วันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

คู่มือเตรียมสอบ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ป.1 - 2 - 3 ___ สังคม ป.2 - บทที่ 5 สืบค้นเวลา และความเป็นมาของชาติไทย (เนื้อหา)

คู่มือเตรียมสอบ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ป.1 - 2 - 3 ___ สังคม ป.2 - บทที่ 5 สืบค้นเวลา และความเป็นมาของชาติไทย (เนื้อหา)



Download - เนื้อหา 

บทที่ 5 สืบค้นเวลา และความเป็นมาของชาติไทย



    1.  การนับช่วงเวลา
การนับช่วงเวลาที่ควรรู้ มี 3 แบบ
1.1   นับช่วงเวลา 1 วัน
นับช่วงเวลา 1 วัน เป็นเวลากลางวัน 12 ชั่วโมง และกลางคืน 12 ชั่วโมง โดยดูจากดวงอาทิตย์ แต่เวลาที่ย่อยลงไป ต้องอาศัยเครื่องมือในการดูเวลา คือนาฬิกา ซึ่งมีหน่วยบอกเวลาเป็น ชั่วโมง นาที และวินาที ใน 1 วัน มี 24 ชั่วโมง เข็มสั้น บอกเวลาเป็นชั่วโมง เข็มยาว บอกเวลาเป็นนาที เข็มยาวเล็กเดินเร็วบอกเวลาเป็นวินาที เวลาเที่ยงวัน และเวลาเที่ยงคืน เข็มสั้นและเข็มยาวจะอยู่ตรงที่เลข 12 พอดี
ในแต่ละวัน จะมีชื่อเรียกต่างกัน 7 ชื่อ โดยเรียงตามลำดับ ครบ 7 วัน เรียกว่า 1 สัปดาห์ ก็เริ่มด้นเรียงวนใหม่เหมือนเดิม ชื่อของวันเป็นชื่อของดาวในท้องฟ้า และมีสีประจำวันด้วย เราควรจำชื่อวัน และสีของวันแต่ละวัน โดยการอ่าน และเขียนคำให้ถูกต้อง ดังนี้
1)     วันอาทิตย์ – สีแดง
2)     วันจันทร์ – สีเหลือง
3)     วันอังคาร – สีชมพู
4)     วันพุธ – สีเขียว
5)     วันพฤหัสบดี – สีส้ม
6)     วันศุกร์ – สีฟ้า
7)     วันเสาร์ – สีม่วง

1.2   นับช่วงเวลา 1 เดือน
นับช่วงเวลา 1 เดือน ในเวลา 1 เดือน มีจำนวนวัน 30 วัน หรือ 31 วัน มีเพียง เดือนเดียวที่มีจำนวนวันเพียง 28 หรือ 29 วัน แต่ละเดือนมีชื่อต่างกัน 12 ชื่อ เราต้องเรียนรู้และจำลำดับชื่อเดือน และฝึกสังเกตจำนวนวันในแต่ละเดือน ดังนี้
1)     เดือนมกราคม                    มี 31 วัน
2)     เดือนกุมภาพันธ์        มี 28 – 29 วัน
3)     เดือนมีนาคม            มี 31 วัน
4)     เดือนเมษายน           มี 30 วัน
5)     เดือนพฤษภาคม        มี 31 วัน
6)     เดือนมิถุนายน          มี 30 วัน
7)     เดือนกรกฎาคม         มี 31 วัน
8)     เดือนสิงหาคม           มี 31 วัน
9)     เดือนกันยายน           มี 30 วัน
10) เดือนตุลาคม             มี 31 วัน
11) เดือนพฤศจิกายน       มี 30 วัน
12) เดือนธันวาคม           มี 31 วัน

     2.  คุณค่าของเวลาในการดำเนินชีวิต
เวลาที่ผ่านไปแล้ว จะย้อนกลับคืนมาอีกไม่ได้ เรารู้อายุของเราเพราะมีการบันทึกเวลา วัน เดือน ปี เกิด ถึงเวลาที่เราต้องเรียนหนังสือในโรงเรียนตามลำดับชั้น ตั้งแต่ชั้นอนุบาล ชั้นประถมศึกษา ชั้นมัธยมศึกษา จนถึงระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งบางคนมีโอกาสได้เรียนมาก บางคนมีโอกาสได้เรียนน้อยในวัยเด็ก แต่เราสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตจากการทำงาน เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ เพราะการทำงานเป็นการเรียนรู้ที่ต้องปฏิบัติจริงของชีวิต
คนที่ไม่ใส่ใจเรียนรู้ขณะที่ยังเป็นนักเรียน เอาแต่เล่นมากเกินไป เกียจคร้าน ไม่ฝึกตัวเองในการทำงาน จึงเป็นผู้ที่ไม่รู้จักคุณค่าของเวลา เพราะทิ้งเวลาไปอย่างน่าเสียดาย เมื่อเติบโตขึ้น จะทำให้เกิดความลำบาก และยุ่งยากในการทำงาน เพราะขาดการเรียนรู้ และขาดการฝึกฝน รวมทั้งการดำรงชีวิต ก็จะยากลำบาก เกิดปัญหาที่แก้ไขยาก

    3. ประวัติข้อมูลในด้านการศึกษาของตนเอง
เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติส่วนตัว ประวัติครอบครัว และข้อมูลของที่อยู่อาศัย โดยการสอบถามและบันทึกเป็นข้อมูลที่สำคัญไว้ เมื่อเรามาศึกษาหาความรู้ที่โรงเรียน เราตั้งใจฝึกอ่าน เขียน คิด และทำงานที่ครูมอบหมายให้ เราต้องสอบวัดผลการเรียนรู้ และบันทึกไว้เป็นข้อมูลในด้านการศึกษาตั้งแต่เริ่มเรียน โดยมีเอกสารหลักฐานที่บันทึกเป็นประวัติข้อมูลในการเรียน ซึ่งเอกสารนี้ใช้สำหรับการเรียนต่อในระดับสูง รวมทั้งเป็นเอกสารสำคัญในการทำงานเมื่อเรียนสำเร็จ
ประวัติข้อมูลการศึกษาในระดับชั้นเริ่มต้น มีหัวข้อเรื่องที่บันทึก เช่น
-          ปีที่เข้าเรียนครั้งแรก ชื่อโรงเรียน ชั้น ปีการศึกษา
-          ผลการเรียนรู้ของแต่ละปี ที่เป็นคะแนนและระดับผลการเรียนรู้ตามรายวิชา และความเห็นข้อเสนอแนะของครูผู้สอน
-          ชั้นเรียนที่อยู่ปัจจุบัน ชื่อครูผู้สอน
-          บันทึกสุขภาพ การเจริญเติบโต
-          บันทึกพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เป็นการทำดี หรือที่มีปัญหา
-          วิชาที่สนใจเรียน หรือชอบเรียน เหตุผลที่ชอบ
-          ฝึกคิด และวางเป้าหมายการเรียนระดับสูง และอาชีพที่สนใจ

      4.  รู้จักเอกสารข้อมูล
เอกสารทีเกี่ยวข้องกับข้อมูลของตนเองและครอบครัวที่ควรรู้จัก มีดังนี้
4.1   สูติบัตร
สูติบัตร หรือเอกสาร แจ้งเกิดของบุคคล บางครั้งเรียกสั้น ๆ ว่า ใบเกิด” ซึ่งเอกสารฉบับนี้บอกข้อมูลเกี่ยวกับ ชื่อ นามสกุล วันเกิด และ วันเดือนปีเกิด ชื่อมารดา และบิดา สถานที่เกิด สถานที่อยู่อาศัยครั้งแรก เป็นเอกสารหลักฐานสำคัญที่ใช้ในการเข้าเรียนครั้งแรก

4.2   สำเนาทะเบียนบ้าน
สำเนาทะเบียนบ้าน เป็นเอกสารรายการของบุคคล เกี่ยวกับบ้านที่อยู่อาศัยของแต่ละครอบครัว สิ่งสำคัญที่แสดงเป็นหลักฐานในเอกสารฉบับนี้ คือ
o  รหัสประจำบ้าน รายการที่อยู่บอกเลขที่บ้าน บอกหมู่ที่ แขวง หรือตำบล เขตหรืออำเภอ จังหวัด
o  จำนวนสมาชิกในบ้าน ชื่อ นามสกุล เพศ วันเดือนปีเกิด ชื่อบิดา มาดา
o  การเปลี่ยนข้อมูล เช่น เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล ย้ายที่อยู่ ต้องไปแจ้งให้เจ้าหน้าที่เขต หรืออำเภอ เป็นผู้บันทึกไว้ในทะเบียนบ้าน
เอกสารสำเนาทะเบียนบ้าน เป็นเอกสารหลักฐานข้อมูลของบุคคลในการติดต่อเรื่องราวที่สำคัญตามกฎหมาย


4.3   เอกสารการศึกษา
มีเอกสารแสดงข้อมูลการศึกษาของผู้เรียนหลายแบบ เช่น เอกสารแสดงผลการเรียนรู้แต่ละปี เอกสารรับรองผลการเรียนจบช่วงชั้น เพื่อไปศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น เอกสารรับรองผลการเรียนจบการศึกษาแต่ละขั้น เป็นเอกสารสำคัญเฉพาะตัวที่ต้องใช้ในการศึกษาต่อ การเข้าทำงานอาชีพ และอื่น ๆ
เอกสารข้อมูลที่กล่าวเป็นเบื้องต้นนี้ ต้องเก็บรักษาต้นฉบับไว้ให้ดี เมื่อเวลาจะใช้อ้างอิงในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ต้องถ่ายสำเนาเอกสารประกอบเรื่อง และลงชื่อของผู้ใช้เอกสารรับรองทุกครั้ง

      5.  ศึกษาเรื่องชาติไทย
ชาติไทย เป็นชาติของเรา ซึ่งเป็นชาติเก่าแก่ มีมาช้านานนับพันปีมาแล้ว เราได้เรียนรู้ถึงยุคสมัยของชาติไทย ตั้งแต่แรกเริ่มที่คนไทยได้มารวมกลุ่มตั้งมั่นในดินแดนนี้ โดยมีหัวหน้าที่เป็นกษัตริย์ เป็นผู้นำในการตั้งถิ่นฐานและสร้างความเจริญไว้ จนทำให้คนไทยอยู่รวมกันเป็นปึกแผ่นมานานจนถึงทุกวันนี้

5.1   กษัตริย์ผู้สร้างในยุคสมัยของชาติไทย
กษัตริย์ หมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน เป็นผู้ที่มีความสามารถปกครองกลุ่มคนจำนวนมาก ซึ่งเป็นคนชาติเดียวกัน ในสมัยโบราณกษัตริย์จึงเป็นนักรบผู้กล้าหาญ นำกองทัพต่อสู้กับศัตรูที่มาแย่งชิงดินแดน มีความสามารถในการจัดระเบียบการปกครอง มีความยุติธรรม และสร้างความเจริญรุ่งเรือง ความมั่นคงให้แก่ชาติบ้านเมืองเป็นปึกแผ่น มาจนถึงปัจจุบัน

กษัตริย์ผู้สร้าง หมายถึง พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงสร้างอาณาจักร หรือตั้งเมืองหลวง และทรงปกครองเป็นพระองค์แรกของแต่ละยุคสมัยของชาติไทย ซึ่งมีพระนาม ดังนี้
1)     พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เป็นกษัตริย์ผู้สร้างกรุงสุโขทัย เป็นยุคสมัยสุโขทัย
2)     สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือ พระเจ้าอู่ทอง เป็นกษัตริย์ผู้สร้างกรุงศรีอยุธยา เป็นยุคสมัยอยุธยา
3)     สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นกษัตริย์ผู้สร้างกรุงธนบุรี เป็นยุคสมัยธนบุรี
4)     พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กษัตริย์ผู้สร้างกรุงเทพฯ เป็นยุคสมัยรัตนโกสินทร์ หรือยุคสมัยในปัจจุบันนี้
5.2   พระมหากษัตริย์ไทยในรัชกาลปัจจุบัน
พระมหากษัตริย์ของประเทศไทยในรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ของราชวงศ์จักรี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 พระองค์เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 3 ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชโอรส และพระราชธิดารวม 4 พระองค์ คือ
1)     ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตรนราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี
2)     สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
3)     สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมรากุมารี
4)     สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนประชาชนทุกภูมิภาคของประเทศ ทรงเอาพระทัยใส่ในทุกข์ สุขของราษฎร ทรงส่งเสริมอาชีพ และการทำมาหากินแก่เกษตรกรในโครงการต่าง ๆ ทรงส่งเสริมการศึกษา ด้านสาธารณสุข และด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนชาวไทย มีชีวิต และความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพดีขึ้น

5.3   เอกลักษณ์ที่แสดงความเป็นมาของชาติไทย
สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ แสดงถึงความเป็นมาของชาติ คือ วัฒนธรรม
วัฒนธรรม หมายถึง สิ่งต่าง ๆ ที่เป็นความเจริญ และการปฏิบัติที่ดีงาม ซึ่งบรรพบุรุษได้คิด และสร้างรูปแบบขึ้น แล้วนำมาปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน วัฒนธรรมไทยมีปฏิบัติมาช้านาน จนเป็นสิ่งที่มีลักษณะแบบเดียวกัน เรียกว่า เอกลักษณ์ของชาติไทย
วัฒนธรรมเบื้องต้นที่เราควรรู้ และปฏิบัติได้ถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้เกิดความสุข ความเจริญในส่วนตน และสังคมที่อยู่ร่วมกัน มีดังนี้
  
ก.     ภาษาไทย
ภาษาไทย คือ ภาษาประจำชาติไทยที่ใช้ในการสื่อสาร ให้เกิดความเข้าใจตรงกัน มีลักษณะเฉพาะที่เป็นรูปตัวอักษร และการออกเสียง ต้องมีการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน เรามีรูปพยัญชนะไทย ตั้งแต่ ก – ฮ รวม 44 ตัว มีสระ 21 รูป และมีวรรณยุกต์ 4 รูป ภาษาไทยเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย
ดังนั้นเราต้องภาคภูมิใจที่มีภาษาของเราเอง และต้องใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องตามหลักของภา ใช้ให้เหมาะสมกับบุคคล และเหตุการณ์ รวมทั้งสื่อสารให้ตรงกัน ภาษาเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ให้เจริญรุ่งเรืองด้วย

ข.  กิริยามารยาท
กิริยามารยาท เป็นการแสดงท่าทางและคำพูดที่ดีงาม มีความสุภาพ อ่อนโยน การเคารพแบบไทย คือ การกราบไหว้ ซึ่งเป็นกิริยาที่นุ่มนวล เรียบร้อย คำพูดที่ควรใช้เป็นประจำ ตามโอกาสที่เหมาะสม ได้แก่ สวัสดี ขอบคุณ ขอบใจ และขอโทษ

ค.  ประเพณี
ประเพณี หมายถึง แบบอย่างที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมานาน บางอย่างมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธ บางประเพณี เป็นที่นิยมกันมาก ประเพณีที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ ประเพณีสงกรานต์ พระเพณีลอยกระทง พระเพณีการบวช ประเพณีการทอดกฐิน

ง.   การแต่งกาย
โดยปกติคนไทยแต่งกายแบบสากลทั่วไป ที่แต่งกายสุภาพเรียบร้อยเหมาะสมกับกาลเทศะ และคนไทยก็มีชุดแต่งกายประจำชาติที่มีความสวยงาม มีผ้าไทยที่เป็นผ้าไหม ผ้าฝ้ายทอลวดลายได้งดงาม ที่แสดงถึงศิลปะของความเป็นไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละท้องถิ่น การแต่งกายแบบไทย หรือการใช้ผ้าไทยตัดแบบสากล ยังเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย

จ.  อาหารการกิน
คนไทยรู้จักนำข้าว ปลา อาหารจากพืชพันธุ์ที่มีหลากหลาย มาปรุงเป็นอาหารไทยที่มีรสอร่อย เป็นเอกลักษณ์ที่ทำสืบเนื่องกันมานาน มีทั้งอาหารไทยทั่วไป และอาหารไทยพื้นเมือง ซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วโลก เช่น ต้มยำกุ้ง ไก่ยาง และส้มตำ แกงเขียวหวาน

5.4   บุคคลสำคัญในท้องถิ่น
การเรียนรู้ประวัติหรือผลงานของบุคคลสำคัญในท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับและเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตน เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รู้ผลงานที่มีผลดีแก่ท้องถิ่น และชาติบ้านเมือง ทำให้เกิดความภูมิใจ และยึดถือการทำความดีให้แก่ส่วนรวมหรือท้องถิ่น

บุคคลสำคัญในท้องถิ่นที่ควรรู้ ได้แก่
ก.  ชาวบ้านบางระจัน
ชาวบ้านบางระจันเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความรักแผ่นดิน รักชาติยิ่งกว่าชีวิต เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประมาณ พ.ศ. 2309 พม่าได้ยกกองทัพมาโจมตีไทย เพื่อหวังมาครอบครองแผ่นดินในสมัยอยุธยาตอนปลาย พม่ามาตั้งค่ายพักอยู่ที่เมืองวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง คนไทยที่อยู่ในท้องถิ่นนั้นได้รวมกำลังต่อสู่กับพม่า โดยไม่รอให้กองทัพหลวงมาช่วย มีหัวหน้า 6 คน คือ นายแท่น นายโชติ นายอิน นายเมือง นายดอก และนายทองแก้ว โดยมีพระอาจารย์จากเมืองสุพรรณบุรี คือ พระอาจารย์ธรรมโชติ มาร่วมให้กำลังใจ ต่อมามีผู้คนได้มาเข้ากลุ่มเพิ่มขึ้น และมีหัวหน้าเพิ่มอีก คือ ขุนสรรค์ พันเรือง นายจันหนวดเขี้ยว นายทองเหม็น และนายทองแสงใหญ่
ชาวบ้านบางระจันได้ป้องกันค่ายจากพม่าได้ถึง 7 ครั้ง ในครั้งสุดท้าย พม่าใช้ปืนใหญ่ยิงโจมตีค่ายบางระจัน ฝ่ายไทยไม่มีปืนใหญ่ยิงต่อสู้ จึงต้องตายเป็นจำนวนมาก ถึงแม้พวกชาวบ้านจะช่วยกันหล่อปืนใหญ่ แต่ใช้การไม่ได้ ในที่สุดชาวบ้านบางระจันก็ต้องพ่ายแพ้การต่อสู้ครั้งนี้ใช้เวลานานถึง 5 เดือน นับเป็นวีรกรรมที่กล้าหาญ แสดงถึงความรักถิ่นที่อยู่ รักชาติ บ้านเมือง จึงได้สร้างอนุสาวรีย์ชาวบ้านบางระจันที่จังหวัดสิงห์บุรี เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความดี

ข.  พระยาพิชัยดาบหัก
พระยาพิชัย เดิมชื่อ จ้อย เกิดที่เมืองพิชัย ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นผู้มีฝีมือในการต่อสู้มาก จึงได้รับราชการกับพระยาตาก (สิน) จนได้เลื่อนตำแหจ่งเป็นหลวงพิชัยอาสา
ใน พ.ศ. 2310 กรุงศรีอยุธยาต้องเสียให้แก่พม่า พระยาตากได้รวบรวมกำลังกอบกู้เอกราช ซึ่งมีหลวงพิชัยอาสาร่วมต่อสู้อย่างเข้มแข็ง เมื่อพระยาตากได้ขึ้นครองราชย์ เป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้หลวงพิชัยอาสาได้เลื่อนเป็นเจ้าเมืองพิชัย

ขณะที่พระยาพิชัยปกครองเมืองพิชัยอยู่ พม่าได้ยกกำลังมาตีเมืองพิชัย 2 ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ โดยเฉพาะการรบครั้งที่ 2 พระยาพิชัยนำทหารต่อสู้กับข้าศึกจนดาบหักคามือ จึงได้รับการขนานนามว่าพระยาพิชัยดาบหัก ซึ่งทางการได้สร้างอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก อยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์





Download - เนื้อหา



























ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Blog เพื่อนการศึกษา

***Blog เพื่อนการศึกษา*** สรุปเนื้อหาเข้า ป.1 - ม.6 สรุปเนื้อหา - วิชาสังคมศึกษา ป.3 (สรุปตามสาระการเรียนรู้) แบบทดสอบประจำหน่วยการเรียนรู...