Download - เนื้อหา
บทที่ 2 ภูมิศาสตร์กายภาพ
1. ความหมาย และความสำคัญของภูมิศาสตร์
ภูมิศาสตร์ คือ การเรียนรู้เกี่ยวลักษณะของพื้นที่บนพื้นผิวโลกที่คนเราได้อยู่อาศัย ซึ่งมีความสัมพันธ์ต่อชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งการประกอบอาชีพ การปกครองของกลุ่มคน และการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ หรือ สรรพสิ่งบนพื้นผิวโลก มีผลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์
พื้นผิวโลก ประกอบด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา ซึ่งเรามองเห็น และจับต้อง หรือสัมผัสได้ เรียกว่า ลักษณะทางกายภาพ การเรียนรู้เกี่ยวกับพื้นที่ที่เราอาศัย และพื้นผิวโลก ต้องศึกษาจากบริเวณที่อยู่ใกล้ตัวในท้องถิ่น คือ บ้าน โรงเรียน ชุมชน จังหวัด ภาค ประเทศ จนถึงสังคมโลก ตามลำดับ
2. ลักษณะและองค์ประกอบของชุมชนขนาดต่าง ๆ
ชุมชน เป็นที่อยู่อาศัยรวมกันของกลุ่มคน มีบ้านเรือนอยู่ใกล้เคียงกัน มีการช่วยเหลือและพึ่งพากันได้ ชุมชนมีทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ มีชื่อเรียกตามลักษณะขององค์ประกอบที่มีขนาดต่างกัน ดังนี้
1) หมู่บ้าน เป็นชุมชนที่มีขนาดเล็กที่สุด ประกอบด้วย บ้านหลายหลังที่ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน มีถนนในหมู่บ้านที่เป็นเส้นทางไปมาติดต่อกัน และมีสถานที่ประกอบการในหมู่บ้าน เช่น ตลาด โรงเรียน วัด
2) ตำบล ยังเป็นชุมชนขนาดเล็ก ประกอบด้วย หลายหมู่บ้านรวมกัน มีถนนไปมาติดต่อกันระหว่างหมู่บ้าน และสถานที่ประกอบการในตำบลที่มีมากขึ้นหลายแห่ง เช่น ตลาด โรงเรียน วัด สถานีอนามัย สถานีตำรวจ ธนาคาร ที่รับ – ส่ง ผู้โดยสารรถประจำทาง ท่าจอดเรือ โรงงานอุตสาหกรรม สถานที่ท่องเที่ยวในท้องถิ่น
3) อำเภอ หรือเขต เป็นชุมชนที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ประกอบด้วยหลายตำบลรวมกัน บางอำเภอมีขอบเขตกว้างขวาง มีพื้นทำการเพาะปลูก บางอำเภอ โดยเฉพาะอำเภอเมืองจะมีถนนติดต่อกันหลายสาย มีบ้านเรือน อาคารร้านค้ามากมาย มีสถานที่ประกอบการอย่างละหลายแห่ง เช่น มีตลาดหลายแห่ง มีห้างสรรพสินค้า มีโรงเรียนหลายขนาดทั้งโรงเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษา จนถึงระดับวิทยาลัย และสถานที่สำคัญต่าง ๆ เช่นเดียวกับในตำบล แต่จะมีจำนวนมากกว่า
4) จังหวัด ภาค ประเทศ เป็นชุมชนที่มีขนาดใหญ่มากตามลำดับ มีองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เหมือนกับอำเภอ แต่มีจำนวน และขนาดมากกว่า
o จังหวัด ประกอบด้วยหลายอำเภอ จังหวัดที่เป็นศูนย์รวมของการปกครอง การคมนาคม และอื่น ๆ อีกหลายด้าน ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย คือ กรุงเทพมหานคร
o ภาค ประกอบด้วยหลายจังหวัด ที่มีลักษณะพื้นที่คล้ายกัน และอยู่ใกล้เคียงกัน การแบ่งภาคในประเทศไทย ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ซึ่งมีองค์ประกอบทางกายภาพที่แตกต่างกันไป
o ประเทศ คือ พื้นแผ่นดินขนาดใหญ่ ที่มีอาณาเขตที่แน่นอน มีการปกครองรูปแบบเดียวกัน มีภาษา วัฒนธรรม ความเป็นอยู่เหมือนกันเป็นส่วนใหญ่ ประเทศไทย คือ พื้นแผ่นดินที่อาศัยอยู่ของคนไทย ตั้งอยู่ที่ทวีปเอเชีย ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่แบ่งเป็น 6 ภาค และแบ่งเป็นจังหวัดได้ 76 จังหวัด การปกครองของประเทศไทย เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
3. หน้าที่และความสัมพันธ์ขององค์ประกอบที่เป็นชุมชน
องค์ประกอบของชุมชนที่เป็นพื้นที่ และจำนวนประชากร มีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ ตามลำดับ ดังนี้
หมู่บ้าน è ตำบลหรือแขวง è อำเภอ หรือเขต è จังหวัด è ภาค è ประเทศ
ในพื้นที่ของชุมชน จะประกอบด้วย อาคารบ้านเรือน หมู่บ้าน ร้านค้า ถนน สถานที่ทำการต่าง ๆ โรงเรียน วัด สวนสาธารณะ แหล่งเพาะปลูก แหล่งเก็บน้ำ แหล่งประวัติศาสตร์ สนามกีฬา และอื่น ๆ
หน้าที่และความสัมพันธ์ขององค์ประกอบในชุมชน ส่วนมากจะเป็น กฎ ระเบียบ และข้อปฏิบัติที่ดีร่วมกัน ได้แก่
1) การปฏิบัติตามกฎจราจร ควรรู้และทำตามระเบียบที่กำหนด คือ
o เดินตามถนนบนทางเท้า ข้ามถนนตรงทางข้ามหรือสะพานลอย
o เด็กไม่ควรขับขี่รถจักยานบนถนนที่มีรถมาก
o การขึ้นลงรถประจำทาง ต้องให้รถจอดสนิทก่อน
o ไม่วางสิ่งของเกะกะ หรือทิ้งขยะบนทางเท้า
2) การทิ้งขยะ และรักษาความสะอาด
o ไม่ทิ้งขยะ และสิ่งสกปรกลงแหล่งน้ำ และตามถนน
o ควรมีการแยกขยะต่าง ๆ ก่อนทิ้ง ไม่ควรทิ้งรวมกัน เช่น เศษแก้ว เศษกระดาษ เศษโลหะ เศษอาหาร บางอย่างรวบรวมขายได้
3) การร่วมมือรักษาสาธารณสมบัติ
o ไม่ขีดเขียนตามฝาผนัง อาคาร หรือตามกำแพงต่าง ๆ ให้เลอะเทอะ ซึ่งเป็นการทำผิดด้วย
o ช่วยกันดูแลรักษา และใช้สมบัติของส่วนรวมให้เหมาะสม เช่น โทรศัพท์สาธารณะ สะพานลอยข้ามถนน
o พบเห็นผู้ทำลาย ควรบอกผู้ใหญ่ หรือเจ้าหน้าที่
4) ช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในชุมชน เป็นหน้าที่ของทุกคนในชุมชน และเป็นความร่วมมือกันของทุกฝ่าย ตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน ชุมชนทุกขนาด โดยต้องฝีกการมีจิตสำนึก และร่วมแรงร่วมใจช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในชุมชนของตนเอง เช่น
o ชุมชนที่มีป่าไม้ หรือ ส่วนป่า ต้องช่วยกันรักษา และดูแลไม่ให้มีการลักลอบตัดไม้ โดยไม่ขออนุญาต และช่วยกันปลูกต้นไม้ในชุมชนเพิ่มขึ้นจากเดิม เพราะต้นไม้สร้างอากาศดี กำจัดมลพิษทางอากาศ ให้ความชุ่มชื้น และรักษาแหล่งน้ำ รักษาดิน รวมทั้งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ตามธรรมชาติอีกด้วย
o ชุมชนที่อยู่ติดชายทะเล เป็นหาดทราย หรือหาดหิน ก็ต้องช่วยกันดูแลและรักษาความสะอาดของบริเวณชายหาด จัดที่รองรับขยะ และนำไปทำลายให้ถูกวิธี เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และพักผ่อนของผู้มาเที่ยว รวมทั้งคนที่อยู่ในชุมชนนี้
o ชุมชนที่เป็นป่าชายเลน ต้องช่วยกันดูแลรักษาความสะอาด เพื่อให้เป็นแหล่งที่อยู่ และแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์น้ำ มิให้สูญพันธุ์ ห้ามทิ้งขยะ และสิ่งปฏิกูลลงในแหล่งน้ำโดยเด็ดขาด ต้องช่วยกันสอดส่องคนที่มักง่าย และชอบทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย
4. ลักษณะทางกายภาพทางภูมิศาสตร์
ลักษณะทางกายภาพ หมายถึง สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของพื้นที่ที่อยู่บนพื้นผิวโลก ซึ่งมีของเขตและบริเวณที่แตกต่างกันไปตามขนาด เช่น ลักษณะทางกายภาพของบ้าน โรงเรียน ชุมชน จังหวัด ภูมิภาค และประเทศ รวมทั้งโลก องค์ประกอบทางกายภาพ มี 3 อย่าง คือ
ก. ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศ เป็นลักษณะพื้นที่ของโลกที่มีความสูงต่ำ เป็นพื้นดิน หรือพื้นน้ำ เช่น ที่ราบ ที่ราบสูง ภูเขา แม่น้ำ ชายทะเล ทะเล มหาสมุทร
ข. ลักษณะภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศ เป็นลักษณะอากาศโดยทั่วไปของบริเวณพื้นผิวโลกในแต่ละแห่ง มีระยะนานต่อเนื่องเป็นฤดูกาล บริเวณบางแห่งจะร้อนยาวนาน มีทั้งร้อนชื้น และร้อนแห้งแล้ง บางแห่งอบอุ่น ไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป บางแห่งเป็นเขตหนาวเย็นยาวนาน มีหีมะและน้ำแข็ง ลักษณะภูมอากาศจะบอกอุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน ทิศทางของลมประจำ ความกดอากาศ
ค. ทรัพยากรธรรมชาติ
ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มนุษย์ได้นำมาใช้ประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต จึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่า เช่น ป่าไม้ สัตว์ พืช แร่ธาตุ แหล่งน้ำ ดิน
ชุมชนแต่ละแห่งมีลักษณะทางกายภาพที่ไม่เหมือนกัน ทำให้มีผลต่อการประกอบอาชีพ เพื่อการดำรงชีวิตของคนในชุมชน ดังนั้น ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ทำให้มีทรัพยากรธรรมชาติที่แตกต่างกัน และเป็นปัจจัยสำคัญทีทำให้คนแต่ละชุมชนมีอาชีพ และการดำรงชีพที่ต่างกันไป ได้แก่
o ชุมชนที่อยู่ในภูมิประเทศที่ต่ำ มีน้ำท่วมถึง จะมีการจับสัตว์น้ำต่าง ๆ เช่น ชุมชนชาวประมง
o ชุมชนที่อยู่ในภูมิประเทศที่เป็นที่ราบลุ่ม หรือที่ราบริมแม่น้ำ ซึ่งเหมาะแก่การปลูกพืช จำพวกข้าว ผัก ผลไม้ ส่วนมากจะเป็นชุมชนชาวนา ชาวสวน
o ชุมชนที่อยู่ในภูมิประเทศที่ราบสูง เป็นที่ดอน น้ำท่วมไม่ถึง ซึ่งปลูกพืชไร่ได้ดี เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง ฝ้าย ส่วนมากจะเป็นชุมชนชาวไร่
o ชุมชนที่อยู่ในภูมิประเทศที่สูง หรือมีภูเขา มีคนอยู่ไม่มาก อาจจะเลี้ยงสัตว์ หรือ พืชบางชนิดที่ชอบอากาศเย็น
5. องค์ประกอบทางภูมิศาสตร์
ในการเรียนรู้เรื่องภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นความรู้เกี่ยวกับลักษณะของพื้นที่บนผิวโลกทางกายภาพ ซึ่งเป็นเรื่องของขนาดพื้นที่ที่กว้างใหญ่ และระยะทางที่ยาวไกลมาก จนเกินสายตาของมนุษย์ จึงต้องมีองค์ประกอบทางภูมิศาสตร์ เป็นสิ่งที่ช่วยให้การเรียนพื้นที่บนผิวโลกได้เข้าใจง่ายขึ้น และเข้าใจตรงกัน ดังนี้
1) ลักษณะทางกายภาพของพื้นผิวโลก
พื้นผิวโลกทั้งหมด ประกอบด้วย 2 ส่วนด้วยกัน คือ
(1) ส่วนที่เป็นพื้นดิน เป็นบริเวณที่ตั้งบ้านเรือน ที่อยู่อาศัยของมนุษย์ มีการแบ่งเขตพื้นดินที่เป็นผืนใหญ่ เรียกว่า ทวีป ซึ่งแบ่งได้เป็น 7 ทวีป ดังนี้ ทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป ทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปอเมริกาใต้ ทวีปแอนตาร์กติก และทวีปออสเตรเลีย แต่ละทวีปประกอบด้วย ดินแดนของประเทศต่าง ๆ ทวีปที่มีบริเวณกว้างใหญ่ที่สุด คือ ทวีปเอเชีย และทวีปที่มีขนาดพื้นที่เล็กที่สุด คือ ทวีปออกเตรเลีย
(2) ส่วนที่เป็นพื้นน้ำ พื้นผิวโลกที่เป็นพื้นน้ำ จะมีบริเวณติดต่อกันกว้างใหญ่กว่าพื้นดิน พื้นน้ำที่มีบริเวณกว้างใหญ่ที่สุดเรียกว่า มหาสมุทร ขอบเขตของมหาสมุทรแบ่งเป็น 5 มหาสมุทร คือ มหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย มหาสมุทรอาร์กติก และมหาสมุทแอนตาร์กติก
มหสมุทรที่มีบริเวณกว้างมากที่สุด คือ มหาสมุทรแปซิฟิก
2) ตำแหน่งที่ตั้ง
ตำแหน่งที่ตั้ง เป็นจุดกำหนดคงที่ของสถานที่บนพื้นผิวโลก ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น ประเทศไทยตั้งอยู่ในทวีปเอเชีย ประเทศอังกฤษ ตั้งอยู่ในทวีปยุโรป ซึ่งถ้าเราเรียนในระดับสูงขึ้น ตำแหน่งที่ตั้งของสถานที่จะมีรายลเอียดเพิ่มมากขึ้น
3) ระยะทาง
ระยะทางเป็นความยาวที่วัดพื้นที่ทั้งแนวตั้งและแนวนอน หน่วยวัดความยาวของระยะทาง มี 2 มาตรา คือ
(1) มาตราเมตริก มีหน่วยวัดความยาว ดังนี้
10 มิลลิเมตร = 1 เซนติเมตร
100 เซนติเมตร = 1 เมตร
1,000 เมตร = 1 กิโลเมตร
(2) มาตรอังกฤษ มีหน่วยวัดความยาว ดังนี้
12 นิ้ว = 1 ฟุต
3 ฟุต = 1 หลา
1,760 หลา = 1 ไมล์
ดังนั้น หน่วยวัดระยะทางของพื้นผิวโลก จะใช้หน่วยความยาวที่สุด คือ กิโลเมตร หรือ ไมล์
4) ทิศ
ทิศ หมายถึง ทางหรือด้านที่กำหนด เพื่อบอกตำแหน่งของสิ่งต่าง ๆ บนพื้นผิวโลก โดยอาศัยดวงอาทิตย์ หรือดวงจันทร์ และดวงดาวเป็นหลักในการหาทิศ
(1) เวลากลางวัน ดวงอาทิตย์ขึ้นตอนเช้าทางทิศตะวันออก และตอนเย็นดวงอาทิตย์จะลับหายไปทางทิศตะวันตก เป็นประจำทุกวันไม่เปลี่ยนแปลง
(2) เวลากลางคืน สังเกต และดูได้จากดวงจันทร์ ทิศที่ดวงจันทร์เต็มดวงขึ้นทางทิศตะวันออก และทิศที่ดวงจันทร์ตก คือ ทิศตะวันตก ถ้าเป็นคืนเดือนมืด เราสังเกตทิศได้จากดวงดาว คือ ดาวเหนือ ซึ่งจะขึ้นทางทิศเหนือเสมอ และมีแสงสุกใสกว่าดาวดวงอื่น
(3) ทิศสำคัญที่ควรรู้ มี 4 ทิศ คือ ทิศเหนือ ตรงข้ามทิศใต้ และทิศตะวันออก ตรงข้ามทิศตะวันตก ตามแผนภาพ
(4) วิธีการหาทิศ โดยยืนกางแขนให้ข้างขวาชี้ไปทางที่ดวงอาทิตย์ขึ้น จะเป็นทิศตะวันออก แขนซ้ายที่ตรงข้ามกันเป็นทิศตะวันตก ทางที่อยู่ข้างหน้าคือ ทิศเหนือ และทางที่อยู่ด้านหลังคือ ทิศใต้
ทิศมีความสำคัญในการกำหนดตำแหน่งของสถานที่บนพื้นผิวโลกให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ประเทศไทย ตั้งอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย เป็นต้น
ถ้าลากเส้นสมมติในแนวนอน โดยแบ่งโลกให้เป็น 2 ซีกเท่า ๆ กัน ก็จะเป็นซีกโลกเหนือ และซีกโลกใต้ ซึ่งประเทศไทยอยู่ในซีกโลกเหนือ
5) ขนาดและรูปร่าง
ขอบเขตของพื้นที่ต่าง ๆ บนพื้นผิวโลก จะมีขนาดและรูปร่างที่แตกต่างกันมาก เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งทางภูมิศาสตร์ ที่ใช้เปรียบเทียบกัน เช่น ขนาดของพื้นที่ของบ้าน ต้องเล็กกว่าขนาดพื้นที่ของโรงเรียนและชุมชน จังหวัดเป็นชุมชนขนาดใหญ่ หลาย ๆ จังหวัดรวมเป็นประเทศ แต่ละประเทศก็จะมีขนาดพื้นที่ และรูปร่างแตกต่างกัน เช่น
ถ้าเราดูแผนที่ทวีปเอเชีย จะเห็นว่า ประเทศไทย มีขนาดพื้นที่ใหญ่กว่าประเทศมาเลเซีย แต่มีขนาดพื้นที่เล็กกว่าประเทศจรี รูปร่างของประเทศไทยคล้ายขวานโบราณ
6) ภูมิประเทศ
ภูมิประเทศ หมายถึง สภาพพื้นผิวโลกที่ประกอบด้วยพื้นดิน และพื้นน้ำดังกล่าวไปแล้ว ซึ่งลักษณะภูมิประเทศจะบอกรูปลักษณะ ขนาด และมีชื่อเรียกตามสภาพที่แตกต่างกัน ดังนี้
o ภูเขา คือ บริเวณผิวโลกที่มีความสูงกว่าพื้นธรรมดา ส่วนมากจะเป็นเนินหิน สูงเป็นจอมขึ้นไป มักจะสูงต่อกันเป็นแนวยาว เรียกว่า เทือกเขา หรือทิวเขา บางแห่งจะมีถ้ำ บางแห่งที่มีป่าไม้จะเป็นต้นกำเนิดของต้นน้ำลำธาร อาจมีน้ำตกไหลลงหน้าผาของภูเขา
o ที่ราบ คือ บริเวณผิวโลกที่อยู่ระดับปกติ ประกอบไปด้วย พื้นดิน ซึ่งมักจะเป็นที่อยู่อาศัย และที่เพาะปลูกของมนุษย์
o ทะเลทราย คือ บริเวณแผ่นดินกว้างใหญ่ที่มีแต่ทราย และมีความแห้งแล้วมาก
o ลำธาร คือ ทางน้ำเล็ก ๆ ที่เกิดจากการดูดซับของป่าไม้ ไหลจากภูเขาลงมา
o แม่น้ำ คือ ลำน้ำใหญ่ ซึ่งเป็นที่รวมของลำธาร
o ทะเล คือ พื้นน้ำอันกว้างใหญ่ เป็นส่วนของมหาสมุทร ส่วนที่เป็นรอยต่อของพื้นดิน และทะเล จะมีลักษณะเว้าแหว่ง เป็นโขดหิน หน้าผา หาดทราย
o เกาะ คือ พื้นดินที่มีน้ำล้อมรอบ มักอยู่ในทะเลหรือมหาสมุทร
o อ่าว คือ บริเวณที่พื้นน้ำเว้าเข้ามาในพื้นดิน
o แหลม คือ บริเวณของพื้นดินที่ยื่นออกไปในทะเล
o มหาสมุทร คือ ส่วนของพื้นน้ำที่กว้างใหญ่ที่สุด
7) แผนผังและแผนที่เบื้องต้น
แผนผังและแผนที่ เป็นแบที่เขียนย่อ เพื่อแสดงพื้นที่ หรือบริเวณ และแสดงตำแหน่งที่ตั้งของสถานที่สำคัญในบริเวณนั้นให้เกิดความเข้าใจตรงกัน เป็นแบบย่อภาพรวมที่แสดงองค์ประกอบทางภูมิศาสตร์ ในระดับนี้ ฝึกการดูและการอ่านให้รู้เรื่อง สามารถบอกระยะทางที่ห่างกันของตำแหน่ง ว่าใกล้ หรือไกล บอกทิศทางได้ถูกต้อง รวมทั้งเปรียบเทียบขนาดของพื้นที่ได้ด้วย
แผนผังและแผนที่ เป็นเครื่องมือทางภูมิศาสตร์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับลักษณะของพื้นที่บนโลกในภาพรวมเบื้องต้น
(1) แผนผัง คือแบบเขียนย่อแสดงตำแหน่งที่ตั้งของสิ่งต่าง ๆ ในบริเวณที่ไม่กว้างมาก มีรายละเอียดน้อย แผนผังส่วนมากจะแสดงเกี่ยวกับบ้านและบริเวณ ห้องเรียนโรงเรียน ชุมชน ซึ่งเรื่องแผนผังนี้ ได้กล่าวและแสดงตัวอย่างที่แผนผังห้องเรียน แผนผังของบ้าน และแผนผังของโรงเรียนไว้แล้ว ในระดับชั้นนี้ จึงเป็นตัวอย่างแผนผังของชุมชน
(2) แผนที่ คือ แบบที่เขียนย่อบอกลักษณะพื้นที่และสิ่งสำคัญของพื้นที่นั้น โดยใช้สัญลักษณ์ หรือเครื่องหมายแทนสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น ได้แก่ แม่น้ำ ทะเล ภูเขา เมืองสำคัญ ขอบเขตของประเทศ ชื่อประเทศใกล้เคียง
8) เครื่องมือทางภูมิศาสตร์
เครื่องมือทางภูมิศาสตร์ หมายถึง อุปกรณ์ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ รวมทั้งสื่อในการเรียนรู้ หรือจัดทำข้อมูลจากการสำรวจเกี่ยวกับลักษณะของพื้นผิวโลกทางกายภาพ ทั้งนี้เพราะพื้นที่ผิวโลกมีขนาดและระยะทางที่กว้างขวางมาก จึงต้องมีเครื่องมือทางภูมิศาสตร์ช่วยให้เกิดความเข้าใจ และรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ของพื้นที่ได้สะดวก ใกล้เคียงกับลักษณะทางกายภาพที่เป็นจริง เครื่องมือทางภูมิศาสตร์ที่ควรทราบ มีดังนี้
(1) เครื่องมือที่ใช้ในการสร้างแผนผัง แผนที่ ได้แก่
o ไม้บรรทัด ใช้วัดระยะสิ่งของที่มีขนาดเล็ก เช่น โต๊ะ เก้าอี้
o ตลับเมตร ใช้วัดระยะทางที่มีความยาวมากขึ้น เช่น ความกว้าง ความยาวของห้อง ความกว้างของประตู หน้าต่าง
o เข็มทิศ ใช้หาตำแหน่ง หรือทิศทาง
(2) เครื่องมือที่ใช้ประกอบการศึกษาเรียนรู้ทางภูมิศาสตร์ บางอย่างมีการจัดทำไว้แล้ว เพื่อให้เราได้รู้จักสืบค้นข้อมูลต่าง ๆ ตามต้องการ บางอย่างต้องสืบค้นจากแหล่งเรียนรู้เอง ได้แก่
o แผนผัง ที่เป็นแบบเขียนย่อจากสถานที่จริงในบริเวณแคบ ไม่มีรายละเอียดมาก เพียงแต่บอกที่ตั้ง หรือตำแหน่งที่ต้องการให้ทราบ
o แผนที่ คือ แบบที่เขียนย่อ แสดงให้รู้และเข้าใจลักษณะพื้นที่บนพื้นผิวโลก การศึกษาจากแผนที่ทำให้เราเข้าใจได้ตรงกันและรวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายมากกว่าที่จะไปศึกษาสถานที่จริง แผนที่เป็นเครื่องมือทางภูมิศาสตร์ที่สำคัญ สามรถแสดงข้อมูลต่าง ๆ ของวิชาสังคมศึกษาได้หลายสาระ
o ลูกโลกจำลอง มีลักษณะคล้ายแผนที่ แต่เป็นรูปทรงกลม แสดงพื้นที่บนผิวโลกที่ต่อเนื่องได้ทั้งหมด และบอกตำแหน่งที่ตั้งได้ชัดเจนคล้ายสภาพจริง
o แผนที่เล่ม คือ ลักษณะของหนังสือที่แสดงแบบเขียนย่อของพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ เพื่อศึกษาเรียนรู้เรื่องแผนที่ได้หลายเรื่องในเล่มเดียวกัน
Download - เนื้อหา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น