Download - เนื้อหา
บทที่ 4 หลักเศรษฐกิจ และชีวิตพอเพียง
1. ความหมายของเศรษฐศาสตร์และเรื่องที่เกี่ยวข้อง
1) ความหมายของเศรษฐศาสตร์
เศรษฐศาสตร์ หมายถึง การศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับ วิธีการเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด มาผลิตเป็นสินค้าและบริการต่าง ๆ เพื่อตอบสนองการบริโภคของมนุษย์ ที่มีความต้องการอย่างไม่สิ้นสุด
เศรษฐศาสตร์ จึงมีหลายเรื่องที่ผูกพันกับชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกคน ได้แก่ การผลิต การบริโภค การซื้อขายแลกเปลี่ยน การบริการ การออมทรัพย์ การกระจายรายได้ เงินและการธนาคาร เป็นต้น
2) เรียนรู้ความหมายของคำที่เกี่ยวข้อง
1) การผลิต หมายถึง การจัดทำสิ่งของ สินค้าหรือการให้บริการต่าง ๆ เพื่อสนองความต้องการของคนเรา เช่น ชาวนาปลูกข้าว ชาวไร่และชาวสวนปลูกพืชผักผลไม้ต่าง ๆ ชาวประมงจับสัตว์น้ำ พ่อค้าแม่ค้านำสินค้าที่เป็นของกินของใช้มาขาย นายดำนำไม้ไผ่มานานเป็นตะกร้า กระบุง ป้าน้อยนำแป้ง ไข่ไก่ น้ำตาล มาทำขนมหวาน เป็นต้น
2) การบริโภค หมายถึง การนำสินค้า หรือบริการต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์ตามความต้องการของคนในสังคม เช่น แม่ซื้อเสื้อผ้ามาให้ลูกใส่ ฉันใช้กระเป๋าใส่เครื่องเขียนถือไปโรงเรียน
3) รายได้ หมายถึง ผลตอบแทนที่ได้จากการทำงาน หรือการผลิตสินค้าและบริการต่าง ๆ สิ่งที่ได้รับอาจจะเป็นสินค้า สิ่งของ หรือเงิน ซึ่งการผลิตทำให้เกิดรายได้
4) รายจ่าย หมายถึง การตอบแทนในสิ่งที่ต้องการ ซึ่งรายจ่ายจะเกิดขึ้นคู่กับการบริโภค
5) การซื้อขายแลกเปลี่ยน คือ การซื้อขาย หรือการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ
o ผู้ขาย คือ ผู้ที่นำสินค้า หรือบริการมาขายในตลาด ผู้ขายอาจเป็นผู้ผลิตโดยตรง หรือผู้ที่ไปรับจากผู้ผลิตมาขายต่อก็ได้ โดยการเพิ่มราคาของสินค้า
o ผู้ซื้อ คือ ผู้บริโภคที่มีความต้องการสินค้าและบริการต่าง ๆ โดยมีเงินเป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน
2. การประกอบอาชีพ
อาชีพ คือ การทำงานเพื่อให้มีรายได้เป็นผลตอบแทนที่เป็นเงิน หรือสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต หน้าที่การงานของบุคคลต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย และศีลธรรม รวมทั้งไม่ทำความเดือดร้อน เสียหายต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
แต่ละคนมีอาชีพที่แตกต่างกันตามความรู้ ความสามารถของบุคคล รวมทั้งความต้องการในการผลิตจากอาชีพด้วย อาชีพของคนไทยที่ควรรู้จัก จัดเป็นกลุ่มอาชีพได้ดังนี้
1) กลุ่มอาชีพที่ลงมือทำเอง
กลุ่มอาชีพที่ลงมือทำเอง เป็นอาชีพที่ใช้ความสามารถ และฝีมือของตนเองในการผลิตงาน เป็นผู้ลงทุน และตัดสินใจทั้งหมด มีรายได้จากการกระทำ คือ ถ้าขยันทำงานมาก งานดี ก็จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และอาจจะทำงานหนักมาก หากผลผลิตหรือผลงานเป็นที่ยอมรับ ได้แก่
o กสิกร เป็นผู้ที่เพาะปลูกพืชชนิดต่าง ๆ เช่น ชาวนาปลูกข้าว ชาวไร่ปลูกพืชผลที่เก็บผลระยะสั้น ชาวสวนปลูกพืชผลไม้และดอกไม้
o เกษตรกร คือ ผู้ที่ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ เพื่อนำผลผลิตมาเป็นอาหารและขายเป็นสินค้า
o ชาวประมง เป็นผู้จัดสัตว์น้ำต่าง ๆ เช่น ปลา ปู กุ้ง หอย ปัจจุบันมีการทำบ่อเลี้ยงเป็นจำนวนมาก เพื่อให้พอแก่ความต้องการ
o พ่อค้าแม่ค้า เป็นผู้หาสินค้า หรือผลิตสินค้าขึ้นมาขายด้วยตัวเอง เพื่อได้เงินกำไรมาใช้จ่าย และเป็นทุนเพิ่มเติม
o นักแสดง นักร้อง นักกีฬาอาชีพ ใช้ความสามารถเฉพาะตนแสดงออกในด้านความบันเทิง หรือการแข่งขัน มักมีรายได้ดีเมื่อมีคนยอมรับ
2) กลุ่มอาชีพที่มีรายได้ประจำ
กลุ่มอาชีพที่มีรายได้ประจำ เป็นอาชีพที่มีหน้าที่การงานที่มีรูปแบบประจำ รายได้เป็นเงินเดือน หรือค่าจ้างรายวัน รายชั่วโมงที่แน่นอน มักจะมีความมั่นคงของรายได้และสวัสดิการ ซึ่งได้จากนายจ้างหรือเจ้าของกิจการ ได้แก่
o ข้าราชการ เป็นผู้ที่ทำงานโดยได้รับเงินเดือนจากรัฐบาล ซึ่งมาจากเงินภาษาของประเทศ ทำหน้าที่หลายแบบ เช่น ทหาร ตำรวจ ครู แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ของรัฐ
o ลูกจ้างและพนักงาน เป็นผู้ที่ทำงานในบริษัท ห้างร้าน โรงงาน ธนาคาร หรือสถานที่ต่าง ๆ ได้ค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน หรือเงินค่าจ้างตามกำหนดความรู้และความสามารถ
3) กลุ่มอาชีพที่เป็นเจ้าของกิจการ
กลุ่มอาชีพที่เป็นเจ้าของกิจการ ต้องเป็นผู้ลงทุนทำกิจการ มีฝีมือในการบริหารงาน บริหารเงิน และบริหารคนได้เหมาะสม ตัดสินใจในกิจการ แต่ไม่ลงมือทำเอง จะใช้เงินทุนจ้างคนที่มีความสามารถในแต่ละเรื่องมาทำงานแทน ได้แก่ เจ้าของโรงงาน บริษัท ร้านค้าต่าง ๆ ซึ่งเมื่อกิจการมีความมั่นคงก้าวหน้าแล้ว ก็มักจะแบ่งผลกำไนคืนสังคมในหลายรูปแบบ
3. ข้อควรปฏิบัติในการประกอบอาชีพ
การทำงาน หรือการประกอบอาชีพต่าง ๆ ให้มีความเจริญก้าวหน้า มีผลผลิตของงานที่ดี เป็นที่พอใจ ย่อมเป็นการเพิ่มรายได้ เป็นที่ยอมรับ และมีความมั่นคงในชีวิต ข้อปฏิบัติต่าง ๆ เราได้รับการฝึกฝนมาจากการศึกษาเล่าเรียน ที่ครูเป็นผู้ฝึกและมอบหมายงานให้เราทำในโรงเรียน ซึ่งเป็นแนวทางที่จะนำไปใช้ในการทำงานเพื่อประกอบอาชีพของเราเมื่อเติบโตขึ้น มีดังนี้
1) ขยันหมั่นเพียร เอาใจใส่ และรับผิดชอบงานอย่างสม่ำเสมอ
2) อดทนเข้มแข็ง ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก
3) ซื่อสัตย์ สุจริต มีจรรยาบรรณต่ออาชีพไม่เอาเปรียบกัน
4) ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ โดยมีปฏิสัมพันธ์ที่ดี รู้จักการเป็นผู้ให้และผู้รับ ไม่ให้มีจิตใจที่อิจฉาผู้อื่น
5) ประหยัด อดออม ไม่สุรุ่ยสุร่าย รู้จักทำบันทึกข้อมูลรายรับ – รายจ่าย ของตนเอง
6) ศึกษาหาความรู้ในวิชาชีพที่ตนทำอยู่ ให้ก้าวหน้าเพิ่มเติมอยู่เสมอ ยอมรับฟังคำแนะนำ และเลือกมาใช้ให้เหมาะสม
7) รู้จักการบริหารจัดการตนเองในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ วิธีการทำงาน การแก้ปัญหาอย่างมีสติให้ถูกวิธี
8) สร้างนิสัยที่เป็นระเบียบวินัย เกี่ยวกับการตรงเวลานัดหมาย การจัดเก็บสิ่งของเครื่องใช้ให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อสะดวกในการหยิบใช้งาน ดูแลรักษาความสะอาดในสถานที่ทำงานอยู่เสมอ
4. การกระจายรายได้
การกระจายรายได้ หมายถึง การที่ผู้มีรายได้นำเงินไปใช้จ่ายต่อสิ่งที่จำเป็นด้านอื่น ๆ เช่น
o ชาวนา นำเงินที่ได้จากการขายข้าวไปจ่ายค่าปุ๋ย และค่าแรงคนงานที่จ้างมาช่วยทำนา บางขั้นตอน รวมทั้งซื้อของกินของใช้ต่าง ๆ
o ผู้ค้าขาย นำเงินที่ขายของได้ในส่วนที่เป็นทุน ไปซื้อสิ่งของมาขายต่ออีก ส่วนเงินกำไร ก็นำไปใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นและเก็บออมไว้
o ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้าง ที่มีรายได้เป็นเงินเดือน ก็ต้องจัดเงิน โดยแบ่งส่วนที่จำเป็นต้องใช้จ่ายให้ตลอดเดือน และมีส่วนที่เก็บออมไว้เมื่อยามฉุกเฉิน
ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า ผู้มีรายได้ หรือผูผลิตต้องนำเงินรายได้ไปใช้จ่าย ซื่อสิ่งที่จำเป็นและต้องการต่อไปอีก เป็นการกระจายรายได้ และในขณะเดียวกัน ต้องรู้จักเก็บออมด้วย
5. การใช้จ่ายและการบริโภคที่ฉลาด
ความต้องการของคนเรา มีความต้องการขั้นพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ คือ อากาศ อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และความต้องการที่จำเป็นทั่วไป เช่น การศึกษา การเดินทาง ความสะดวกสบาย ความสนุกสนาน เป็นต้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นรายจ่ายที่ต้องมีเงิน ซึ่งเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อใช้จ่าย การที่จะได้เงินมาใช้จ่ายก็ต้องทำงานให้มีรายได้ ตามที่ได้เรียนมาแล้ว ดังนั้นรายได้จึงคู่กับรายจ่าย และการผลิตที่ทำให้เกิดรายได้ ก็คู่กับการบริโภคที่เป็นค่าใช้จ่าย ต่าง ๆ
การใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ต้องรู้จักใช้จ่ายให้เป็น มีการวางแผนในการใช้จ่ายให้เหมาะสมกับรายได้ มีหลักในการบริโภคที่ถูกต้องตามฐานะของครอบครัว เพื่อมิให้เกิดปัญหาความขัดสนและหนี้สิน เพราะการใช้จ่ายมากเกินกว่ารายได้ จึงต้องรู้จักการใช้จ่าย และรู้จักการเก็บออมเอวไว้ใช้ในคราวจำเป็นด้วย การใช้จ่ายจนหมดไม่มีเหลือเก็บสะสมไว้ เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง และอาจเกิดปัญหาได้ จึงมีข้อคิดควรทำในการใช้จ่ายและการบริโภค ดังนี้
1) รู้จักประมาณในการใช้จ่าย เรารู้ว่าแต่ละคนจะต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนตัว และค่าใช้จ่ายของครอบครัว เราต้องฝึกการรู้จักประมาณค่าใช้จ่ายส่วนตัวของเราแต่ละวัน ฝึกการจดบันทีกรายรับและรายจ่าย เพื่อให้รู้ได้ว่าได้จ่ายอะไรบ้าง สิ่งที่ไม่ควรจ่ายจะได้งดเว้น ถ้าเรามีเงินเหลือเก็บออม เราจะรู้สึกภูมิใจ เพื่อเราปฏิบัติเป็นประจำ จะเป็นการฝึกนิสัยให้รู้คิด ช่างสังเกต รู้จักประหยัด ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินฐานะ
2) รู้จักวางแผนในการซื้อ โดยสำรวจสิ่งที่ต้องการจะซื้อที่จำเป็น มีเงินซื้อพอหรือไม่ จดเป็นรายการที่จะซื้อในแต่ละครั้ง ถ้ารู้ราคาของสินค้าในครั้งก่อน เพื่อนำมาเปรียบเทียบก็ยิ่งดี
3) พิจารณาสิ่งที่จะซื้อ โดยดูจากคุณภาพ และราคาที่เหมาะสม รวมทั้งความจำเป็น และปริมาณที่ซื้อด้วย เช่น ของบางอย่างลดราคาแต่ใกล้จะหมดอายุ หรือซื้อมาเก็บไว้มากเกินไป ก็เสื่อมคุณภาพก่อน ทำให้สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ
4) สังเกตเครื่องหมายส่วนประกอบ และวันหมดอายุของสินค้า เพื่อซื้อมาให้ได้ประโยชน์จริง ๆ
5) ช่วยประหยัดพลังงาน และทรัพยากร ภายในบ้าน โรงเรียน หรือสำนักงาน ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว เกี่ยวกับเรื่อง ไฟฟ้า น้ำประปา แก๊สหุงต้ม และวางแผนการเดินทางให้เหมาะสม
6. การซื้อขาย การแลกเปลี่ยน และการค้าเสรี
1) การซื้อ หมายถึง การที่ผู้บริโภคนำเงินไปแล้วกับสิ่งของ หรือการบริการของผู้ผลิต หรือผู้ขาย ตัวอย่าง เช่น
o ป้าแดงนำเงินไปซื้อปลาดุกของลุงชม
o หนูนิดจ่ายเงินค่ารถรับจ้างในหมู่บ้านให้นายแจ่ม
ทั้งป้าแดงและหนูนิด เป็นผู้ซื้อที่ต้องจ่ายเงิน
2) การขาย หมายถึง การที่ผู้ผลิตสินค้า นำสินค้ามาจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค หรือผู้ให้บริการทำงานให้แก่ผู้รับบริการ
จากตัวอย่างที่กล่าวมา
ลุงชม และนายแจ่ม เป็นผู้ขายที่ได้รับเงิน ดังนั้น การซื้อขายจึงเป็นการแลกเปลี่ยนโดยใช้เงินเป็นตัวกลาง ซึ่งมีข้อตกลงที่พอใจกันทั้งสองฝ่าย
3) การแลกเปลี่ยนสิ่งของ หมายถึง บุคคลสองฝ่ายนำสิ่งของที่ต้องการมาแลกเปลี่ยนกันโดยตรง โดยไม่ต้องใช้เงินเป็นตัวกลาง เช่น
o ป้าแดงนำกล้วยไปแลกกับปลาดุกของลุงชม
o นายตี๋ นำเสื้อผ้าไปแลกกับข้าวสารของชาวนา
ปัจจุบันนี้ การแลกเปลี่ยนสิ่งของ ยังพอมีให้เห็นบ้างตามท้องถิ่นชนบท แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการนำสินค้า หรือผลผลิตมาขายที่ตลาด เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกซื้อได้ตามที่ต้องการ โดยใช้เงินในการซื้อขาย
4) การค้าเสรี หมายถึง ผู้ผลิต หรือผู้ประกอบการนำสินค้าของตนไปขายโดยตรงด้วยตนเอง ไม่ต้องผ่านผู้อื่น เป็นการค้าขายโดยอิสระ ตกลงราคาซื้อขายกันเองตามความพอใจของผู้ขายและผู้ซื้อ การค้าแบบนี้เป็นการค้าเสรี
ส่วนการขายสินค้าและบริการตามราคากลางที่กำหนดราคาขายให้เหมือนกัน เป็นการขายที่ควบคุมราคา เช่น การขายน้ำมันเชื้อเพลิง การจ่ายค่าโดยสารตามระยะทาง หรือตามขอบเขตที่กำหนด
7. ธนาคารกับการออม
ธนาคาร คือ สถาบันการเงินที่มีกฎหมายของประเทศรับรอง ให้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการเงินได้อย่างถูกต้อง โดยมีหลักเกณฑ์ที่เป็นสากล และยอมรับกันทั่วไป กิจกรรมของธนาคารเกี่ยวข้องกับการเงินเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีหน้าที่สำคัญ ดังนี้
1) รับฝากเงิน ผู้นำเงินไปฝากธนาคาร จะได้ดอกเบี้ยเงินฝากเป็นค่าตอบแทน เช่น ธนาคารให้ดอกเบี้ยเงินฝากร้อยละ 5 ต่อปี หมายความว่า ถ้าเราฝากเงิน 100 บาท จนครบ 1 ปี เราจะได้ดอกเบี้ย 5 บาท รวมเป็นเงิน 105 บาท ถ้าเราฝากมากและฝากนาน เราก็จะได้ดอกเบี้ยมาก และทบเป็นเงินต้นด้วย นอกจากนี้ การฝากเงินที่ธนาคารยังได้รับประโยชน์เรื่องความปลอดภัยในการเก็บรักษาเงินอีกด้วย
2) บริการถอนเงิน ผู้ที่มีเงินฝากกับธนาคาร สามารถถอนเงินที่ฝากมาใช้ได้เมื่อมีความจำเป็น โดยมีบริการถอนเงินฝากได้ 2 แบบ คือ ถอนเงินฝากกับเจ้าหน้าที่โดยตรง และถอนเงินฝากโดยใช้บริการตู้ถอนเงินอัตโนมัติ หรือเรียกกันว่า ATM
3) บริการให้กู้ยืมเงิน สำหรับผู้ที่ต้องการใช้เงินจำนวนมาก เช่น การซื้อบ้านที่อยู่อาศัย การลงทุนทำกิจการ จำเป็นต้องกู้ยืมเงิน ธนาคารจึงมีบริการให้กู้ยืมเงิน โดยต้องเสียดอกเบี้ยเงินกู้ตามกำหนดของธนาคาร ซึ่งต้องมีการทำสัญญาการผ่อนส่งเงินกู้ และมีหลักทรัพย์ หรือผู้ที่มีฐานะมั่นคงค้ำประกันการกู้ยืม
4) บริการทางการเงินอื่น ๆ ธนาคารให้ความสะดวกในเรื่องบริการด้านการเงินแก่ลูกค้า และประชาชนอีกหลายอย่าง เช่น การโอนเงิน การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ การใช้ตั๋วแลกเงิน เชคของขวัญธนาคาร เป็นต้น
5) บริการพิเศษของธนาคาร เช่น การออมเงินโดยซื้อสลากออมสินพิเศษของธนาคารออมสิน การซื้อสลากออมทรัพย์สินทวี ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นการฝากเงินที่มีกำหนดระยะเวลา และได้รับผลตอบแทนเป็นเงินรางวัล และดอกเบี้ยตามกำหนด
จึงเห็นได้ว่า ธนาคารมีการจัดการเรื่องเงินอย่างเป็นระบบที่เกี่ยวกับการออมเงิน โดยรับฝากเงิน และการให้กู้ยืมเงิน เพื่อไปทำประโยชน์ในด้านการลงทุนทำธุรกิจต่าง ๆ
8. เรื่องของภาษี
ภาษี หมายถึง รายได้หรือรายรับของประเทศ ที่รัฐบาลเรียกเก็บจากประชาชนทุกคนที่ทำงานมีเงินเป็นรายได้ การเก็บภาษาของรัฐบาลเพื่อนำมาใช้จ่ายในส่วนการบริหารและพัฒนาประเทศให้มีความเจริญในทุก ๆ ด้าน ภาษาที่รัฐบาลเก็บจากรายได้ส่วนนึ่งของประชาชน ได้จัดเป็นบริการ และสินค้าที่มีประโยชน์ต่อประชาชนโดยส่วนรวม บางอย่างต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก บางอย่างเป็นบริการและสินค้าที่ต้องใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งมีตัวอย่างที่สำคัญ ดังนี้
o การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
o การแพทย์ และสาธารณสุข
o การสร้างถนน ทางหลวงแผ่นดิน ทางด่วนพิเศษ
o การสร้างท่าเรือ ท่าอากาศยาน
o การไฟฟ้า การประปา โทรศัพท์
ดังนั้น ผู้ที่ทำงานมีรายได้ ต้องเสียเงินเป็นภาษีส่วนหนึ่ง เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ ถือว่า การเสียภาษีเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องปฏิบัติ ไม่หลีกเลี่ยงภาษี เพราะจะเป็นการผิดกฎหมาย และถูกลงโทษด้วย
เรายังเป็นเด็ก ยังไม่มีรายได้ของตนเอง จึงไม่ต้องเสียภาษี แต่เราต้องมีส่วนร่วมในการใช้ภาษีด้วยจึงควรปฏิบัติตนดังนี้
o การมาโรงเรียนเพื่อเรียนรู้วิชาในการนำไปประกอบอาชีพ เราต้องช่วยกันรักษาสมบัติของโรงเรียน ไม่ทำลาย เพราะเป็นสิ่งที่ได้มาจากเงินภาษีของชาติ
o การรู้จักรักษาสุขภาพ ร่างกายให้แข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
o การช่วยประหยัดทรัพยากรของชาติ เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ โดยใช้เท่าที่จำเป็น ไม่เปิดใช้อย่างสิ้นเปลือง
9. การเพิ่มผลผลิตที่เป็นพื้นฐานการเรียนและการทำงาน
ก. การเพิ่มผลผลิตในตนเองที่เป็นพื้นฐานการเรียน
เราต้องเรียนรู้หลายวิชา เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ความคิด และนำมาใช้โดยฝึกปฏิบัติการทำงานต่าง ๆ ตามที่ครูมอบหมายในแต่ละวิชา จนเรียนสำเร็จ สามารถทำงานประกอบอาชีพได้
ในปัจจุบัน ความเจริญก้าวหน้าของโลกเป็นไปอย่างรวดเร็ว การเรียน การทำงาน ต้องแข่งขันกันมาก จึงต้องรู้จักการเพิ่มผลผลิตให้มีประสิทธิภาพที่ดีและถูกต้อง เพื่อให้เกิดผลตามที่ต้องการ การเพิ่มผลผลิตที่ควรรู้และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ มี 2 ลักษณะ คือ
การเพิ่มผลผลิตในตนเอง หมายถึง การทำงานให้ถูกต้องตั้งแต่ครั้งแรก เพื่อลดความสูญเสียสิ่งของและเวลา โดยมีความตั้งใจที่จะสร้างสรรค์และปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งเชื่อมั่นว่าเราสามารถทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน และพรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้ การเพิ่มผลผลิตในตนเอง มีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
การปรับปรุงตนเอง โดยเชื่อมั่นว่า ตนเองมีความสามารถที่จะเรียนรู้ได้ เมื่อครูสอน และให้ทำงาน บางครั้งอาจจะทำไม่ถูกต้อง เราต้องรู้จักถาม และแก้ไขทำใหม่ให้ดีกว่าเดิม การทำงานให้เสร็จทันเวลา เป็นการสร้างนิสัยให้มีความรับผิดชอบ และเพิ่มผลผลิตให้แก่ตัวเอง คนที่มัวแต่คุยเล่น ทำงานช้า โอ้เอ้ หรือหลบเลี่ยงไม่ทำงาน นอกจากไม่รู้จักเพิ่มผลผลิตให้แก่ตนเองแล้ว ยังเสียเวลา และไม่มีวินัยในตนเอง ทั้งยังไม่ใด้ผลงานด้วย
รู้จักคิดและวางแผน เช่น คิดว่าวันนี้เราเรียนวิชาอะไรบ้าง จะต้องเตรียมสิ่งใดในการเรียน ครูนัดหมาย มีกิจกรรมสำคัญหรือไม่ ถ้าเราเตือนความจำ เตือนสติตนเองเสมอ จะทำให้ไม่หลงลืม และทำสิ่งต่าง ๆ อย่างมีจุดมุ่งหาย เกิดความสบายใจ เมื่อเราเติบโตขึ้น เราจะได้วางแผนชีวิตของเรา และพัฒนาความสามารถได้ดี
มีทักษะการสื่อสารที่ดี ในการสื่อสารมีทั้งการรับข้อมูล และการส่งข้อมล ถ้าเราเป็นผู้รับ ต้องรู้จักฟังให้รู้เรื่อง และอ่านเรื่องต่าง ๆ ให้เข้าใจ เมื่อเราเป็นผู้ส่ง เราควรพูดตอบ หรือพูดถามให้ชัดเจน รวมทั้งการเขียนสิ่งที่เรารู้หรือสิ่งที่เราอยากจะบอกให้ตรงเรื่อง ดังนั้น การใช้ภาษาเป็นเรื่องที่ตองฝึก เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ไม่ผิดเพี้ยนไป ทำให้มีความก้าวหน้า และความสำเร็จในชีวิต ทั้งเรื่องส่วนตัว การเรียน และการทำงาน
การเพิ่มผลผลิตในตนเองที่เป็นพื้นฐานการเรียน เราต้องฝึกการฟัง พูด อ่าน เขียน ให้มาก เพื่อสื่อความหมายให้เข้าใจ รู้จักคิดไตร่ตรอง และคิดเหตุผลให้รอบคอบ เพื่อรู้จักการวางแผน รู้จักการแก้ไขปัญหา โดยจัดการให้ถูกต้องเหมาะสม เตรียมพร้อมตนเองในการทำงานต่อไปในอนาคต
ข. การเพิ่มผลผลิตที่เป็นพื้นฐานในการทำงาน
การฝึกตนเองให้มีการเพิ่มผลผลิตในการทำงาน เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจ และฝึกความสามารถในการทำงานตั้งแต่ยังเด็ก คือ
1) ให้ตั้งใจและพยายามทำสิ่งต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมาย หรือที่คิดทำเองให้สำเร็จ ทั้งการเรียน และการทำงาน มีความมุ่งมั่น ถึงแม้ว่าจะยากก็ไม่ท้อถอย ฝึกทำบ่อย ๆ ก็จะทำได้และทำได้ดี ถูกต้อง ทันเวลา
2) เรียนรู้ลักษณะ และการเลือกซื้อสิ่งของที่มีคุณภาพ เพื่อประหยัดเงิน ประหยัดเวลา และใช้อย่างปลอดภัย โดยการอ่านศึกษาข้อมูล และการสอบถามผู้ที่มีความรู้และปรกสบการณ์
3) ฝึการใช้จ่างเงินในสิ่งที่จำเป็น สิ่งที่ต้องการจะซื้อต้องคำนึงถึงประโยชน์ และความจำเป็น โดยรู้จักคิดให้รอบคอบก่อนใช้เงิน ต้องรู้จักทำบัญชีรายรับรายจ่ายของตนเอง และให้มีเงินคงเหลือเพื่อการเก็บออม
4) ช่วยกันประหยัดทรัพยากรและค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็น เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันรถ ค่าแรงคนงาน เพื่อที่จะได้มีน้ำ ไฟฟ้า พลังงานต่าง ๆ และมีเงินเหลือให้เราได้ใช้ไปนาน ๆ
5) คำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยในความเป็นอยู่และการทำงาน
o ความหมายของความปลอดภัย คือ การไม่มีอุบัติเหตุ ไม่มีการบาดเจ็บ ไม่มีสิ่งของเสียหาย โดยรู้จักการป้องกันอันตราย มีความรอบคอม ไม่ประมาท
o ผลของความไม่ปลอดภัย คือ ปลอดภัย คือ บาดเจ็บ พิการ เสียชีวิต เสียเงิน เสียสิ่งของ เสียเวลา
o สาเหตุที่ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย ได้แก่ การจัดวางสิ่งของเครื่องใช้ทั้งในบ้าน ในที่ทำงานไม่เป็นระเบียบ รกรุงรัง ไม่ทำความสะอาด ใช้ของชำรุดโดยไม่ซ่อมแซม สิ่งของเครื่องใช้บางอย่างทำให้เกิดอันตราย โดยฝ่าฝืนคำเตือน ไม่ทำตามขั้นตอน และไม่ใช้อุปกรณ์ป้องกันภัย ข้อสำคัญ คือ ความประมาท ไม่รอบคอบ
6) หมั่นปฏิบัติตามกิจกรรม 5 ส.
กิจกรรม 5 ส. เป็นกิจกรรมที่ฝึกนิสัยในการดูแลรักษาสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ทั้งในบ้านและที่ทำงาน เพื่อให้หยิบใช้ได้รวดเร็ว มีความปลอดภัย วิธีการของกิจกรรม 5 ส. มีตามลำดับ ดังนี้
o สะสาง คือ การแยกสิ่งของที่จำเป็น และของที่ไม่จำเป็น แล้วกำจัดสิ่งของที่ไม่จำเป็นออกไป
o สะดวก คือ การจัดเก็บสิ่งของที่จำเป็นให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เวลาใช้ หยิบง่าย ไม่เสียเวลา เมื่อใช้แล้วก็เก็บเข้าที่ได้ถูกต้อง
o สะอาด คือ การทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ และบริเวณตามกำหนดเวลา เพื่อให้น่าใช้ น่าอยู่ เป็นการตรวจสอบสิ่งของเครื่องใช้ว่ายังอยู่ในสภาพดี และยังใช้ได้ ถ้าชำรุดต้องรีบซ่อมแซม
o สุขลักษณะ เป็นการรักษา การจัดระเบียบ และการทำความสะอาดอย่างต่อเนื่อง
o สร้างนิสัย เป็นการสร้างวินัยในตนเอง และปฏิบัติตามระเบียบวินัยที่กำหนด โดยมีส่วนร่วม และมีความรับผิดชอบ
10. กิจการสหกรณ์
สหกรณ์ คือ การรวมกลุ่มของบุคคลในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม โดยการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นการดำเนินงานทางธุรกิจที่ให้บริการแก่สมาชิกอย่างยุติธรรม มีระเบียบกำหนดไว้เป็นกฎหมาย ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ สร้างสรรค์สังคมให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สหกรณ์มีหลายประเภท ซึ่งสามารถเรียนรู้ในระดับต่อไป
สหกรณ์โรงเรียน เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจในเบื้องต้น ซึ่งสถานศึกษาทุกแห่งจัดให้มีกิจกรรมสหกรณ์ประเภทร้านค้า เพื่อบริการสินค้าต่าง ๆ แก่สมาชิกที่เป็นนักเรียนและครู ผู้เป็นสมาชิกต้องลงทุนซื้อหุ้น เพื่อจะได้มีหลายเลขสมาชิก เมื่อซื้อสินค้า ก็ต้องบอกยอดเงินซื้อและหมายเลขสมาชิกของตน เมื่อถึงสิ้นปี ก็จะได้เงินปันผลตามยอดซื้อรวมทั้งปี ถ้าเรียนจบ หรือลาออกจากโรงเรียนก็ได้คืนหุ้นที่ซื้อไว้
ปัจจุบันโรงเรียนประถมศึกษาทุกแห่ง มีการส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมสหกรณ์ ค้านค้าในโรงเรียน เพื่อบริการขายสินค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ของการเรียนเป็นสินค้าที่มีคุณภาพดี ราคาตามท้องตลาด หรืออาจจะถูกกว่าบ้าง แต่จะได้รับเงินปันผลกำไนตามหุ้น และยอดซื้อสินค้าเมื่อถึงสิ้นปี
ประโยชน์ของสหกรณ์ร้านค้าในโรงเรียน
(1) ให้นักเรียนได้เรียนรู้ และมีส่วนร่วมในการดำเนินงานสหกรณ์
(2) ได้ซื้อสินค้าที่มีคุณภาพในราคายุติธรรม
(3) เป็นพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจเบื้องต้น
(4) เพื่อเผยแพร่หลักการสหกรณ์ ให้นักเรียนได้เข้าใจจากการปฏิบัติ
การซื้อสินค้าในสหกรณ์ของโรงเรียน เป็นการเรียนรู้โดยการได้ปฏิบัติจริง และให้ความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ทั้งส่วนตนและส่วนรวมด้วย ซึ่งกิจการสหกรณ์ยังมีอีกหลายรูปแบบ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์เพื่อการเกษตร สหกรณ์การประมง เป็นต้น
11. เศรษฐกิจแบบพอเพียง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงห่วงใยประชาชนในเรื่องการทำมาหากิน โดยเฉพาะผู้ที่มีอาชีพเกษตรกร ที่มีปัญหาสะสมมานานจนเป็นปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ พระองค์ทรงพระราชทานความช่วยเหลือ และ แนวทางพระราชดำริแก่ผู้ที่มีอาชีพเกษตรกร ซึ่งมีความลำบาก และมีปัญหาหลายอย่าง โดยมีแนวทางในเรื่อง เศรษฐกิจแบบพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามพระราชดำริ ดังนี้
ก. แนวคิดและแนวปฏิบัติเศรษฐกิจแบบพอเพียง
เศรษฐกิจแบบพอเพียง เป็นแนวทางของความคิดและการปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตที่มีหลักพึ่งตนเอง และช่วยเหลือตนเองให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องการอยู่การกินที่ต้องทำแบบพอมีพอกิน ไม่ขาดแคลน หรือฟุ่มเฟือยเกินไป ตัวอย่างแนวคิดที่นำไปปฏิบัติ เช่น
(1) ปลูกพืชผักผลไม้ และเลี้ยงสัตว์ที่เป็นอาหารตามสภาพที่ทำได้
(2) สิ่งที่ผลิตไม่ได้ก็แลกเปลี่ยน หรือซื้อจากภายนอกบ้าง
(3) ควรซื้อและใช้สิ่งที่ผลิตได้ในท้องถิ่น หรือในประเทศ
(4) มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟื้อ ไม่ฟุ่มเฟือย
(5) ไม่ควรก่อหนี้สิน หรือพยายามก่อหนี้ให้น้อยที่สุด
(6) ต้องระวังเรื่องรายจ่าย ไม่ให้เกินรายรับ
(7) สนใจศึกษาหาความรู้ เพื่อให้ได้ความคิดที่ดี นำมาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัว
ข. เกษตรทฤษฎีใหม่
เกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นแนวทางในการจัดการเรื่องที่ดิน และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะคนไทยส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร ซึ่งมีความยากลำบาก และมีปัญหาในการประกอบอาชีพหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องน้ำ และอาหารการกิน ทำให้มีผลผลิตน้อย และมีหนี้สินที่ไปกู้ยืมมาก
แนวทางทฤษฎีใหม่ โดยเน้นเศรษฐกิจแบบพอเพียง ซึ่งเป็นแนวทางพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีหลักการโดยรวม ดังนี้
(1) ให้เกษตรกรผลิตข้าวไว้บริโภคพอเพียงตลอดปี
(2) ให้ประหยัด เลี้ยงตัวเองได้ ไม่อด และไม่มีหนี้สิน
(3) สินค้าที่เป็นผลผลิต ให้รวมกลุ่มกันจัดดำเนินการโดยไม่ผ่านคนกลาง ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมาก
(4) มีความขยัน อดทน เข้มแข็งในการทำงาน และร่วมแรงร่วมใจในการแก้ไขปัญหา
การดำเนินงานของเกษตรทฤษฎีใหม่
วิธีการดำเนินงานโดยสังเขปมี 3 ขั้นตอน คือ
ขั้นตอนที่ 1 การผลิต
เป็นขั้นแรกที่มุ่งให้เกษตรกรช่วยเหลือและเลี้ยงตัวเองได้ โดยมีพื้นฐานของความขยัน และประหยัด ให้เกษตรกรแบ่งพื้นที่เป็น 4 ส่วน โดยมีอัตราส่วน 30 : 30 : 30 : 10 ดังนี้
ส่วนที่ 1 พื้นที่ประมาณ 30% ให้ขุดสระน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำที่มีในฤดูฝน ใช้เพาะปลูกจนถึงฤดูแล้ว ในน้ำอาจเลี้ยงปลาไว้กิน
ส่วนที่ 2 พื้นที่ประมาณ 30% ทำเป็นที่นาปลูกข้าว เพื่อใช้เป็นอาหารของครอบครัวตลอดปี โดยไม่ต้องซื้อกิน
ส่วนที่ 3 พื้นที่ประมาณ 30% ใช้ปลูกพืชต่าง ๆ ทั้งพืชไม้ผล พืชยืนต้น พืชผักสวนครัว สมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับ เพื่อกินเพื่อใช้ในครอบครัว ถ้ามีผลผลิตมากก็นำไปจำหน่ายได้
ส่วนที่ 4 พื้นที่ประมาณ 10% ใช้ทำเป็นที่อยู่อาศัย อาจมีการเลี้ยงสัตว์ หรือสร้างโรงเรือนเพื่อทำงานอื่นเสริมในบ้าน เช่น ทอผ้า จักสาน ซ่อมแซมเครื่องมือ
ขั้นตอนที่ 2 ขั้นรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์
เมื่อเกษตรกรมีพอกินพออยู่แล้ว ให้มารวมกลุ่มกัน ช่วยเหลือกันทำงานในรูปสหกรณ์ เช่นผลิตผลของแต่ละครัวเรือนที่มีมากเกินบริโภค ก็ช่วยกันหาแนวทางจัดการเพื่อให้ผลิตผลนั้นมีมูลค่าเป็นรายได้เพิ่ม มีการประชุมปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อช่วยกันหาวิธีจัดการที่ทำให้เกิดผลดี
ขั้นตอนที่ 3 ขั้นดำเนินธุรกิจ
เมื่อเป็นกลุ่มสหกรณ์ที่เข้มแข็งในขั้นนี้เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน ในการขอความร่วมมือจากแหล่งเงินทุนที่มีการสนับสนุนเพื่อดำเนินงานที่มีความเจริญก้าวหน้าและมีหลักที่มั่นคงของชุมชน ที่มีความร่วมแรงร่วมใจ ประสานประโยชน์อย่างเข้มแข็ง เกิดความรู้ ความรัก และความสามัคคีต่อกัน
สำหรับนักเรียนที่ยังต้องศึกษาเรียนรู้ ก็สามารถปฏิบัติตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อพัฒนาตนเอง ช่วยเหลือครอบครัว โรงเรียน และชุมชนที่อยู่ให้เกิดประโยชน์ ดังนี้
(1) ปฏิบัติตนในทางที่ดีและถูกต้อง ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่น
(2) รู้จักใช้จ่ายให้เหมาะสม พอดี ฝึกตนเองให้มีการประหยัดและเก็บออม ไม่ฟุ่มเฟือย ช่วยครอบครัวและโรงเรียนในการประหยัดไฟฟ้า น้ำ และสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้เหมาะสม
(3) รู้จักการทำงานร่วมกับผู้อื่นเป็นกลุ่ม และช่วยเหลือกัน เช่น การทำความสะอาดห้องเรียนในวันที่กำหนด การช่วยกันสืบค้นข้อมูลในการเรียนรู้กลุ่มสาระอื่น ๆ
(4) ฝึกทำบัญชี รับ – จ่าย รายวันของตนเอง ซึ่งจะทำให้เรารู้จักการประหยัดและเก็บออมด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น