วันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

คู่มือเตรียมสอบ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ป.1 - 2 - 3 ___ สังคม ป.2 - บทที่ 2 โรงเรียนของเราน่าอยู่ (เนื้อหา)

คู่มือเตรียมสอบ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ป.1 - 2 - 3 ___ สังคม ป.2 - บทที่ 2 โรงเรียนของเราน่าอยู่ (เนื้อหา)




บทที่ 2 โรงเรียนของเราน่าอยู่



     1.  องค์ประกอบทางกายภาพของโรงเรียน
โรงเรียนเป็นสถานศึกษา ที่มีการจัดการเรียนการสอนแก่นักเรียน โรงเรียนมีหลายระดับที่เหมาะสมกับนักเรียนตามอายุ ได้แก่ ระดับชั้นอนุบาล ระดับชั้นประถมศึกษา ระดับชั้นมัธยมศึกษา ระดับวิทยาลัย และระดับมหาวิทยาลัย ตามลำดับ
องค์ประกอบของโรงเรียนแต่ละแห่ง มีองค์ประกอบสำคัญที่เหมือนกัน ได้แก่
1)     เสาธง
2)     ซุ้มพระพุทธรูป
3)     ห้องเรียนในแต่ละอาคารเรียน
4)     โรงอาหาร
5)     ห้องประชุม
6)     ห้องพยาบาล
7)     ห้องส้วม
8)     ต้นไม้ในบริเวณโรงเรียน
9)     สนามหญ้า และสวนหย่อมปลูกไม้ประดับ
10) ที่รองรับขยะ
ส่วนที่แตกต่างกันขององค์ประกอบแต่ละโรงเรียน เช่น ขนาดของโรงเรียน จำนวนอาคาร บริเวณที่จอดรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ สระว่ายน้ำ โรงฝึกกีฬาในร่ม แปลงปลูกพืชผัก ซึ่งองค์ประกอบที่แตกต่างกันนี้ บางโรงเรียนอาจจะมีหรือไม่มีก็ได้
ลักษณะทางกายภาพของโรงเรียนที่อยู่ในเมือง หรือในชุมชน ย่อมแตกต่างจากโรงเรียน ที่อยู่นอกเมืองออกไป ดังนี้
-          โรงเรียนในเมือง ส่วนมากจะมีอาคารเรียนหลายหลัง แต่ละอาคารมี 3 – 4 ชั้น บริเวณสนามค่อนข้างแคบ ถนนหน้าโรงเรียนแออัดและวุ่นวายไปด้วยรถยนต์ รถจักรยานยนต์ที่มาส่งและมารับนักเรียน ในช่วงเวลาก่อนโรงเรียน และเข้าก่อนเลิกเรียน มีสินค้าประเภทของกินของเล่นที่มีคนมาตั้งวางขายที่หน้าโรงเรียน ต้นไม้มีน้อย อาจจะเป็นต้นไม้ที่ปลูกในกระถางเป็นส่วนใหญ่
-          โรงเรียนนอกเมือง มีบริเวณกว้างขวาง ใช้เป็นสนามกีฬา และแปลงปลูกพืชผักจำนวนอาคารเรียนมีไม่มาก เพราะจำนวนนักเรียนจะน้อยกว่าโรงเรียนในเมือง มีต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงามากกว่า แต่ความวุ่นวายและความแออัดของยานพาหนะที่มาส่งมารับมีน้อยกว่า รวมทั้งสิ่งของที่มาขายบริเวณหน้าโรงเรียนมีน้อย

     2.  หน้าที่ และความสัมพันธ์ขององค์ประกอบในโรงเรียน
องค์ประกอบในโรงเรียนมีทั้งสิ่งมีชีวิต เช่น นักเรียน ครู ต้นไม้ นก แมลง และสิ่งไม่มีชีวิต  เช่นอาคารเรียน โต๊ะ เก้าอี้ สมุด หนังสือ เครื่องเขียน ถังขยะ เครื่องเล่น เป็นต้น ซึ่งหน้าที่หรือประโยชน์ และความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งในโรงเรียน มีดังนี้
-          ห้องเรียน นักเรียนได้ใช้ห้องเรียนในการศึกษาเรียนรู้ ไปสวดมนต์ที่ห้องประชุม ไปวิ่งเล่นที่สนาม ไปกินข้าวที่โรงอาหาร และทำกิจกรรมอื่น ๆ อีกหลายอย่าง เราทุกคนต้องช่วยกันรักษาความสะอาด จัดเก็บสิ่งของในห้องที่เราใช้ให้เป็นที่อยู่เสมอ
-          อุปกรณ์การเรียนของนักเรียน เช่น ดินสอ ยางลบ ไม้บรรทัด หนังสือ สมุด ใช้แล้วต้องเก็บเข้าที่ทุกครั้ง ไม่ทิ้งหรือทำหาย ไม่ควรขอยืมคนอื่น เพราะจะทำให้ไม่รู้จักรับผิดชอบ
-          เครื่องเล่นในสนาม ทำให้เราได้ออกกำลังกาย และสนุกสนานกับเพื่อน เราต้องเล่นให้ถูกวิธี เพื่อให้ปลอดภัย ไม่เกิดอุบัติเหตุ
-          ดอกไม้ต้นไม้บริเวณโรงเรียน ให้ความสวยงาม ให้ร่มเงา และให้อากาศที่ดีแก่เรา ดังนั้น จึงต้องไม่เด็ดดอกไม้ให้เสียหาย เราเล่นใต้ต้นไม้ที่มีร่มเงา ไม่เล่นปีนป่ายให้เกิดการบาดเจ็บ
-          บริเวณแปลงปลูกผัก หรือสวนหย่อมที่ปลูกพืชไม้ดอกไม้ประดับ อาจจะมีบ่อเลี้ยงปลา หรือ มีภูเขาน้ำตกจำลอง ซึ่งครูใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ ใช้สอนพวกเราได้หลายเรื่อง
-          บุคคลต่าง ๆ ในโรงเรียน มีหน้าที่ของตนเอง และมีหน้าที่ที่สัมพันธ์กัน เช่น ผู้อำนวยการโรงเรียน ดูแลงานของโรงเรียนทุกอย่าง ครูสอนนักเรียนให้มีความรู้ ความคิด ทำงานเป็น และมีจิตใจดี ส่วนนักเรียนตั้งเรียน เคารพเชื่อฟังครู และสร้างชื่อเสียงให้แก่โรงเรียน คนงานภารโรง ทำความสะอาดอาคารเรียน และบริเวณโรงเรียนให้เรียบร้อย ดูแลตัดแต่งและรดน้ำต้นไม้
b   3. กฎระเบียบและวินัยของโรงเรียน
ในโรงเรียนมีบุคคลและมีนักเรียนเป็นจำนวนมาก จึงต้องมีกฎ และระเบียบวินัยในการอยู่ร่วมกัน เพื่อให้มีระเบียบเรียบร้อย ไม่วุ่นวาย ทั้งช่วยลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นด้วย กฎและระเบียบวินัย จึงเป็นข้อกำหนดการปฏิบัติในเรื่องต่าง ๆ ร่วมกัน ดังนี้
1)     การแต่งกาย นักเรียนแต่งชุดนักเรียนตามที่โรงเรียนกำหนด ตามระเบียบ รวมทั้งแต่งกายให้สะอาดเรียบร้อยด้วย
2)     การตรงต่อเวลา นักเรียนต้องมาโรงเรียนให้ทันเวลาก่อนเข้าเรียนทุกวัน การมาโรงเรียนสาย ทำให้ต้องรีบร้อน เรียนไม่ทัน และจะติดเป็นนิสัยทีไม่ดี
3)     การเข้าแถวเคารพธงชาติ เมื่อถึงเวลาเข้าเรียน นักเรียนทุกคนต้องเข้าแถวเพื่อร้องเพลงชาติ ในการเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาทุกเช้า แล้วสวดมนต์ กล่าวคำปฏิญาณตนพร้อมกัน เพื่อแสดงถึงการมีเอกราชของชาติไทย และฝึกระเบียบวินัยในการเข้าแถว และเดินแถวขึ้นห้องเรียน
4)     การรักษาความสะอาด และช่วยดูแลทรัพย์สมบัติของโรงเรียน เราทิ้งขยะลงถังรองรับ เราไม่ขีดเขียนฝาผนัง ไม่ทำลายดอกไม้ต้นไม้ ช่วยกันทำความสะอาด และจัดโต๊ะในห้องเรียนตามกำหนดวัน จะช่วยให้โรงเรียนของเราสะอาด สวยงาม เป็นที่ชื่นชมของผู้มาเยี่ยมเยียน
5)     การร่วมกิจกรรมต่าง ๆ โรงเรียนมีการจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความรู้ และการปฏิบัติจริง เช่น การศึกษาแหล่งเรียนรู้ การแข่งขันกีฬาสี การทำบุญในวันสำคัญทางศาสนา สัปดาห์ห้องสมุด แข่งขันตอบปัญหาวิชาต่าง ๆ การจัดนิทรรศการและโครงงานของโรงเรียน ซึ่ง นักเรียนทุกคนมีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าว และให้ความร่วมมือด้วยดี


     4.  ข้อปฏิบัติตนต่อโรงเรียน
เราเป็นนักเรียน ซึ่งเป็นบุคคลที่มีจำนวนมากที่สุดในโรงเรียน เมื่อเราเรียนรู้ถึงกฎ และระเบียบวินัยของโรงเรียนแล้ว จึงมีข้อปฏิบัติในการฝึกตนให้มีความรับผิดชอบ และเกิดความเรียบร้อยในส่วนรวม ดังนี้
1)     แต่งกายให้สะอาดเรียบร้อย สวมใส่ชุดเสื้อผ้าตามกำหนดวัน คือ ชุดนักเรียน ชุดกีฬา ชุดลูกเสือ – เนตรนารี
2)     มาโรงเรียนก่อนกำหนดเวลาเข้าเรียนทุกวัน ไม่มาสาย
3)     เข้าแถวเคารพธงชาติ สวดมนต์ กล่าวคำปฏิญาณตนตอนเช้าทุกวัน และเดินเป็นแถวไปห้องเรียน
4)     เมื่อถึงเวลาเรียน ต้องตั้งใจฟังครูสอนหรืออธิบาย และมอบหมายงานแก่เรา ถ้าสงสัยให้รีบถาม
5)     ไม่เล่นหยอกล้อ หรือทำอย่างอื่นขณะที่ครูอธิบาย เพราะจะทำให้ฟังและเรียนไม่รู้เรื่อง
6)     ทำงานตามที่ครูมอบหมาย รวมทั้งทำการบ้านด้วยตัวเอง เพื่อให้สามารถทำงานได้ตามวัย
7)     ช่วยกันดูแลรักษาความสะอาดทั้งในห้องเรียน และบริเวณโรงเรียน
8)     รวมกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียนอย่างเต็มใจ

     5.  การช่วยเหลือโรงเรียน
โรงเรียนมีพระคุณต่อเรามาก เราทุกคนรักโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนจะได้รับความเชื่อถือยกย่อง เพราะนักเรียนมีความประพฤติดี ตั้งใจเรียนจนมีความรู้ ความคิด และความสามารถ เมื่อเติบโตในภายภาคหน้าจะได้มีอาชีพที่สุจริต เป็นพลเมืองดีของชาติต่อไป ดังนั้นนักเรียนทุกคนควรมีส่วนช่วยเหลือโรงเรียนในด้านต่าง ๆ เช่น
-   ตั้งใจเรียน ประพฤติดี เป็นที่ยกย่องแก่บุคคลทั่วไป
-   ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่โรงเรียนจัดขึ้นด้วยความเต็มใจ
-   ช่วยกันดูแลทรัพย์สินของโรงเรียนให้ใช้ได้นาน ๆ
-   ช่วยโรงเรียนประหยัด ไม่ใช้ไฟฟ้า และน้ำอย่างสิ้นเปลือง ต้องดูแลปิดไฟฟ้า ปิดน้ำ ทุกครั้งที่ใช้แล้ว
-    รักษาความสะอาดของห้องเรียนและบริเวณโรงเรียน

     6.  แผนผัง

แผนผัง คือ แบบเขียนย่อที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งของสิ่งที่มีอยู่ในบริเวณที่ไม่กว้างมาก และมีรายละเอียดน้อย มีการบอกทิศทางและชื่อสถานที่ตามตำแหน่งที่ตั้งในบริเวณนั้น แผนผังส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับบ้าน ห้องเรียน โรงเรียน ชุมชน เมื่อเราสามารถอ่าน หรือดูแผนผังตามตัวอย่างได้เข้าใจแล้ว ก็ควรหัดเขียนแผนผังให้ได้ด้วย









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Blog เพื่อนการศึกษา

***Blog เพื่อนการศึกษา*** สรุปเนื้อหาเข้า ป.1 - ม.6 สรุปเนื้อหา - วิชาสังคมศึกษา ป.3 (สรุปตามสาระการเรียนรู้) แบบทดสอบประจำหน่วยการเรียนรู...