วันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

คู่มือเตรียมสอบ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ป.1 - 2 - 3 ___ สังคม ป.1 - บทที่ 7 ข่าว เหตุการณ์ และวันสำคัญ (เนื้อหา)

คู่มือเตรียมสอบ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ป.1 - 2 - 3 ___ สังคม ป.1 - บทที่ 7 ข่าว เหตุการณ์ และวันสำคัญ (เนื้อหา)


Download (เนื้อหา)

   1.  ข่าว เหตุการณ์
ก.      ความหมาย
ข่าว คือ การบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น ให้ผู้อื่นรับทราบ
เหตุการณ์ คือ เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ที่มีในท้องถิ่น ชุมชน ประเทศ เรื่องต่าง ๆ นั้น อาจจะเป็นเรื่องในทางที่ดี หรือ เรื่องที่ไม่ดีก็ได้
การรับทราบและตามตามข่าวอยู่เสมอ มีประโยชน์ทำให้เรามีความรู้ที่ทันเหตุการณ์ รู้ความเจริญก้าวหน้าของชุมชน ประเทศ หรือของโลก และข่าวยังช่วยให้รู้จักระวังภัยต่าง ๆ และหาวิธีป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้นด้วย

ข.     การทราบข่าว
เราสามารถทราบข่าว และข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับข่าวได้หลายทาง ทั้งการพูด การฟัง การดู และการอ่าน คือ
1)     การบอกเล่าสนทนากัน เป็นการพูดเล่าเรื่องของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน
2)     การฟังวิทยุ
3)     การดูโทรทัศน์
4)     การอ่านหนังสือพิมพ์
สิ่งที่ทำให้คนจำนวนมากได้รับข่าวเดียวกันในเวลาที่รวดเร็ว เรียกว่า สื่อสารมวลชน ได้แก่ วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์
เมื่อมีข่าวสำคัญเกิดขึ้น สื่อสารมวลชนต่าง ๆ จะแจ้งข่าวให้ประชาชนรับทราบ สิ่งที่แจ้งข่าวได้รวดเร็วที่สุดคือ วิทยุ เพราะเป็นสือที่มีทุกท้องถิ่น แต่เป็นการรับรู้ข่าวสารจากการฟังเพียงอย่างเดียว สื่อโทรทัศน์มีการแพร่ภาพเหตุการณ์ และได้ฟังการแจ้งข่าวที่ชัดเจน ซึ่งผู้รับทราบต้องมีเครื่องรับโทรทัศน์ ส่วนหนังสือพิมพ์ เป็นสื่อสารที่รับทราบช้ากว่าวิทยุและโทรทัศน์ แต่อ่านซ้ำทวน และเก็บเรื่องราวที่ต้องการได้
ส่วนการส่งข่าวหรือรับข่าวเฉพาะบุคคล ที่เรียกว่าการสื่อสาร เราสามารถส่งข่าวคราวถึงเพื่อน หรือญาติพี่น้องได้ทางจดหมาย โทรศัพท์ อินเทอร์เนต ซึ่งปัจจุบันนี้มีความสะดวกและรวดเร็วมาก

   2.    วันสำคัญ
ก.      ความหมาย
วันสำคัญ คือ วันที่ระลึกถึงความสำคัญของบุคคลที่มีคุณประโยชน์ต่อส่วนรวม หรือ วันที่มีเหตุการณ์หรือการปฏิบัติสืบต่อกันมาในอดีต
ข.     วันสำคัญที่ควรทราบ
วันสำคัญที่ควรทราบเกี่ยวกับวันสำคัญ คือ ตรงกับเมื่อใด สำคัญอย่างไร และมีแนวปฏิบัติ หรือกิจกรรมที่ควรทำในวันนั้นมีอะไรบ้าง
1)     วันเฉลิมพระชนพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา (วันคล้ายวันเกิด) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ถือว่าเป็นวันชาติไทย และ วันพ่อแห่งชาติด้วย
เมื่อถึงวันนี้ ทุกสถานที่หยุด 1 วัน มีการประดับธงชาติ และโคมไฟตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อถวายพระพร และแสดงความตงรักภักดี เราตั้งใจทำความดี เพื่อเป็นการถวายพระพรแด่พระองค์ ดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของวันพ่อ คือ ดอกพุทธรักษา

2)    วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ตรงกับวันที่ 12 สิงหาคม เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา (วันคล้ายวันเกิด) สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ถือว่าเป็นวันแม่แห่งชาติด้วย
เรามีการประดับธงชาติและโคมไฟตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อถวายพระพร โรงเรียนและสถานที่ราชการหยุด 1 วัน ดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของวันแม่ คือ ดอกมะลิ


3)    วันวิสาขบูชา
ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เป็นวันคล้ายวันประสูติ (เกิด) ตรัสรู้ (รู้แจ้ง) ปรินิพพาน (ตาย) ของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นพระศาสดาของศาสนาพุทธ
โรงเรียนและสถานที่ต่าง ๆ หยุด 1 วัน เพื่อให้ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ ได้ทำบุญ ตักบาตร ฟังเทศน์ เวียนเทียน และทำจิตใจให้สงบเป็นสมาธิ

4)    วันอาสาฬหบูชา (อ่านว่า อา – สาน – หะ – บู – ชา)
ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8  ตรงกับวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา (สั่งสอนครั้งแรก) แก่ปัจวคีย์ ทำให้มีพระรัตนตรัยครบองค์สาม คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
โรงเรียน และสถานที่ต่าง ๆ หยุด 1 วัน เพื่อให้ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธได้มีโอกาส ทำบุญตักบาตรฟังเทศน์ และเวียนเทียน ฝึกทำสมาธิให้จิตใจสงบ เป็นการปฏิบัติดีทางพระพุทธศาสนา

5)     วันเข้าพรรษา
ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันที่พระสงฆ์รับว่าจะอยู่ประจำที่วัดเป็นเวลา 3 เดือน เพราะเป็นช่วงฤดูฝนที่ทำให้พระสงฆ์เดินทางลำบาก และเพื่อให้พระสงฆ์ได้ศึกษา รวมทั้งปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด
ก่อนเข้าพรรษา มีพระเพณีแห่เทียนพรรษา ประเพณีการบวช และพระเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน โรงเรียนและสถานที่ต่าง ๆ หยุด 1 วัน เพื่อทำบุญ และถวายสิ่งที่จำเป็นแด่พระสงฆ์

6)     วันมาฆบูชา
ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันที่มีพระสงฆ์จำนวน 1,250 รูปเดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมาย และพระพุทธเจ้าทรงเทศนาสั่งสอน พระธรรมที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ เว้นการทำชั่ว หมั่นทำความดี และมีจิตใจที่ดีงาม
โรงเรียนและสถานที่ต่าง ๆ หยุด 1 วัน เพื่อให้ผู้นับถือศาสนาพุทธได้ทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ เวียนเทียน และทำจิตใจให้สงบ
         

7)     วันลอยกระทง
ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นวันสำคัญทางประเพณีไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย มีการนำกระทงไปลอยตามแม่น้ำลำคลอง เพื่อบูชา และขอขมาพระแม่คงคา ซึ่งหมายถึงแหล่งน้ำต่าง ๆ ที่เราได้ใช้ประโยชน์จากน้ำตลอดชีวิต

8)     วันขึ้นปีใหม่
ตรงกับวันที่ 1 มกราคม เป็นวันที่เปลี่ยนพุทธศักราช (พ.ศ.) ใหม่ และถือเป็นวันปีใหม่ตรงกันทั่วโลก เรามีการทำบุญตักบาตร อวยพรแก่กัน และให้ของขวัญ รวมทั้งมีงานสนุกรื่นเริง ฉลองปีใหม่

9)     วันเด็ก
ตรงกับวันเสาร์สัปดาห์ที่สองของเดือนมกราคม การจัดให้มีวันเด็ก เพื่อให้เด็กรู้ถึงหน้าที่และความสำคัญของตนที่มีต่อครอบครัว และประเทศชาติ ทุกปีจะมีคำขวัญวันเด็ก เพื่อให้ข้อคิดที่ดี และนำไปปฏิบัติให้เกิดผลดี



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Blog เพื่อนการศึกษา

***Blog เพื่อนการศึกษา*** สรุปเนื้อหาเข้า ป.1 - ม.6 สรุปเนื้อหา - วิชาสังคมศึกษา ป.3 (สรุปตามสาระการเรียนรู้) แบบทดสอบประจำหน่วยการเรียนรู...