วันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

คู่มือเตรียมสอบ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ป.1 - 2 - 3 ___ สังคม ป.3 - บทที่ 1 ชุมชนระดับตำบล (เนื้อหา)

คู่มือเตรียมสอบ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ป.1 - 2 - 3 ___ สังคม ป.3 - บทที่ 1 ชุมชนระดับตำบล (เนื้อหา)



Download - เนื้อหา



บทที่ 1 ชุมชนระดับตำบล




       1.      ความหมายและขนาดของชุมชนระดับตำบล
คำว่า ชุมชน หมู่บ้าน และตำบล มีความหมายที่สัมพันธ์กัน จึงควรมีความเข้าใจให้ตรงกัน ดังนี้
หมู่บ้าน หมายถึง บริเวณที่มีคนมาสร้างบ้านเรือนอยู่ใกล้เคียงกันหลาย ๆ หลัง จนเป็นหลักแหล่งที่มีการขึ้นทะเบียนเป็นหมู่บ้าน และอยู่ในสังกัดของตำบล อำเภอ และจังหวัดที่แน่นอน
ตำบล หมายถึง บริเวณที่มีหมู่บ้านหลาย ๆ หมู่บ้านมารวมกัน ทำให้มีพื้นที่และกลุ่มคนขนาดใหญ่ขึ้นกว่าหมู่บ้าน
ดังนั้น หมู่บ้านและตำบลจึงมีกระบวนการที่เกิดมารวมกันขึ้นของกลุ่มคน ซึ่งเรียกว่าเป็นชุมชน แต่ขนาดต่างกัน คือ ชุมชนระดับตำบลจะมีขนาดใหญ่กว่าชุมชนระดับหมู่บ้าน ทั้งหมู่บ้านและตำบล ต่างก็เป็นชุมชนที่เรารู้จักใกล้ชิด ตั้งแต่เราเป็นเด็กเล็ก เรารู้จักและคุ้นเคยในหมู่บ้านเมื่อเราเข้าโรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนใกล้บ้านที่อยู่ในหมู่บ้าน หรือในตำบลก็ได้ ส่วนในกรุงเทพมหานคร หลาย ๆ ชุมชนมารวมกันเรียกว่า แขวง และหลาย ๆ แขวงรวมกันเป็น เขต

      2.      ลักษณะต่าง ๆ ของชุมชนระดับตำบล
สภาพของตำบลแต่ละแห่งในท้องถิ่น จะแตกต่างกันไปตามสภาพของพื้นที่ บางตำบลอยู่บริเวณใกล้ทะเล บางตำบลอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ตำบลบางแห่งอยู่ในเมืองที่มีศูนย์การค้า บางแห่งเป็นตำบลในชนบท มีทุ่งนา ป่า ภูเขา
ลักษณะที่แตกต่างกันของชุมชน เป็นข้อมูลพื้นฐานที่ทำให้จำนวนประชากรของแต่ละตำบลจะมีมากหรือน้อยไม่เท่ากัน และการประกอบอาชีพ หรือการทำมาหากินของประชากรในตำบลจะมีความแตกต่างกันไปตามสภาพและลักษณะต่าง ๆ ของชุมชน เช่น
-    ตำบลทีมีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีปริมาณของน้ำฝนพอเหมาะ อากาศไม่แห้งแล้ง ประชากรส่วนมากจะมีอาชีพเพาะปลูก
-   ตำบลที่มีบริเวณทุ่งหญ้ากว้าง ประชากรมักจะมีอาชีพเลี้ยงสัตว์
-   ตำบลที่อยู่ติดกับแหล่งน้ำ เช่น แม่น้ำ หรือทะเล ผู้คนในตำบลส่วนมากจะมีอาชีพประมง
-   ตำบลที่อยู่ในเขตโรงงานอุตสาหกรรม ประชาชนก็จะมีอาชีพรับจ้าง หรือทำงานในโรงงาน และมีอาชีพค้าขายด้วย
-   ตำบลที่เป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการ ประชาชนก็จะมีอาชีพรับราชการ หรือพนักงานของรัฐ และมีอาชีพค้าขายด้วยเช่นกัน
-    ส่วนการคมนาคมในตำบลที่เป็นเส้นทางการติดต่อของคนในตำบล และติดต่อกับคนในตำบลอื่น บางตำบลมีเส้นทางที่ติดต่อกันได้ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ บางตำบลติดต่อกันได้ทางบกกับทางน้ำ บางแห่งติดต่อได้ทางบกและทางอากาศ
-    เรื่องสาธารณูปโภคที่สำคัญ ได้แก่ ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ในแต่ละตำบล ส่วนมากจะมีความพร้อมเกี่ยวกับระบบสาธารณูปโภค เพราะมีการจัดบริการด้านนี้ให้แก่ประชนชนอย่างทั่วถึงเกือบทุกตำบล แต่ยังมีบางตำบลที่อยู่ห่างไกลมาก ก็ยังให้บริการบางอย่างไปไม่ถึง

      3.     สถานที่ในตำบล
ในตำบลแต่ละแห่ง จะมีสถานที่สำคัญของชุมชน ซึ่งประชาชนที่อยู่ในตำบลนั้นจะรู้จักเป็นอย่างดี สถานที่บางแห่งเป็นความภาคภูมิใจของคนในตำบล บางแหล่งเป็นสถานที่ให้บริการด้านต่าง ๆ แก่ผู้คนในตำบล สถานที่ในตำบลเป็นข้อมูลน่าสนใจ และควรรู้จักเป็นอย่างดีของสมาชิกในตำบลนั้น ได้แก่
-    วัด ศาสนสถาน และปูชนียสถาน เป็นสถานที่ที่แต่ละตำบลมีอยู่ บางแห่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ มีโบราณสถาน ซึ่งมีเรื่องราวความเป็นมาในอดีต และมีร่องรอยให้เห็น จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งเรียนรู้ของชุมชนด้วย
-    โรงเรียนและสถานศึกษา เป็นสถานที่สำหรับการศึกษาเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน มีระดับตั้งแต่อนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา บางตำบลมีวิทยาลัย หรือศูนย์ศึกษาอบรมวิชาชีพให้แก่ผู้ที่สนใจ หรือมีมหาวิทยาลัยที่เป็นระดับอุดมศึกษาด้วย
-    สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาล เป็นสถานที่ให้บริการรักษาผู้ที่เจ็บป่วย และดูแลส่งเสริมสุขภาพ และอนามัยให้แก่สมาชิกของตำบล
-    สถานีตำรวจ เป็นสถานที่ทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นตำรวจ เพื่อรักษาความสงบ ความปลอดภัย รวมทั้งการจราจรของท้องถิ่น
-    ตลาดและศูนย์การค้า เป็นสถานที่ที่พ่อค้าแม่ค้านำสินค้าประเภทต่าง ๆ มาขาย ให้ความสะดวกแก่คนในตำบล สินค้าเหล่านี้อาจเป็นสินค้าที่มีในท้องถิ่น หรือนำมาจากแหล่งอื่นด้วย
-     ธนาคาร  เป็นสถานบริการเกี่ยวกับการเงินต่าง ๆ
-     สถานีรถไฟและสถานีขนส่ง เป็นสถานที่ให้บริการเกี่ยวกับการเดินทาง บางตำบลอาจมีท่าจอดหรือ หรือสนามบิน

นอกจากนี้บางตำบลยังมีสถานที่ต่าง ๆ เป็นพิเศษนอกเหนือจากที่กล่าวมา เช่น ส่วนสาธารณะชุมชน แหล่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ แหล่งอารยธรรมโบราณ แหล่งอาชีพ หรือแหล่งผลิตสินค้าที่สำคัญด้วย

       4.     การเปลี่ยนแปลงของชุมชนในตำบล
ชุมชนที่เราอยู่ในสมัยก่อน กับสมัยปัจจุบัน มีความแตกต่างกันอย่างมาก เมื่อเวลาผ่านไป ก็จะทำให้สิ่งต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลง

ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงในชุมชน เช่น
-          เส้นทางการคมนาคม ในสมัยก่อน ถนนที่อยู่ในเมืองไม่กว้างมาก รถยนต์แล่นสวนทางกันได้ข้างละ 1 คัน ปัจจุบัน มีการสร้างถนนที่กว้างขึ้นมาก เป็นข้างละสองทาง หรือ สามทาง บริเวณทางแยก มีสะพานลอย เป็นทางต่างระดับให้รถแล่นได้เร็วขึ้น โดยไม่ต้องรอสัญญาณไฟ มีขบวนรถที่มีคนโดยสารจำนวนมากแล่นบนเส้นทางลอยฟ้า หรือแล่นในใต้ดินอย่างรวดเร็ว เรียกว่ารถไฟฟ้า เมื่อให้เดินทางได้โดยไม่ติดขัด และกำหนดเวลาในการเดินทางได้อย่างสะดวก ในชุมชนเมืองหลวง คือ กรุงเทพมหานคร
-          ชุมชนที่อยู่ริมคลอง ในอดีต คนสมัยก่อนนิยมตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยตามริมแม่น้ำลำคลอง เพื่อเป็นเส้นทางคมนาคม และใช้น้ำในแม่น้ำลำคลองเพื่ออาบน้ำ ซักเสื้อผ้า รดน้ำต้นไม้ คนในชุมชนมีอาชีพเพาะปลูก เพราะมีแหล่งน้ำ โดยทำสวนผลไม้ สวนผัก บางแห่งก็ทำนา แต่ในปัจจุบันต้องถมคลอง เพื่อสร้างถนน และทำท่อระบาย มีโรงงานอุตสาหกรรม และบ้านจัดสรรเพิ่มมากขึ้น อาชีพเปลี่ยนเป็นรับจ้าง บางครอบครัวต้องย้ายไปอยู่ถิ่นอื่น คนที่มีอาชีพเพาะปลูกก็ไม่อยากทำ บางคนก็ขายที่ดินไป การเดินทางในชุมชนรวดเร็วขึ้น เพราะมีรถชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ หรือรถมอเตอร์ไซด์ ที่สะดวก รวดเร็ว และคล่องตัวมาก แต่ก็มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นมากเช่นกัน
จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า ปัจจุบันชุมชนย่อมมีการเปลี่ยนแปลงจากอดีตเป็นอย่างมาก จำนวนคนก็เพิ่มขึ้น ซึ่งลักษณะของการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดปัญหาต่อชุมชน บางอย่างทำให้เกิดความสะดวกสบาย ดังนั้น สมาชิกในชุมชนต้องร่วมมือกันพัฒนาชุมชนให้เป็นไปในทางที่ดี

       5.      การปฏิบัติตนเป็นสมาชิกในชุมชน
การเป็นสมาชิกในชุมชนต้องรู้และเข้าใจบทบาทหน้าที่และการปฏิบัติตนให้ถูกต้อง เหมาะสม เพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ความเจริญ จึงควรรู้จัก เข้าใจ และนำไปปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสมในเรื่องต่อไปนี้

ก.     สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของบุคคล
สิทธิ หมายถึง ประโยชน์ของบุคคลที่กฎหมายรับรองและคุ้มครอง ซึ่งบุคคลอื่นต้องเคาพรหรือไม่กระทำการใด ๆ ให้กระทบกระเทือนสิทธิของเขา เช่น
o  บุคคลมีสิทธิในทรัพย์สินของตน บุคคลอื่นจะล่วงละเมิด หรือลักขโมยไม่ได้
o  บุคคลมีสิทธิในการเลือกตั้ง ตามที่กฎหมายกำหนด
o  บุคคลมีสิทธิในการเดินทาง ฯลฯ

เสรีภาพ หมายถึง การกระทำของบุคคล ตามสิทธิที่มีอยู่ แต่ต้องไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น เมื่อบุคคลมีสิทธิแล้ว ย่อมมีเสรีภาพด้วย ซึ่งเสรีภาพต้องอยู่ในขอบเขตของกฎหมายด้วย เช่น
o  มีเสรีภาพในการใช้ทรัพย์สินของตนที่มีอยู่
o  มีเสรีภาพในการเลือกบุคคลในการเลือกตั้งผู้แทน
o  มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา

หน้าที่ หมายถึง ความรับผิดชอบที่เราต้องทำ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หน้าที่บางประการต้องปฏิบัติไปพร้อมกับสิทธิ และเสรีภาพ เช่น
o  หน้าที่ในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทน โดยมีเสรีภาพในการเลือก
o  หน้าที่ในการเสียภาอากรตามกฎหมาย
o  หน้าที่ในการศึกษาเล่าเรียนในภาคการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ข.  สิทธิของเด็กไทย
เด็กไทย หมายถึง ผู้ที่มีอายุไม่เกิน 14 ปี บริบูรณ์ และเกิดในประเทศไทย
เราควรทราบเรื่องสิทธิของเด็กไทย ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ระบุว่า บุคคลย่อมมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน ดังนั้น เด็กไทยทุกคน ควรได้รับการคุ้มครองตามสิทธิพื้นฐาน อย่างน้อย 4 ประการ ดังนี้
-    สิทธิที่จะมีชีวิต เด็กทุกคนต้องได้รับการเลี้ยงดู หรือดูแลให้ไดรับปัจจัย 4 ของมนุษย์ คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรคอย่างเพียงพอ รวมทั้งการมีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
-    สิทธิที่จะได้รับการปกป้อง เด็กทุกคนต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง ทั้งร่างกาย และจิตใจ เช่น ได้รับการคุ้มครองจากการถูกทอดทิ้ง ถูกระทำโดยมิชอบ ถูกล่วงละเมิด เป็นต้น
-    สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา เด็กทุกคนต้องได้รับการพัฒนาทุกด้าน เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถตามกำลังของตน รวมถึงเด็กพิการต่าง ๆ ด้วย
-    สิทธิที่จะมีส่วนร่วม เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในกิจกกรมต่าง ๆ ของสังคม เช่น การแสดงความสามารถ และการแสดงความคิดเห็น

ค.  วิถีประชาธิปไตย ในชุมชนระดับตำบล
วิธีประชาธิปไตย เป็นแนวทางการปฏิบัติตนในชีวิตประจำวันจนเป็นนิสัย เพื่อให้มีการอยู่ร่วมกันในสังคมตามหลักการประชาธิปไตย คือ เน้นถึงความถูกต้อง เหมาะสม เพื่อคนกลุ่มใหญ่ มีเหตุผลในการกระทำ ไม่เอาแต่ใจตัวเอง และไม่ให้เกิดความเดือดร้อนต่อตนเองและส่วนรวม

การปฏิบัติตนตามวิถีประชาธิปไตยในสังคมร่วมกัน มีดังนี้
1)  ทำตามกฎระเบียบข้อบังคับที่มีกำหนดไว้ เช่น การปฏิบัติตามกฎจราจร การรักษาความสะอาดในที่สาธารณะ
2)   รับผิดชอบในหน้าที่ของตน เช่น หน้าที่ของลูก หน้าที่ของการเป็นนักเรียน หน้าที่ต่อครอบครัว หน้าที่บริการในโรงเรียน และการทำงาน
3)   รู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่น เช่น การเข้าแถวรับสิ่งของหรือรับบริการตามลำดับก่อนหลัง ผู้ที่ชอบแซงแถว เป็นการละเมิดสิทธิของคนอื่น จะถูกตำหนิ หรือได้รับการดูถูก
4)   รู้จักเคารพในความคิดเห็นของผู้อื่น ยอมรับข้อปฏิบัติของกลุ่มที่มีเสียงข้างมาก เมื่อมีการเสนอข้อคิดเห็นต่าง ๆ
5)  ให้ความร่วมมือในการทำงานของทางราชการด้วยความเต็มใจ เพื่อให้งานส่วนรวมมีความสำเร็จ
6)   ให้ข้อเสนอแนะ หรือข้อคิดในการปรับปรุง หรือพัฒนางานต่าง ๆ ของชุมชน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม
7)   ช่วยกันรณรงค์ และต่อต้านสิ่งเสพติดและอบายมุขทั้งปวง ให้ความร่วมมือกับทางราชการในการป้องกันภัยจากสิ่งเสพติด
8)   ช่วยกันรักษาและพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ชุมชนน่าอยู่ ไม่มีมลพิษ รวมทั้งดูแลรักษาโบราณสถานที่มีในชุมชนให้คงอยู่ด้วย

      6.      การช่วยกันพัฒนาชุมชน
ชุมชนในปัจจุบันแต่ละแห่ง ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต สาเหตุ เพราะจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น และความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีที่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ  ผลของการเปลี่ยนแปลงบางอย่างทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้า บางอย่างก่อให้เกิดปัญหาตามมา ซึ่งสมาชิกทุกคนในชุมชนต้องการให้สภาพปัญหาของชุมชนหมดไป และอยากให้ชุมชนมีความสะดวก สบาย สงบ และน่าอยู่ ทุกคนต้องมีจิตสำนึก และร่วมแรงร่วมใจในการพัฒนาชุมชนให้ดีตลอดไป
การพัฒนาชุมชนมีผลทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น สมาชิกมีจิตสำนึกร่วมกัน ช่วยกันจัดกิจกรรมที่ดี มีประโยชน์ต่อส่วนรวม ตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยทำให้มีการพัฒนา มีดังนี้

ก.     การรวมกลุ่มเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชน
การรวมกลุ่มเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชน เป็นการร่วมแรงร่วมใจกันทำความดี เนื่องในโอกาสพิเศษ เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษา วันสำคัญทางศาสนา ซึ่งผู้นำชุมชน คือ สภาตำบล ช่วยกันคิดวางแผนในการทำงาน เช่น ร่วมกันกำหนดรูปแบบขั้นตอนการทำงาน การบอกกล่าว หรือประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนในตำบลได้รับรู้ และเชิญชวนให้มาร่วมมือร่วมแรง และร่วมใจกัน
ตัวอย่างของกิจกรรมเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชน เช่น
-    ปลูกต้นไม้ในที่สาธารระของชุมชน เพื่อลดมลพิษของอากาศ มีความร่มรื่นสวยงาม
-    การเก็บกวาดขยะ ทำความสะอาดบริเวณวัด โบราณสถาน หรือสถานที่ต่าง ๆ ในชุมชน เพื่อลดความสกปรกรกรุงรัง
-    ขุดลอกคูคลอง ที่เป็นทางระบายน้ำให้ไหลได้สะดวก ทำให้น้ำไม่เน่าเหม็น และไม่ให้เป็นแหล่งเพาะยุง

ข.  ประเพณีท้องถิ่นที่จัดขึ้นเป็นประจำ
ในชุมชนบางท้องถิ่น มีพระเพณีสำคัญที่จัดให้มีเป็นประจำ ได้แก่ ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีลอยกระทง พระเพณีทอดกฐาน ทอดผ้าป่าของวัดในชุมชน การทำบุญตักบาตรข้าวสาร อาหารแห้งในวันขึ้นปีใหม่ บางชุมชนอาจมีงานสำคัญพิเศษประจำปี เช่น งานแข่งขันพายเรือยาว งานชักพระ งานบุญบั้งไป เทศกาลกินเจ งานนมัสการพระพุทธรูปที่สำคัญของชุมชน
กิจกรรมต่าง ๆ ของประเพณีท้องถิ่นเหล่านี้ แสดงถึงการร่วมแรงร่วมใจของสมาชิกในชุมชนที่จัดงานประเพณี ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของตำบล หรือท้องถิ่น และความสามัคคีในการพัฒนาชุมชน

ค.  ร่วมรณรงค์ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
เมื่อมีการเลือกตั้งผู้แทนในระดับต่าง ๆ ให้ช่วยกันเชิญชวนสมาชิกในชุมชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง ออกไปใช้สิทธิของตนเองตามหน้าที่ของพลเมืองดี ที่มีต่อการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยของประเทศ

ง.   ร่วมกันต่อร้าน ป้องกัน และปราบปรามภัยจากสารเสพติด และการพนัน
ภัยจากสารเสพติด และการพนันทุกชนิด ทำให้เกิดปัญหารุนแรงที่ต่อเนื่องไปยังปัญหาอื่น ๆ อีกมากมายในชุมชน และเกิดความเดือดร้อน ชุมชนไม่สงบสุข ทุกคนในชุมชนต้องหลีกเลี่ยง และช่วยกันดูแล เพื่อป้องกันและปราบปราม
การที่เรารู้จักสนใจศึกษาเรื่องราวในชุมชนที่เราอยู่ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน ทำให้เราได้รู้และเข้าใจการดำเนินชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีของท้องถิ่นที่สืบทอดกันมา ทำให้เกิดความรัก และความภาคภูมิใจในสิ่งที่ดีงาม และมีส่วนร่วมในการรักษาสืบทอดสิ่งที่ดีงามของชุมชนของเราให้คงอยู่ ซึ่งทำให้ทุกชุมชนอยู่กันอย่างสงบสุข เป็นผลดีแก่ประเทศชาติด้วย

      7.      องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
ชุมชนระดับตำบล มีหน่วยงานบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งประชาชนในท้องถิ่นนั้นมีส่วนร่วมในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย หน่วยงานนี้คือ องค์การบริหารส่วนตำบลมีชื่อเรียกย่อว่า อบต. ประกอบด้วย
1)  สภาองค์การบริหารส่วนตำบล ทำหน้าที่ออกกฎข้อบังคับ และควบคุมการทำงานของฝ่ายบริหาร ซึ่งได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในหมู่บ้าน
2)   นายกองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นฝ่ายบริหารงานในตำบลให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ตำบลนั้น

อำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล
อบต. มีหน้าที่พัฒนาตำบลในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม มีดังนี้
1)  รักษาความสะอาดของถนน ทางเดิน แม่น้ำลำคลอง และที่สาธารณะภายในตำบล รวมทั้งกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
2)  ป้องกันโรคติดต่อและบรรเทาสาธารณภัย
3)  ส่งเสริมการศึกษาของเยาวชน รวมทั้งศาสนา และวัฒนธรรม
4)  ส่งเสริมการประกอบอาชีพของราษฎร
5)  ดูแล อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
6)  คุ้มครอง และดูแลรักษาศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาของท้องถิ่น
7)  ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ที่ทางราชการมอบหมาย

คณะกรรมการบริหารงานในตำบล ประกอบด้วย
1)   กำนัน เป็นหัวหน้าตำบล ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในตำบลนั้น มีหน้าที่ควบคุมดูแล รักษาความสงบเรียบร้อยของตำบล โดยใช้บ้านของกำนันเป็นที่ทำการ
2)  แพทย์ประจำตำบล มีหน้าที่ดูแล รักษาคนเจ็บป่วยในตำบล และคอยดูแลไม่ให้มีแหล่งเพาะเชื้อโรคด้วย
3)  ผู้ใหญ่บ้าน เป็นหัวหน้าหมู่บ้าน มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยในหมู่บ้าน
4)   สารวัตรกำนัน มีหน้าที่ ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายจากกำนัน และคอยช่วยเหลือกำนันในการทำงาน
5)  กรรมการตำบลผู้ทรงคุณวุฒิ มีหน้าที่แนะนำแก่กำนัน เกี่ยวกับเรื่องการบริหารงานในตำบล

โครงสร้างการบริหารงานในตำบล
สถานภาพ บทบาท และอำนาจหน้าที่ของบุคคลที่เกี่ยวข้อ คือ
1)   นายอำเภอ เป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าการปกครองของอำเภอ ทำหน้าที่ควบคุมดูแลตำบล และหมู่บ้านภายในเขตอำเภอ ให้เป็นไปตามนโยบายการบริหารของรัฐบาล
2)  กำนัน มีบทบาทเป็นหัวหน้าควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อยของตำบล
3)  ผู้ใหญ่บ้าน มีบทบาทเป็นหัวหน้าควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อยของหมู่บ้าน
กำนันและผู้ใหญ่บ้าน มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในท้องถิ่นนั้น มีอำนาจหน้าที่คล้ายกัน แต่กำนันเป็นหัวหน้าของตำบล จะทำหน้าที่เพิ่มมากขึ้นจากผู้ใหญ่บ้าน โดยกำนันมีหน้าที่ ดังนี้
1)   ควบคุมดูแลไม่ให้เกิดเหตุร้าย เช่น การทำร้าย การฆ่า การลักทรัพย์ ปล้นทรัพย์ การเกิดจลาจล และการทำผิดกฎหมายต่าง ๆ
2)   ถ้ามีการทำผิดกฎมาย ต้องแจ้งต่อนายอำเภอให้ทราบ และจับตัวผู้ทำผิดกฎหมายส่งต่อนายอำเภอ
3)  ควบคุมดูแลประชาชนในตำบล ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย และระเบียบวินัยของทางราชการ
4)  ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ราษฎร ผูประสบภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้
5)  ส่งเสริมให้ประชาชนเสียภาษีอากร
6)  จัดทำบัญชีสำมะโนครัวให้ถูกต้อง ตรงกับบัญชีของผู้ใหญ่บ้าน
7)  รักษาทรัพย์สินส่วนรวมของตำบล เช่น ศาลาที่พัก บริเวณที่เลี้ยงสัตว์ สระน้ำสาธารณะ

       8.      กฎหมายควรรู้ที่เกี่ยวข้องกับตนเองและครอบครัว
กฎหมาย คือ ระเบียบข้อบังคับให้ทุกคนในประเทศปฏิบัติตาม ซึ่งกำหนดขึ้นโดยคณะผู้แทนราษฎร และนำมาใช้เพื่อให้เกิดระเบียบและการปฏิบัติที่ถูกต้อง เหมาะสม ในการอยู่ร่วมกันในสังคม เราต้องรู้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตนเองและครอบครัว ในฐานะที่เป็นคนไทย เพื่อปฏิบัติได้ถูกต้อง ทันเวลา และเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตนเองและครอบครัวที่ควรรู้ คือ
1)     การแจ้งเกิด เมื่อมีเด็กเกิด ต้องมีการแจ้งเกิดต่อนายทะเบียนท้องที่ โดยมี 3 กรณี ดังนี้
o  เด็กเกิดในบ้านที่อยู่อาศัย ให้เจ้าบ้านหรือพ่อแม่ของเด็กแจ้งเกิดภายใน 15 วัน นับจากวันที่เด็กเกิด
o  เด็กเกิดที่บ้านอื่นที่ไม่ใช่บ้านที่อยู่อาศัยจริง ให้พ่อหรือแม่หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายแจ้งเกิดภายใน 15 วัน นับแต่วันเด็กเกิด
o  เด็กเกิดที่โรงพยาบาล ให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาล หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายแจ้งเกิดต่อนายทะเบียน ซึ่งจะใส่ชื่อเด็กในสำนักทะเบียนกลางก่อน แล้วออกใบแจ้งย้ายให้แก่พ่อแม่ของเด็ก เพื่อนำไปย้ายเข้าทะเบียนบ้านต่อไป
เมื่อรับแจ้งเกิดแล้ว นายทะเบียนจะออกในสูติบัตรให้เพื่อเป็นหลักฐาน สำหรับผู้ที่เป็นนายทะเบียน มีดังนี้
o  ในเขตกรุงเทพมหานคร นายทะเบียน คือ หัวหน้าเขต
o  ในเขตเทศบาล นายทะเบียนท้องถิ่น คือ ปลัดเทศบาล
o  นอกเขตเทศบาล นายทะเบียนท้องถิ่น คือ กำนัน

2)  การแจ้งตาย เมื่อมีคนตายในบ้าน ให้เจ้าบ้านเป็นผู้แจ้งภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ตาย ถ้าตายนอกบ้านให้ผู้ที่พบศพเป็นผู้แจ้งต่อนายทะเบียนภายใน 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่เวลาที่พบศพ โดยนายทะเบียนจะออกใบมรณบัตรให้แก่ผู้แจ้งไว้เป็นหลักฐาน
3)  การแจ้งย้ายที่อยู่ จะเป็นการย้ายออกหรือย้ายเข้า ให้เจ้าของบ้าน หรือตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจไปแจ้งภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ย้ายออกหรือย้ายเข้า
4)  การศึกษา เด็กที่มีอายุ 7 ปีบริบูรณ์ ต้องเข้าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา จนถึงอายุ 15 ปี โดยทางราชการจะประกาศให้พ่อแม่ ผู้ปกครองของเด็กนั้นไปแจ้งตามรายการสำรวจเด็ก
5)  การทำบัตรประจำตัวประชาชน คนไทยทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปี บริบูรณ์ จนถึงอายุ 70 ปี บริบูรณ์ ต้องไปขอทำบัตรประจำตัวประชาชน ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีอายุครบ
บัตรประจำตัวประชาชน จะระบุชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิด ภูมิลำเนา หรือที่อยู่ รูปถ่ายของเจ้าของบัตร และที่สำคัญ คือ เลขประจำตัวประชาชนที่มีจำนวน 13 หลัก
6)  การขึ้นทะเบียนทะหาร ผู้ชายที่มีสัญชาติไทยตามกฎหมาย มีหน้าที่รับราชการทหารทุกคน เมื่อมีอายุย่าง 18 ปี ต้องไปแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกิดที่อำเภอท้องที่ ซึ่งเป็นภูมิลำเนาทหารของตน ภายในเดือนพฤศจิกายนของปีนั้น ๆ และต้องการตรวจเลือดเข้าเป็นทหารกองประจำการ เมื่ออายุย่างเข้า 21 ปี
7)  การเสียภาษีเงินได้ ผู้ที่ทำงานมีเงินได้จากหน้าที่การงาน หรือเงินได้จากกิจการที่ทำในประเทศไทย หรือเงินได้จากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย ต้องมีการเสียภาษีเงินได้ให้แก่ประเทศ โดยผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีระหว่างเอนมกราคม ถึงเดือนมีนาคมของทุกปี

       9.      เอกสารสำคัญของทางราชการที่เกี่ยวข้องกับบุคคล
เอกสารสำคัญของทางราชการที่ออกให้แก่ประชาชนตามกฎหมายกำหนด และต้องนำไปใช้ในโอกาสต่าง ๆ ที่เหมาะสม ต้องเก็บรักษาให้ดี เอกสารเหล่านี้มีการใช้ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ต้องถ่ายสำเนาเอกสารและลงชื่อรับรองในใบถ่ายสำเนา ส่วนเอกสารตัวจริงต้องเก็บไว้เสมอ

เอกสารสำคัญ ได้แก่
1)   บัตรประจำตัวประชาชน เป็นเอกสารประจำตัวของคนไทยทุกคน โดยมีภาพถ่ายของบุคคลเจ้าของบัตร มีข้อมูลสำคัญของบุคคลนั้น เพื่อใช้ยืนยันว่าเป็นคนไทยที่ถูกต้องตามกฎหมาย
2)   เอกสารทะเบียนบ้าน เป็นเอกสารประจำบ้าน บอกเลขที่ และที่ตั้งของบ้าน มีรายชื่อบุคคลทั้งหมดที่อยู่ในบ้าน ซึ่งแต่ละคนจะมีข้อมูลเกี่ยวกับ ชื่อ นามสกุลของบุคคล วันเดือนปีเกิด ชื่อบิดา มารดา เป็นเกสาระสำคัญที่ยืนยันยุคคลว่า เป็นคนไทยตามกำหมาย
3)  ในสูติบัตร เป็นเอกสารแจ้งการเกิดของเด็ก ที่แสดงวันเดือนปีเกิด สัญชาติ ชื่อ – นามสกุลของพ่อแม่ ชื่อ – นามสกุลของเด็ก ชื่อสถานที่หรือภูมิลำเนาที่เกิดของเด็ก ใช้เป็นหลักฐานในการเข้าโรงเรียน และยืนยันผู้ให้กำเนิด รวมทั้งสถานที่เกิดของเด็ก
4)  ใบมรณบัตร เป็นเอกสารแจ้งการตายของบุคคล โดยระบุวันเดือนปีที่ตาย และสาเหตุขอการเสียชีวิต

     10. เรียนรู้เรื่อง สถานภาพ บทบาทหน้าที่ สิทธิเสรีภาพของตนเองและผู้อื่น
ในการอยู่ร่วมกันในสังคมที่เป็นชุมชนในระดับต่าง ๆ เช่น สังคมครอบครัว โรงเรียน ตำบล จะมีลุคคลและกลุ่มบุคคลที่มีสถานภาพ บทบาท หน้าที่ ตลอดจนสิทธิ และเสรีภาพที่มีความแตกต่างกัน ถ้าสมาชิกในชุมชนมีความรู้ ความเข้าใจ และปฏิบัติตามสถานภาพ บทบาท หน้าที่ สิทธิและเสรีภาพของตนอย่างถูกต้อง เหมาะสม จะทำให้สังคมนั้นมีความเจริญ ก้าวหน้า และสมาชิกในชุมชนตะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

1)   สถานภาพ
สถานภาพ หมายถึง ตำแหน่งที่บุคคลได้รับทางสังคม ซึ่งสถานภาพจะเป็นสิ่งที่กำหนดสิทธิ และหน้าที่ของบุคคลนั้นว่า มีสิทธิในเรื่องใด และมีหน้าที่ที่ควรปฏิบัติตนต่อผู้อื่นที่เกี่ยวข้องอย่างไร บุคคลคนหนึ่งอาจมีหลายสถานภาพ เช่น เป็นผู้หญิง เป็นแม่ เป็นครูผู้สอนชั้นประถมศึกษา

สถานภาพ มี 2 แบบ คือ
(1)   สถานภาพโดยกำเนิน ซึ่งเปลี่ยนแปลงยาก เช่น เพศ เชื่อชาติ พ่อ แม่ ลุก
(2)   สถานภาพที่ได้รับภายหลัง อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่าสถานภาพแรก เช่น อาชีพ สามี ภรรยา
ลักษณะของสถานภาพ
(1)   สถานภาพทางเครือญาติ ได้แก่ พ่อ แม่ ลูก พี่น้อง
(2)   สถานภาพทางเพศ คือ เพศชาย เพศหญิง
(3)   สถานภาพทางเชื่อชาติ ได้แก่ คนไทย คนจีน คนฝรั่งเศส
(4)   สถานภาพทางการศึกษา ได้แก่ นักเรียนระดับประถมศึกษา  บัณฑิตเรียนจบปริญญาตรี
(5)   สถานภาพทางอาชีพ ได้แก่ ครู บุรุษไปรษณีย์ ชาวสวน แพทย์และพยาบาล
(6)   สถานภาพทางการสมรส ได้แก่ ชายหญิงแต่งงานกันเป็นสามีภรรยา

2)  บทบาท
บทบาท หมายถึง การปฏิบัติหน้าที่ และปฏิบัติตามสถานภาพ เช่น
เด็ก มีสถานภาพเป็นลูก มีบทบาทที่ต้องเชื่อฟ้งคำสั่งสอนของพ่อแม่ ช่วยเหลืองานในบ้านให้ท่าน
ผู้ใหญ่ มีสถานภาพเป็นครู มีบทบาทในการสอนสั่ง อบรม และให้ความรู้แก่นักเรียน เพื่อให้เป็นพลเมืองดีต่อไป

3)  หน้าที่
หน้าที่ หมายถึง ความรับผิดชอบที่เราต้องปฏิบัติตามสถานภาพ และบทบาทของตน และปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด

ส่วนหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่
o  การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เมื่อมีอายุครอบ 18 ปี
o  การเสียภาษีอากรให้แก่รัฐ เมื่อทำงานมีรายได้

ดังนั้น สถานภาพ บทบาท และหน้าที่ จึงเป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์กัน เมื่อแต่ละคนมีสถานภาพแตกต่างกัน ก็ต้องปฏิบัติตนตามบทบาทและหน้าที่ของตนให้สอดคล้องกับสถานภาพด้วย

4)    สิทธิ
สิทธิ หมายถึง ความเสมอภาคกัน ที่ทุกคนจะได้รับการคุ้มครอง ภายใต้ขอบเขตการกำหนดของกฎหมาย
o  สิทธิในการได้รับการศึกษา
o  สิทธิในทรัพย์สินของตน
o  สิทธิในการได้รับบริการทางด้านสาธารณสุข

5)     เสรีภาพ
เสรีภาพ หมายถึง ความมีอิสระที่จะทำการใด ๆ ได้ตามสิทธิที่มีอยู่ โดยไม่ล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น และอยู่ในเขอบเขตของกฎหมายที่กำหนดไว้ เช่น
o  เสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนา
o  เสรีภาพในการประกอบอาชีพ
o  เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
o  เสรีภาพในการพูดและเขียนโดยไม่ละเมิดต่อผู้อื่น



Download - เนื้อหา


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Blog เพื่อนการศึกษา

***Blog เพื่อนการศึกษา*** สรุปเนื้อหาเข้า ป.1 - ม.6 สรุปเนื้อหา - วิชาสังคมศึกษา ป.3 (สรุปตามสาระการเรียนรู้) แบบทดสอบประจำหน่วยการเรียนรู...