจันและคุณมุก ที่วางแผน และช่วยกันป้องกันเมืองถลางไว้ได้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้คุณหญิงจันเป็นท้าวเทพกษัตรี และคุณมุก เป็นท้าวศรีสุนทร ซึ่งมีอนุสาวรีย์ของท่านทั้งสอง ได้ประดิษฐานอยู่ที่สี่แยกท่าเรือ จังหวัดภูเก็ต

ค.      ท้าวสุรนารี
ท้าวสุรนารี เดิมชื่อโม เป็นบุตรีของนายกีบ และนางบุญมา ท่านได้แต่งงานกับพระยาปลัด รองเจ้าเมืองนครราชสีมา จึงมีบรรดาศักดิ์เป็นคุณหญิงโม
ใน พ.ศ. 2368 เป็นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นต้นรัชกาล เจ้าอนุวงศ์ ผู้ครองเมืองเวียงจันทน์ เป็นกบฏ ได้ยกทัพใหญ่จะเข้ามาตีกรุงเทพมหานคร โดยเดินทางผ่านมาทางเมืองนครราชสีมา ขณะนั้น พระยานครราชสีมา แลพระยาปลัดรองเจ้าเมืองไม่อยุ่ ต้องไปราชการที่เมืองขุขันธ์ เจ้าอนุวงศ์ได้กวาดต้อนชาวเมือง และเสบียงอาหารกลับเวียงจันทร์ ซึ่งตอนแรกชาวเมืองไม่ได้ต่อต้าน เพราะพระเจ้าอนุวงศ์หลอกว่าจะยกกองทัพไปช่วยทางกรุงเทพฯ เพราะมีข้าศึกยกทัพมาประชิดระนคร

ในขณะที่ชาวเมืองถูกกวาดต้อนไปนั้น คุณหญิงโมก็ถูกจับไปด้วย ท่านได้คิดวางแผนออกอุบาย นำพวกชาวเมืองที่ถูกกวาดต้อนเข้าโจมตี จนทหารลาวถูกฆ่าตายจนหมด เมื่อพระบาทสมเด็นพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงทราบถึงวีรกรรมความกล้าหาญของคุณหญิงโม จงโปรดเกล้าฯ ให้คุณหญิงโมเป็นท้าวสุรนารี ซึ่งชาวเมืองได้สร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ประดิษฐานอยู่ที่หน้าประตูชุมพล อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครราชสีมา








Download - เนื้อหา













ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Blog เพื่อนการศึกษา

***Blog เพื่อนการศึกษา*** สรุปเนื้อหาเข้า ป.1 - ม.6 สรุปเนื้อหา - วิชาสังคมศึกษา ป.3 (สรุปตามสาระการเรียนรู้) แบบทดสอบประจำหน่วยการเรียนรู...