Download - เนื้อหา
บทที่ 3 สิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา
1. สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางธรรมชาติ
ก. ความหมายและลักษณะของสิ่งแวดล้อม
สิ่งแวดล้อม หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเรา ทั้งเป็นสิงมีชีวิต และสิ่งไม่มีชีวิต มีทั้งเห็นด้วยตา จังต้องได้ หรืออาจมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า สิ่งแวดล้อมจึงแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
1) สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของชีวิตเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่ ดิน หิน แร่ธาตุ ป่าไม้ แหล่งน้ำ อากาศ เราควรเรียนรู้ถึงความสำคัญ ชนิด และประโยชน์ต่อชีวิต เราต้องรู้จักการใช้และการดูแลให้เหมาะสม เพื่อให้คงสภาพที่ดี ใช้ประโยชน์ต่อไปได้นาน ๆ ถ้าไม่รู้จักการใช้ในทางที่ถูกต้อง มีความมักง่าย และใช้มากจนเกินไป ก็จะเกิดมลพิษอย่างรุนแรง มีผลเสียต่อความเป็นอยู่ของชีวิต ทั้งคน พืช สัตว์ เราต้องศึกษาเรียนรู้ประโยชน์ การใช้อย่างถูกต้อง ประหยัด ช่วยกันดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงถึงความตระหนักในคุณค่าของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ
2) สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ สิ่งก่อสร้างที่มนุษย์ทำขึ้นมา เพื่อใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตร่วมกันในสังคม ได้แก่ การสร้างแหล่งที่พักอาศัย แหล่งเพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์ สิ่งสาธารณูปโภค เช่น ถนน สะพาน เขื่อน ทางรถไฟ สนามบิน เป็นต้น และยังมีแหล่งเรียนรู้ที่สร้างขึ้นอย่างมีคุณค่า เช่น โบราณสถาน วัดวาอาราม วนอุทยาน พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ
ข. ความหมายและลักษณะของทรัพยากรธรรมชาติ
ทรัพยากรธรรมชาติ หมายถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และมีคุณค่าแก่มนุษย์ในการดำรงชีวิต ดังนั้น ทรัพยากรธรรมชาติทุกอย่างเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งแวดล้อมทุกชนิดไม่ใช่ทรัพยากรทั้งหมด ขึ้นอยู่กับการนำมาใช้ประโยชน์ได้ตรงกับความต้องการของมนุษย์ จึงเรียกว่า ทรัพยากรธรรมชาติ
ทรัพยากรธรรมชาติ แบ่งได้ดังนี้
1) ทรัพยากรหมุนเวียน เป็นทรัพยากรที่ใช้ไม่หมดสิ้น ซึ่งมีอยู่มากมายในธรรมชาติ และมีความจำเป็นแก่ชีวิตทั้งหมด ได้แก่ แสงอาทิตย์ อากาศ แหล่งน้ำธรรมชาติ
2) ทรัพยากรทดแทน คือ ทรัพยากรที่มนุษย์ต้องการใช้มาก เพราะเป็นส่วนประกอบของปัจจัยสี่ที่ใช้ในการดำรงชีวิต เมื่อใช้แล้วสามารถฟื้นคืนสภาพทดแทนได้ ได้แก่ ดิน น้ำ สัตว์น้ำ ป่าไม้ สัตว์ป่า
3) ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป คือ ทรัพยากรที่ไม่สามารถเกิดขึ้นมาทดแทนได้ หรือใช้เวลานานมากในการทดแทน เป็นทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ได้แก่ แร่ธาตุต่าง ๆ น้ำมันปิโตรเลียม แก๊สธรรมชาติ
2. ประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติ
ประเทศไทย มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ซึ่งให้คุณค่า และมีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของคนไทยในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1) ดิน เป็นส่วนหนึ่งของพื้นผิวโลก ที่เกิดจากหินที่แตกละเอียด ปนกับซากพืช ซากสัตว์ คนเราใช้เป็นที่ตั้งบ้านเรือน ใช้ดินในการเพาะปลูกพืชชนิดต่าง ๆ เพื่อนำมาทำอาหาร สร้างที่อยู่อาศัย ทำเครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค นอกจากนี้ ดินยังใช้ปั้นทำเครื่องใช้ได้หลายอย่าง เช่น กระถาง โอ่ง แจกัน
2) หิน เป็นก้อนแข็ง มีมากตามภูเขา คนนำหินมาใช้ในการก่อสร้างบ้าน อาคาร ถนน สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ และเครื่องใช้ที่ทำจากหิน เช่น ครก โม่ เครื่องประดับจากหินชนิดต่าง ๆ ที่มีสีสวยงามตามธรรมชาติ
3) ทราย เป็นเม็ดเล็ก ๆ ร่วนแต่แข็ง ไม่จับตัวกันเป็นก้อนเหมือนดินหรือหิน มีอยู่มากตามชายทะเล หรือแม่น้ำ ทรายมีประโยชน์มากในการก่อสร้างบ้านเรือน พืชบางชนิดชอบขึ้นตามดินทราย เช่น ปาล์ม มะพร้าว นอกจากนี้ ทรายยังใช้ทำแก้วได้ด้วย
4) น้ำ เป็นของเหลว คนเราใช้นำในการดื่ม ปรุงอาหาร ชำระล้างสิ่งสกปรกของร่างกาย เสื้อผ้า ภาชนะ จึงต้องเป็นน้ำสะอาดที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่มีเชื้อโรค น้ำยังมีประโยชน์ต่อพืชและสัตว์อีกมากมาย เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำต่าง ๆ ทั้งในน้ำเค็มและน้ำจืด น้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการปลูกพืช และน้ำยังเป็นเส้นทางของการไปมาติดต่อกันอีกด้วย
5) อากาศ มีลักษณะเป็นแก๊สอยู่รอบตัวเรา อากาศเป็นสิ่งสำคัญมากต่อสิ่งมีชีวิต คน พืช และสัตว์ ต้องใช้อากาศในการหายใจ ซึ่งต้องเป็นอากาศที่บริสุทธิ์ สดชื่น ไม่มีกลิ่น ไม่มีควัน หรือฝุ่นละออง แหล่งอากาศที่ดี ได้แก่ ชายทะเล ทุ่งนา ภูเขา
6) ป่าไม้ คือ บริเวณที่กว้างใหญ่ มีต้นไม้ชนิดต่าง ๆ ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ป่าไม้มีความชุ่มชื้น ช่วยทำให้ฝนตก อากาศเย็นสบาย รากของต้นไม้จะดูดซับน้ำไว้ ทำให้ไม่เกิดน้ำท่วม ป่าไม้ที่อยู่ตามบริเวณภูเขาจะเป็นที่เกิดของต้นน้ำลำธาร เป็นแหล่งอาหารของสิ่งมีชีวิต ป่าไม้จึงเป็นทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีคุณค่ามหาศาล
3. ผลของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
ในปัจจุบันนี้ จำนวนประชากรของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีการเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจกันมาก จึงมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือย ให้ผิดวิธี ไม่คำนึงถึงผลที่ตามมา จึงทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม เกิดมลพิษด้านต่าง ๆ ทำให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์ต้องเดือดร้อน มีปัญหาตามมาอีกหลายด้าน ซึ่งผลของการใช้ทรัพยากรที่ไม่ระมัดระวัง ใช้มากเกิดไป แสดงถึงความเห็นแก่ตัว ย่อมเกิดผลกระทบต่อส่วนรวม ทำให้เกิดความเดือดร้อนไปทั้งหมด และในที่สุดทรัพยากรธรรมชาติก็จะหมดไป หรือไม่มีคุณภาพต่อชีวิต การกระทำที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อทรัพยากรธรรมชาติ มีดังนี้
1) การทิ้งขยะหรือสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำลำคลอง เกิดจากความมักง่าย และการปล่อยน้ำเสียจากบ้านเรือน จากโรงงานลงไปตามแหล่งน้ำ ทำให้สิ่งมีชีวิตในน้ำต้องตาย สาเหตุดังกล่าวนี้ ทำให้น้ำในแม่น้ำลำคลองเน่าเสียมาก
2) การตัดไม้ทำลายป่าจำนวนมาก เพื่อสร้างแหล่งที่อยู่อาศัย หรือแหล่งเพาะปลูก มีผลทำให้ฝนไม่ตกตามฤดูกาล เกิดความแห้งแล้ง ถ้ามีฝนตกมาก ไม่มีรากพืชดูดซับน้ำไว้ ก็จะทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างฉับพลัน สร้างความเสียหายและเดือดร้อนไปทั่ว ผลเสียอีกประการหนึ่ง คือ ไม่มีต้นไม้ก็ทำให้น้ำในต้นน้ำลำธารมีน้อย ทำให้ขาดแคลนน้ำ และขาดแคลนอากาศบริสุทธิ์ด้วย
3) การใช้สารเคมีการการเพาะปลูกมากเกินไป โดยมีความต้องการที่จะเร่งผลผลิตจากการปลูกพืช ทำให้มีผลกระทบต่อดินที่ขาดการบำรุง การใช้ปุ๋ยเคมีจะทำให้ดินแข็งมากขึ้น แต่ความอุดมสมบูรณ์ของดินตามธรรมชาติลดลง
4) การปล่อยควันพิษ เป็นควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม หรือควันพิษจากรถยนต์ จากการเผาขยะ ล้วนแต่ทำให้อากาศเสีย คนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงต้องสูดดมควันพิษเหล่านี้เป็นประจำ ทำให้สุขภาพเสื่อมโทรมและอ่อนแอง่าย
4. การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
อนุรักษ์ หมายถึง การป้องกันรักษา การคุ้มครอง ดูแล ดังนั้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ คือ การดูแล ป้องกันรักษา รวมทั้งฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ ให้อยู่ในสภาพที่ดี ให้ประโยชน์อย่างเหมาะสมเป็นที่น่าพอใจ
ผู้ที่ทำให้สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติเกิดความเสียหาย มีปัญหากระทบไปทุก้าน คือ คน ถ้าโลกนี้ไม่มีป่าไม้ ไม่มีสัตว์ มีน้ำเน่าเสีย อากาศเป็นพิษ ดินแห้งแล้ว เราก็ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ จึงเป็นหน้าที่ของคนทุคนที่ต้องร่วมแรงร่วมใจช่วยกันดูแลรักษา คุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่โดยมีข้อปฏิบัติร่วมกัน ดังนี้
(1) ช่วยรักษาแหล่งน้ำต่าง ๆ ให้สะอาด โดยไม่ทิ้งขยะลงในแม่น้ำลำคลอง โรงงานอุตสาหกรรม ต้องมีการบำบัดน้ำเสียก่อน จึงปล่อยน้ำลงในแหล่งน้ำ
(2) ไม่ตัดไม้ทำลายป่า และช่วยกันปลูกต้นไม้ให้มีจำนวนมาก เป็นการเพิ่มอากาศบริสุทธิ์ มีความชุ่มชื้น ทำให้ฝนตกตามฤดูกาล ไม่แห้งแล้ง ต้นน้ำลำธารก็จะมีน้ำอยู่ตลอดปี
(3) ปลูกพืชคลุมดิน เพื่อมิให้หน้าดินถูกน้ำฝนชะล้างไป พืชที่นิยมปลูก คือ พืชตระกูลถั่ว เพราะช่วยทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์
(4) ในการเพาะปลูก ควรใช้ปุ๋ยจากธรรมชาติ เช่น ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก ช่วยให้ดินมีคุณภาพดี ปลูกพืชได้ผลงอกงาม ให้ลดการใช้สารเคมีในการปลูก เช่น ปุ๋ยเคมี หรือยาฆ่าแมลง เพราะจะทำให้ดินเสื่อมคุณภาพเร็ว
(5) ไม่เผาซากพืชในที่ปลูก เพราะควันทำให้เกิดมลพิษ และความร้อนจะทำให้จุลินทรีย์ที่อยู่ในดินตายหมด เพราะจุลินทรีย์ คือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมาก ช่วยย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ให้เน่าเปื่อย กลายเป็นปุ๋ยในดิน
(6) ขยะในบ้านควรแยกก่อนทิ้ง เช่น เศษอาหาร เศษกระดาษ เศษแก้ว เศษโลหะ เศษไม้ เศษพลาสติก โดยเฉพาะขยะมีพิษ เช่น ภาชนะใส่สารเคมี ถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วต้องแยกต่างหาก เพื่อให้ผู้ที่มีหน้าที่เก็บขยะทำงานได้รวดเร็ว
(7) ทุกคนร่วมใจกันใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด และคุ้มค่า เช่น การประหยัดน้ำ ประหยัดไฟฟ้า ประหยัดการเดินทาง
5. สิ่งแวดล้อมทางสังคม
1) ลักษณะสังคม
ลักษณะสังคม คือ การอยู่ร่วมกันของกลุ่มคน เรียกว่า ชุมชน ซึ่งประกอบด้วยหลายครอบครัว เริ่มต้นเป็นชุมชนขนาดเล็ก คือ หมู่บ้าน ตำบล แล้วรวมกันไปจนถึงชุมชนขนาดใหญ่ คือ อำเภอ จังหวัด จนถึงประเทศ ลักษณะของสังคมไทยมี 2 แบบ ได้แก่
(1) สังคมเมือง เป็นพื้นที่ที่มีคนอยู่รวมกันหนาแน่น มีถนนหนทางหลายสาย สาธารณูปโภคที่ให้ความสะดวกสบายมีมาก เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา รถไฟฟ้า ห้างสรรพสินค้า ผู้คนมีอาชีพอย่างหลากหลาย และมีปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมาย ได้แก่ มีขยะมาก มีอุบัติภัย โจรผู้ร้าย ค่าใช้จ่ายสูง
(2) สังคมชนบท เป็นพื้นที่ที่มีคนอยู่กันไม่หนาแน่น ใช้พื้นที่ในการเพาะปลูกเป็นส่วนมาก สิ่งแวดล้อมยังคมเป็นธรรมชาติ ความเป็นอยู่ของผู้คนเรียบง่าย สงบ ปัจจุบันสังคมชนบทได้รับการพัฒนาให้มีความเจริญมากยิ่งขึ้น โดยผู้คนในท้องถิ่นของตน
2) ลักษณะของสังคมที่น่าอยู่
สมาชิกในสังคมทุกแบบย่อมต้องการอยู่ในสังคมที่สงบสุข ไม่วุ่นวาน ถ้ามีปัญหาก็รวมกลุ่มช่วยกันแก้ไข ดังนั้น คนในสังคมต้องเข้าใจสภาพแวดล้อม ช่วยกันเสริมสร้างสิ่งที่ขาดแคลน โดยมีคุณธรรมในการอยู่ร่วมกัน เพื่อพัฒนาสังคมที่ตนอยู่ ดังนั้น ลักษณะของสังคมที่น่าอยู่ควรมีดังนี้
(1) สภาพแวดล้อมสะอาด มีที่พักผ่อนหย่อนใจร่วมกัน
(2) มีความปลอดภัย ช่วยกันดูแลและป้องกันเหตุร้าย
(3) คนในสังคมมีอาชีพสุจริต รับผิดชอบในหน้าที่
(4) มีที่รองรับขยะและสิ่งปฏิกูล ไม่ทิ้งเกลื่อนกลาด
(5) ปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมาย เช่น ปฏิบัติตามกฎจราจร
(6) ให้ความร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาสังคมในด้านต่าง ๆ
3) การมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี
การมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี หมายถึง การรู้จักปฏิบัติตนเองให้อยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
o ดูแลร่างกาย และแต่งกายให้สะอาดเรียบร้อยเสมอ
o ยิ้มแย้มต่อผู้ที่ได้พูดคุย มีไมตรีจิตต่อกัน
o พูดคุยในเรื่องสร้างสรรค์ ไม่พูดโอ้อวด หรือนินทา
o รู้จักพูดชมเชยผู้อื่นด้วยความจริงใจ
o ไม่ล้อเลียน หรือดูถูกผู้อื่น
o มีมารยาทดี เคารพและช่วยเหลืองานผู้ใหญ่ด้วยความยินดี
o มีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น ไม่เป็นคนเห็นแก่ตัว และไม่เห็นแก่ได้
4) ปัญหาจากขยะในชุมชน
ขยะ คือ ของต่าง ๆ ที่เหลือใช้จากกระบวนการผลิต ของกินและของใช้ และของเหลือจากการใช้สอยของมนุษย์
ประเภทของขยะ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
ก. ขยะธรรมดา หมายถึง ขยะที่พบได้ทั่วไปจากแหล่งชุมชน มี 2 ลักษณะ คือ
o ขยะเปียก ได้แก่ เศษผัก เศษอาหาร ใบไม้ มูลสัตว์ ซากสัตว์
o ขยะแห้ง ได้แก่ กระดาษ เศษแก้ว เศษปูน เศษไม้ เศษโลหะ เศษผ้า ซากรถยนต์ เถ้าถ่าน ฯลฯ
ข. ขยะอันตราย หมายถึง ขยะที่มีองค์ประกอบบางส่วน ทำให้เกิดอันตราย ที่มีผลเสียกระทบต่อคนและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ พลาสติก ถ่านไฟฉาย สารเคมี กระป๋องสเปรย์ หลอดไฟนีออน ใบมีดโกน แบตเตอรี่ เข็มฉีดยา ยารักษาโรคที่เสื่อมคุณภาพ ขยะติดเชื้อโรค
แหล่งที่ทำให้มีขยะเกิดขึ้น คือ ทุกสถานที่ที่อยู่ในชุมชน เช่น บ้านเรือนที่อยู่อาศัย ตลาด โรงเรียน โรงงาน โรงพยาบาล สถานที่ที่มีการก่อสร้าง ฯลฯ
ปัญหาที่เกดขึ้นจากขยะ มีผลกระทบต่อด้านสุขภาพอนามัย ด้านความเป็นอยู่ในสังคม และด้านเศรษฐกิจ ของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เช่น
(1) ส่งกลิ่นเหม็น เป็นอันตรายต่อสุขภาพในการหายใจ เพราะอากาศไม่ดีในบริเวณนั้น
(2) ทำให้เป็นที่เกิดเชื้อโรคต่าง ๆ รวมทั้งเป็นที่แพร่พันธุ์ของพาหะนำโรคด้วย เช่น หนู แมลงวัน แมลงสาบ
(3) สภาพแวดล้อมของบริเวณที่มีขยะ นอกจากกลิ่นเหม็นแล้ว เมื่อมีฝนตกอาจซึมลงในดิน หรือไหลลงสู่แหล่งน้ำในชุมชน ทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา
แนวทางการจัดการเกี่ยวกับขยะ
ทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้าน โรงเรียน และสถานที่ทุกแห่ง ต้องรู้ถึงปัญหาของขยะที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น เพราะขาดการใส่ใจ และไม่คิดคำนึงถึงปัญหาที่เกิดผลกระทบต่อทุกคนและสิ่งแวดล้อม แม้ว่าจะมีหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดการเรื่องของขยะ แต่ปัญหาก็ยังมีอยู่อีกมาก ดังนั้นทุกคนในสังคมต้องมีจิตสำนึก และมีส่วนช่วยในการจัดการเกี่ยวกับขยะ โดยมีแนวทางในการร่วมมือ ร่วมใจจัดการเกี่ยวกับขยะ เช่น
(1) ลดประมาณของขยะให้น้อยลง เช่น ถุงใส่ของ ควนใช้ถุงผ้า หรือใส่ตะกร้า เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก
(2) แยกประเภทของขยะ ไม่ทิ้งรวมกัน เช่น เศษอาหาร เศษผักผลไม้ เศษใบไม้ต่าง ๆ เป็นขยะที่ย่อยสลายเป็นปุ๋ยได้ ส่วนเศษโลหะ เศษกระดาษ เศษพลาสติก เศษแก้ว เศษไม้ ควรแยกเป็นพวก ๆ ไม่รวมกัน ซึ่งขายให้แก่ผู้ที่มีอาชีพรับซื้อเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้
(3) นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ของใช้บางอย่างอาจนำมาใช้ประโยชน์ได้อีก เช่น สมุดที่ใช้ไม่หมดแต่ละเล่ม นำมารวมแล้วเย็บเป็นเล่มใหม่ ใช้จดบันทึกได้ กล่องกระดาษ กล่องพลาสติก ขวดแก้ว อาจนำมาใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้อีก
(4) ลดปริมาณการบริโภคที่ไม่จำเป็น สิ่งของเครื่องใช้หลายอย่างที่ซื้อมาบางอย่างใช้ไม่คุ้มค่า เพราะซื้อมาเก็บหรือวางไว้เฉย ๆ จึงต้องรู้จักคิดก่อนซื้อว่า สิ่งของประเภทนี้ยังมีอยู่ หรือสิ่งที่จะซื้อจำเป็นหรือไม่
(5) ของกิน ของใช้มีอายุการใช้งาน ถ้าเลยกำหนดเวลาแล้ว ของนั้นจะหมดอายุ ถ้านำมาใช้ก็จะทำให้เกิดผลที่เป็นอันตรายได้ เช่น ผักสด ผลไม้ ขนม อาหารกระป๋อง เครื่องสำอาง ดังนั้นก่อนซื้อต้องดูกำหนดเวลาที่หมดอายุ และไม่ควรซื้อมากเกินไป ใช้ไม่ได้ก็ต้องทิ้งเป็นการเพิ่มขยะ
(6) การกำหนดเวลาในการสะสางสิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้านที่เสื่อมสภาพ หรือไม่ได้ใช้แล้ว ไม่ควรเก็บให้รกบ้าน
Download - เนื้อหา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น