Download - เนื้อหา
บทที่ 6 พระพุทธศาสนา
1. ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย
คนไทยส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งนับถือกันมาช้านาน ตั้งแต่เริ่มยุคสมัยของชาติไทย ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย มีความสัมพันธ์ และเกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธเป็นอย่างมาก คำนอนในพระพุทธศาสนาที่สอนให้คนละเว้นการทำชั่ว หมั่นทำแต่ความดี และฝึกจิตใจให้คิดดี รู้จักรักสงบ จึงทำให้คนไทยเป็นคนดีมีศีลธรรม และมีความเป็นอู่ร่วมกันอย่างร่มเย็น
ดังนั้นพระพุทธศาสนา จึงมีความสำคัญต่อประเทศไทย ดังนี้
1) พระพุทธศาสนาเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมไทย
วัฒนธรรม หมายถึง สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ทำให้มีความเจริญงอกงามในด้านต่าง ๆ ให้ความสะดวกสบาย และเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละชาติ เรียกว่าเป็นเอกลักษณ์ของชาติ สิ่งที่แสดงถึงวัฒนธรรมของชาติ ได้แก่ ภาษา ประเพณี พิธีการ ศิลปะความงดงาม ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่
วัฒนธรรมไทย มีความเกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธเป็นอย่างมาก เช่น
o ด้านภาษา มีถ้อยคำที่ดีงาม ที่เป็นคำสอน มีสุภาษิต นิทานชาดกที่มีข้อคิดสอนใจ
o ด้านประเพณี มีการทำบุญต่าง ๆ การบวช การทอดกฐิน
o ด้านศิลปะความงดงาม มีพระพุทธรูปที่บูชา ในวัดมีสิ่งก่อสร้าง เช่น โบสถ์ วิหาร เจดีย์ มีภาพวาดที่ฝาผนัง
o ด้านชีวิตความเป็นอยู่ รู้หน้าที่ และทำมาหากินเลี้ยงชีวิตอย่างสุจริต ไม่เบียดเบียนกัน มีการเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน และมีนำใจต่อผู้อื่น
2) พระพุทธศาสนาเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย
เอกลักษณ์ หมายถึง ลักษณะสำคัญที่โดดเด่น ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวของคนไทยที่แสดงออกมา สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติไทยส่วนมาก ได้มาจากคำสอนในพระพุทธศาสนา
เอกลักษณ์ของชาติไทยที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธ เช่น
o การมีน้ำใจ เมตตา ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อต่อกัน
o การมีกิริยาท่าทางและการพูดจาที่สุภาพเรียบร้อย นุ่มนวล เช่น เคาพรด้วยการไหว้ การกราบ ที่มีความอ่อนน้อม
o การรักอิสระและเสรีภาพ เป็นเอกลักษณ์ของคนไทยที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง จึงทำให้ชาติไทยมีความเป็นเอกราช ไม่ถูกชนชาติอื่นเข้ามาครอบครอง
2. พุทธประวัติ
เรื่องราวของพระพุทธเจ้าที่เป็นพุทธประวัติ ในระดับชั้นนี้เป็นเหตุการณ์ต่อจากตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงผนวช เพื่อค้นหาความจริง ได้ตรัสรูแล้วเผยแผ่พระศาสนา จนกระทั่งปรินิพพาน
o การบำเพ็ญเพียร พระสิทธัตถะอยู่ในสภาพนักบวชแล้ว ได้เดินทางไปยังแคว้นมคธ เพื่อค้นหาทางดับทุกข์ โดยครั้งแรกไปศึกษาหาความรู้จากอาจารย์สองท่าน คือ อาฬารดาบส กับอุทกดาบส แต่ก็ยังไม่ทำให้พระองค์ค้นพบความจริงได้ จึงใช้วิธีบำเพ็ญเพียรด้วยตนเองโดยวิธีทรมานพระอง๕ เรียกว่า บำเพ็ญทุกรกิริยาแบบต่าง ๆ ที่นิยมกระทำกันในสมัยนั้น แต่ไม่ได้ผล จึงใช้วีบำเพ็ญเพียรทางใจ ทำจิตให้เป็นสมาธิที่แน่วแน่
o ผจญมาร พระสิทธัตถะทรงทำสมาธิให้จิตใจมีความสงบ เพื่อที่จะได้ตรัสรู้ แต่พระองค์ต้องต่อสู้กับความรู้สึกที่ไม่ดี และความคิดที่ชั่วร้ายต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นมารที่ขัดขวางการตรัสรู้ ในที่สุดพระองค์สามารถเอาชนะความรู้สึก หรือความคิดเหล่านี้ โดยทำจิตใจให้เป็นสมาธิ คิดไตร่ตรองในทางที่ดีงามและถูกต้อง เอาชนะสิ่งที่เป็นมารจนสำเร็จ พระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
o ตรัสรู้ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เมื่อมีพระชนมายุ 35 พรรษา ใช้เวลาในการค้นหาความจริงตั้งแต่ออกผนวชจนตรัสรู้เป็นเวลา 6 ปี สิ่งที่พระองค์ตรัสรู้ หรือรู้แจ้งเห็นจริง คือ อริยสัจ 4 หมายถึง ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ที่เป็นแนวทางในการดับทุกข์ พระพุทธเทรงเห็นว่า เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก และเกรงว่าเมื่อนำมาสั่งสอนแก่ผู้คนจะไม่ได้ผล ครั้งแรกทรงคิดว่าจะไม่เผยแผ่แก่คนทั้งหลาย แต่มีพระดำริต่อมาว่า ผู้คนในโลกนี้ย่อมมีสติปัญญาที่แตกต่างกัน เปรียบเหมือนดอกบัว 4 ประเภท ดังนี้
(1) ดอกบัวอ่อนที่ยังจมอยู่ในดินโคลน ย่อมเป็นเหยื่อของเต่า ปู ปลา ในน้ำ เปรียบเหมือน คนที่มีสติปัญญาอ่อน เรียนรู้ช้ามาก ต้องใช้เวลาในการสั่งสอนนานมาก
(2) ดอกบัวที่โผล่ขึ้นมาจากดินโคลนแต่ยังอยู่ในน้ำ เปรียบเหมือนคนที่มีสติปัญญาช้า ต้องใช้เวลาในการสั่งสอนนานพอสมควร
(3) ดอกบัวโตขึ้นมาอยู่ปริ่มน้ำ เปรียบเหมือนคนที่มีสติปัญญาปานกลาง รู้จักคิดได้ ใช้เวลาสั่งสอนไม่นานนัก
(4) ดอกบัวที่โผล่ขึ้นมาพ้นผิวน้ำ รอดพ้นจากการกัดกินของสัตว์ในน้ำ เปรียบเหมือนคนที่ฉลาด สอนง่าย เข้าใจเร็ว มีเหตุผล และรู้จักคิดไตร่ตรอง
พระพุทธเจ้าทรงระลึกถึงอาจารย์ทั้งสองที่เคยสอน แต่ทรงทราบว่าได้ถึงแก่กรรมแล้ว พระองค์จึงได้ระลึกถึงปัจวคีย์ หรือนักบวชห้ารูป ที่เคยดูแลพระพุทธเจ้าในขณะที่ทรงบำเพ็ญเพียรเพื่อหาทางตรัสรู้
o ปฐมเทศนา พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังที่พักของนักบวชทั้งห้ารูป ครั้งแรกนักบวชเหล่านั้นคิดว่าพระพุทธองค์ไม่ได้ตรัสรู้ ก็จะไม่ต้อนรับ แต่เมื่อเสด็จมาใกล้ถึงจึงเปลี่ยนท่าทีเป็นให้การต้อนรับอย่างดี พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวคีย์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 มีนักบวชคนแรกที่เข้าใจคำสอนแจ่มชัดก่อนผู้ใด จึงขอบวชเป็นพระสงฆ์องค์แรง คือ โกณทัญญะ และคนต่อมาก็ขอบวชตามเป็นลำดับ
จากนั้นพระพุทธเข้าและสาวกได้เทศนาพระธรรมคำสั่งสอนแก่ผู้คนทั้งหลาย มีผู้ขอบวชเป็นพระสงฆ์มากมาย เป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เป็นปึกแผ่น มั่นคง พระพุทธองค์ทรงเทศนาสั่งสอนแก่ผู้คนถึง 45 ปี
o ปรินิพพาน เมื่อพระพุทธเจ้ามีพระชนมายุ 80 พรรษา ได้เสด็จมาถึงเมืองกุสินารา ทรงสั่งสอนนักบวชผู้ชอบเดินทาง ชื่อ สุภัททะ ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ และบวชเป็นพระสงฆ์องค์สุดท้ายในสมัยพุทธกาล จากนั้นพระพุทธเจ้าจึงเสด็จดับขันธปรินิพพาน โดยมีพระโอวาทครั้งสุดท้าย กล่าวว่า “เมื่อไม่มีพระพุทธองค์แล้ว ให้ยึดถือพระธรรมวินัยเป็นข้อปฏิบัติที่สำคัญ และสังขารทั้งหลายทั้งปวง มีความสิ้นไป เสื่อมไปเป็นธรรมดา ขอให้ทุกคนจงไม่ประมาท” พระพุทธเจ้าปรินิพพานในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6
3. ชาดก
เรื่องในอดีตที่ผ่านมาของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีมากมายหลายเรื่อง เป็นเรื่องที่ให้ข้อคิดสอนในและสนุกสนาน กำหนดให้ศึกษาเรียนรู้ในระดับชั้นนี้ 2 เรื่อง
เรื่องที่ 1 อารามทูสกชาดก “โง่แล้วขยันย่อมเสียหาย”
ในกาลครั้งหนึ่งที่กรุงพาราณสี ได้จัดงานนักขัตฤกษ์ มีการแสดงการละเล่นต่าง ๆ อย่างสนุกสนาน และออกร้านขายของเป็นเวลาหลายวัน ทำให้คนดูแลอุทยานของพระราชาอยากออกไปเที่ยวดูงานจึงไปขอร้องกับหัวหน้าฝูงลิงที่อาศัยอยู่ในอุทยานนั้นว่า “ท่านได้อาหารจากพืชผล และได้ที่อยู่อาศัยในสวนแห่งนี้ เราอยากไปเที่ยวงานเหมือนคนอื่นบ้าง จึงขอร้องให้ท่านและบริวารช่วยรดน้ำต้นไม้ที่กำลังปลูกใหม่ให้เราได้หรือไม่” หัวหน้าฝูงลิงรับคำว่าจะรดน้ำต้นไม้ให้ คนดูแลอุทยานจึงหาเครื่องตักน้ำมาไว้ให้ แล้วไปเที่ยวงานในเมือง
หัวหน้าฝูงลิงจึงพูดกับลิงทั้งหลายว่า “น้ำเป็นสิ่งที่ต้องสงวนรักษาไว้ ไม่ควรใช้มาก ดังนั้นก่อนจะรดน้ำต้นไม้ ควรถอนขึ้นมาดูรากก่อนว่า ต้นใดรากยาวต้องรดน้ำให้มาก ต้นใดรากสั้นก็รดน้อย”
มีชายคนหนึ่งเดินผ่านมา เขาสงสัยว่าลิงฝูงนี้ทำอะไร เมื่อมองเห็นฝูงลิงถอนต้นไม้อ่อน ๆ แล้วรดน้ำตามความยาวของราก จึงถามว่าทำไมจึงทำเช่นนั้น พวกลิงบอกว่า หัวหน้าสอนไว้อย่างนี้ ชายคนนั้นได้แต่ส่ายหน้า และคิดว่า ช่างน่าอนาถ พวกลิงโง่เขลาเบาปัญญาที่คิดว่าตนได้ทำประโยชน์ แต่กลับทำความพินาศเสียหายไปด้วยความโง่
เรื่องที่ 2 มหาวานิชชาดก “โลภมากจึงตาย”
ในอดีตกาลครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงเป็นนายกองเกวียน ซึ่งเป็นหัวหน้าพ่อค้าที่นำสินค้าต่าง ๆ ใส่เกวียนไปขายต่างเมือง มีพ่อค้ามาร่วมขบวนถึง 500 คน เมื่อออกเดินทางไประยะหนึ่ง จึงรู้ว่าพลัดหลงเข้าไปยังถ้องถิ่นที่กันดารมาก ทำให้ลำบากเพราะขาน้ำขาดอาหาร พอดีเห็นต้นไทรอยู่กลางป่า จึงพากันนั่งพัก ซึ่งที่ต้นไทรใหญ่นั้น เป็นที่อยู่อาศัยของพญานาค พวกพ่อค้าเห็นต้นไทรเขียวชอุ่ม จึงชวนกันตัดกิ่งไทรเผื่อจะมีน้ำได้กินบ้าง ปรากฏว่า มีน้ำไหลออกจากกิ่งไทรมากมาย พ่อค้าจึงได้ดื่มน้ำและล้างหน้ากันเต็มที่ ต่อมาได้ตัดกิ่งที่สอง ก็มีอาหารและผลไม้ออกมาอีก พวกพ่อค้าจึงพากันกินอย่างอิ่มหนำสำราญ
เมื่อตัดกิ่งที่สาม ก็มีหญิงสาวสวยออกมาขับร้องฟ้อนรำเป็นที่พอใจกัน และตัดกิ่งที่สี่ ก็มีเพชรนิลจินดาออกมามากมาย พ่อค้าทุกคนต่างพากันเก็บใส่ไว้ในเกวียนของตนเองทุกเล่ม แต่ถึงกระนั้นก็ยังโลภ ได้พากันพูดว่า ถ้าตัดต้นไทรทั้งต้น ก็คงจะได้ทรัพย์สินอีกมากมายมหาศาลเป็นแน่
แต่นายกองเกวียนได้ห้ามปรามและขอร้องว่า “อย่าตัดและทำลายต้นไทรนี้เลย เพราะผู้ที่ได้อาศัยนั่งพัก หรือนอนพักในที่ร่มของต้นไม้ต้นใด ก็ไม่ควรตัดกิ่งและลำต้นของต้นไม้นั้น พวกเราก็ได้สิ่งที่ต้องการมากมายแล้ว ก็น่าจะพอ” พวกพ่อค้าไม่ฟังคำขอร้องของนายกองเกวียนผู้เป็นหัวหน้า และดื้อดึงจะตัดต้นไทรให้ได้
ทันใดนั้น พญานาคผู้บันดาลสิ่งต่าง ๆ ให้พวกพ่อค้า เห็นความโลภที่มีมากขึ้น จึงให้บริวารฆ่าพวกพ่อค้าเหล่านั้นทุกคน ยกเว้นนายกองเกวียนผู้มีคุณธรรมเพียงคนเดียว เมื่อพญานาคแสดงตนแล้ว จึงพานายกองเกวียน พร้อมทั้งเกวียน 500 เล่ม ไปส่งในเมือง
4. พุทธสาวก
พุทธสาวก เป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนามาก ท่านเป็นผู้ที่ขอออกบวชเมื่อฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และนำพระธรรมคำนอนไปปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี นับว่าเป็นผู้ที่ช่วยเผยแผ่พระธรรมให้เกิดประโยชน์สุขแก่ผู้คนมาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน การเรียนรู้เรื่องพุทธสาวก จึงมีคุณประโยชน์ ดังนี้
1) ทำให้ทราบถึงประวัติ และงานที่เป็นภารกิจสำคัญของพุทธสาวก
2) ทำให้ได้แบบอย่างที่ดี คุณธรรม และข้อคิดในการรักษาและสืบทอดพระศาสนา
3) ทำให้เกิดเลื่อมใสศรัทธาในคุณของพระสงฆ์
การเรียนรู้พุทธสาวกในระดับชั้นนี้ เป็นเรื่องของสามเณรอีกท่านหนึ่งในสมัยพุทธกาล
สามเณรสังกิจจะ
สามเณรสังกิจจะ เป็นบุตรของธิดาเศรษฐีในเมืองสาวัตถี มารดาเสียชีวิตในขณะที่สามเณรยังอยู่ในครรภ์ของมารดา ญาติจึงนำไปเผา แต่ไฟไม่ได้ไหม้ส่วนท้อง พวกสัปเหร่อจึงใช้หลาวเหล็กแทงไปที่ส่วนท้อง จึงกระทบที่หางตาของเด็กพอดี เมื่อกลบถ่านเพลิงแล้ว ก็กลับบ้านก่อน และจะมาดับไฟเก็บอัฐิในวันพรุ่งนี้
ตอนเช้าพวกสัปเหร่อมาดับไฟ เห็นเด็กที่ยังมีชีวิตนอนอยู่ จึงอุ้มกลับไปให้ญาติ พวกญาติจึงตั้งชื่อว่า “สังกิจจะ” เพราะหางตาเป็นแผลจากหลาวเหล็กไปกระทบ และให้หมอดูทำนายชีวิต ซึ่งได้ทำนายไว้ 2 ทาง คือ ถ้าอยู่ครองเรือนจะทำให้พวกญาติไม่ยากจน แต่ถ้าออกบวชจะมีพระ 500 รูป เป็นบริวาร เมื่อสังกิจจกุมารมีอายุ 7 ปี รู้ประวัติของตนจากเด็กเพื่อนบ้าน จึงต้องการออกบวช พวกญาติได้พาไปขอบวชจากพระสารีบุตร ในวันบวชพระสารีบุตรให้ทำสมาธิและพิจารณาส่วนของร่างกาย 5 อย่าง คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นสิ่งปฏิกูลที่ต้องรำระล้าง หรือต้องตัดให้สั้นเป็นประจำ เมื่อพิจารณาแล้วจึงปลงผม สามเณรได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในขณะที่ปลงผมเสร็จ
ต่อมามีกุลบุตร 30 คน มาขอบวช เมื่อบวชได้ 5 ปี ก็ต้องการจะไปปฏิบัติธรรมในป่าแห่งหนึ่ง จึงมาทูลลาพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์รับสั่งให้ไปลาพระสารีบุตรก่อนจึงไป เมื่อพระสารีบุตรทราบเรื่อง และพระประสงค์ของพระพุทธเจ้า ท่านจึงให้สามเณรสังกิจจะไปด้วย เมื่อไปถึงยังหมู่บ้านหนึ่ง พวกขาวบ้านนิมนต์ให้อยู่จำพรรษา และจะรับอุปถัมภ์ด้วย จึงรับนิมนต์ และมีกติกาอยู่ว่า ขณะปฏิบัติธรรมให้อยู่ลำพัง ห้ามอยู่ด้วยกัน 2 รูป ถ้าไม่สบายให้ตีระฆังบอก
มีชายยากไร้ผู้หนึ่ง เดินทางจะไปหาลุกสาวอีกเมืองหนึ่ง ผ่านมาถึงหมู่บ้านนี้ด้วยความหิวโหย เพราะอดข้าวหลายวัน ได้ขออาหารและขออาศัยอยู่กับพระภิกษุ โดยอาสาปรนนิบัติรับใช้ เมื่ออยู่สุขสบายได้ 2 เดือน ก็คิดถึงลูกสาวจึงแอบหนีไป ระหว่างทางผ่านดงโจร 500 คน จึงถูกจับนำตัวไปทำพิธีถวายพลีกรรม ซึ่งพวกโจรได้บนบานกับเทวดาไว้ว่าจะฆ่าคน 1 คน ชายยากไร้กลัวตายร้องขอชีวิต และบอกว่าเทวดาคงชอบผู้ทรงศีล ให้ไปจับพระภิกษุมาทำพลีกรรม พวกโจรจึงให้พาไปที่สำนักสงฆ์ และตีระฆัง ทำให้พระภิกษุทุกรูปไปรวมกันที่ศาลาหัวหน้าโจรประกาศหาพระภิกษุ 1 รูป ไปทำพลีกรรม พระภิกษุ 30 รูป อาสาจะไป แต่สามเณรสังกิจจะขออาสาไปเอง โดยบอกเหตุผลว่า พระพุทธเจ้าและพระอุปัชฌาย์ให้ตนมาด้วย เพื่อแก้ปัญหานี้
พวกโจรได้ทำพิธีในป่าดงโจร โดยหัวหน้าโจรถือดาบฟันสามเณรสังกิจจะที่จะนั่งฌานนิ่งอย่างเต็มแรง แต่ดาบงอ โจรก็ฟันซ้ำอีก ปรากฏว่า ดาบพับม้วนจนถึงด้าม หัวหน้าโจรตกใจมาก ทิ้งดาบลงคุกเข่ากราบสามเณร และถามว่า “ทำไมท่านจึงไม่กลัว ทำไมจึงไม่ร้องขอชีวิต” สามเณรออกจากฌานแล้วแสดงธรรมว่า “พระอรหันต์ไม่มีความห่วงใย ไม่มีทุกข์ทางใจ จึงไม่กลัวตาย” หัวหน้าโจรและลูกน้องไหว้สามเณรและขอบวช สามเณรสังกิจจะให้โจรเหล่านั้นบวชเป็นสามเณรถือศีล 10 ข้อ จากนั้นอำลาพระภิกษุ 30 รูป และพาสามเณรบวชใหม่ทั้ง 500 รูป เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาว่า “ผู้ที่มีศีล แม้จะมีชีวิตเพียงวันเดียวยังประเสริฐ กว่าโจรที่ไม่มีศีลอยู่ถึง 100 ปี”
5. หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา หมายถึง คำสั่งสอนที่พระพุทธเจ้าทรงกำหนดขึ้น เพื่อให้ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธได้ข้อคิดและข้อปฏิบัติที่ถูกต้องดีงาม ซึ่งมามากมายหลายเรื่อง จึงจัดไว้เป็นหมวดหมู่ เพื่อให้ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธหรือเรียกว่า พุทธศาสนิกชน ได้ศึกษาเรียนรู้หลักธรรมในหมวดต่าง ๆ เพื่อเป็นผลต่อการดำรงชีวิตให้มีความสุขความเจริญ รวมทั้งนำไปใช้ในการแก้ไขปัญญหาในชีวิตประจำวัน และการทำหน้าที่ของตนได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม สร้างสันติสุขแก่ครอบครัว หมู่คณะ ตลอดจนถึงประเทศชาติ
ในระดับชั้นนี้ มีหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ควรเรียนรู้ต่อเนื่องกันมาจากระดับต้น คือ
1) การบูชาพระรัตนตรัย
เมื่อเรารู้ความหมาย และพระคุณของพระรัตนตรัยมาแล้ว เราต้องรู้จักการบูชาด้วย
การบูชาพระรัตนตรัย หมายถึง การแสดงออกถึงความเคารพนับถือต่อพระรัตนตรัย รวมทั้งการปฏิบัติตนตามคำสอนที่มาจากพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ด้วย
การแสดงออกที่เป็นการบูชา ได้แก่ การกราบ การไหว้ การแสดงกริยาที่นอบน้อม โดยใช้เครื่องบูชา 3 สิ่ง คือ
(1) ธูป 3 ดอก เพื่อบูชาคุณของพระพุทธเจ้าทั้ง 3 ประการ คือพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระกรุณาคุณ
(2) เทียน 2 เล่ม เพื่อบูชาคุณของพระธรรม
(3) ดอกไม้ ที่จัดในพาน หรือใส่แจกันให้มองดูมีระเบียบสวยงาม เพื่อบูชาคุณของพระสงฆ์
2) หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ควนนำมาปฏิบัติ
การเรียนรู้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เพื่อให้เข้าใจถึงความหมาย ความสำคัญ และแนวทางปฏิบัติของหลักธรรม ในการนำมาใช้ในชีวิตของคนเราให้เกิดความถูกต้อง ไม่เบียดเบียนกัน และสามารถปรับตัวให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข รู้จักช่วยเหลือกันทั้งในบ้าน โรงเรียน ชุมชน ประเทศชาติ จนถึงในโลก หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มีหลายเรื่องที่สำคัญ ซึ่งในระดับชั้นนี้ ควรเรียนรู้ 4 เรื่อง ดังนี้
(1) สังคหวัตถุ
สังคหวัตถุ เป็นหลักธรรมที่สอนให้เราปฏิบัติตนในการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ทั้งในครอบครัว โรงเรียน และสังคม มีข้อควรทำ 4 ข้อ คือ
(1.1) ทาน หมายถึง การให้ เป็นการรู้จักแบ่งปัน ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อให้แก่ผู้ที่ควรให้อย่างเหมาะสม เช่น
§ แบ่งขนมให้แก่น้องและพี่
§ ให้เพื่อนเล่นของเล่นด้วย
§ บริจาคเงินและเสื้อผ้าแก่ผู้ที่ประสบภัย เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้
(1.2) ปิยวาจา หมายถึง การพูดจาสุภาพ อ่อนโยน และคำพูดที่มีประโยชน์ต่อผู้อื่นเช่น
§ พูดกับผู้อื่นด้วยคำไพเราะอ่อนโยนและจริงใจ
§ พูดแนะนำเพื่อเมื่อเกิดปัญหา
§ รู้จักพูดคำว่า สวัสดี ขอบคุณ ขอบใจ ขอโทษ ให้เหมาะสมกับโอกาสและบุคคลอยู่เสมอ
(1.3) อัตถจริยา หมายถึง การทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น โดยไม่ต้องให้ใครบังคับ มีกิริยามารยาทที่สุภาพเรียบร้อย เช่น
§ ช่วยพ่อแม่ทำงานในบ้าน รู้จักเก็บสิ่งของให้เข้าที่
§ ช่วยอธิบายเลขข้อที่ยากให้เพื่อนฟัง
§ เดินก้มตัวเมื่อผ่านผู้ใหญ่
(1.4) สมานัตตา หมายถึง การปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม เสมอต้นเสมอปลาย ไม่ดูถูกดูหมิ่นผู้อื่น
§ การมาโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอทุกวัน
§ ยิ้มและทักทายเพื่อนเมื่อพบกัน
(2) ฆราวาสธรรม
ฆราวาส หมายถึง คนทั่ว ๆ ไป ที่ไม่ใช่พระสงฆ์
ฆราวาสธรรม เป็นคำสั่งสอนสำหรับคนทั่วไป เพื่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในชีวิต มีความสำเร็จในอาชีพการงาน
มีข้อปฏิบัติ 4 ข้อ ดังนี้
(2.1) สัจจะ หมายถึง การพูดจริง ทำจริง ซื่อสัตย์ ไม่พูดโกหกหลอกลวง ย่อมทำให้ผู้อื่นเชื่อถือ ไว้วางใจ และได้รับคำชมเชย ยกย่อง
(2.2) ทมะ หมายถึง การข่มใจของตนเอง สามารถควบคุมและบังคับตนเอง ไม่ทำความชั่ว ให้ตั้งใจทำความดี รู้จักคิด ไตร่ตรอง หาเหตุผลที่ถูกต้องก่อนทำ
(2.3) ขันติ หมายถึง ความอดทนอดกลั้นต่อความทุกข์ ความยากลำบาก หรือความไม่พอใจต่าง ๆ เช่น อดทนต่อความเจ็บป่วย อดทนต่อความโกรธ อดทนต่อการทำงาน
(2.4) จาคะ หมายถึง การให้เงิน หรือสิ่งของแก่ผู้ที่ควรให้อย่างเหมาะสม เช่น การบริจาคเงิน หรือสิ่งของให้แก่ผู้ประสบภัยจากไฟไหม้ หรือน้ำท่วม รวมทั้งให้กำลังใจ หรือให้คำแนะนำที่มีความหวังดี
(3) อัตถะ (อ่านว่า อัด – ตะ – ถะ)
อัตถะ แปลว่า ประโยชน์ที่มุ่งหมายเป็นสิ่งที่คนเราต้องการ เมื่อเราอยู่ร่วมกันในสังคม ประโยชน์ที่ต้องการย่อมแตกต่างกัน ดังนั้นอัตถะ จึงมี 3 แบบ คือ
(3.1) อัตตัตถะ (อ่านว่า อัด – ตัด – ตะ – ถะ)
คือ ประโยชน์ หรือ ความต้องการของตัวเราเอง ซึ่งคุณธรรมที่จะช่วยให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเรา ได้แก่ การใฝ่รู้ใฝ่เรียน มีวินัย ขยัน ประหยัด อดทน กล้าหาญ มีสติ
(3.2) ปรัดถะ (อ่านว่า ปะ – รัด – ตะ – ถะ)
คือ ประโยชน์ หรือความต้องการของผู้อื่น ซึ่งเราต้องคำนึงถึง คุณธรรมที่จะช่วยให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่น ได้แก่ กตัญญูกตเวที ไม่เห็นแก่ตัว เสียสละ
(3.3) อุภยัตถะ (อ่านว่า อุ – พะ – ยัด – ตะ – ถะ)
คือ ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย มีผลทำให้เกิดความสุขสงบในสังคม คุณธรรมที่จะช่วยให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่ายร่วมกัน ได้แก่ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความสามัคคี ความมีน้ำใจต่อกัน ความเมตตากรุณา ความซื่อสัตย์สุจริต
(4) กตัญญูกตเวทีต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
ชุมชนเป็นท้องถิ่นที่เราได้อยู่อาศัย ประกอบด้วยผู้คนหลายครอบครัว หลายอาชีพ มีสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และที่มนุษย์สร้างขึ้นแตกต่างกันไป แต่ความต้องการของทุกคนในชุมชน คือ อยากให้ท้องถิ่นที่อาศัยของตนน่าอยู่ สะอาด สวยงาม มีความสงบสุข ไม่วุ่นวาย ดังนั้น สมาชิกทุคนในชุมชนต้องร่วมใจและร่วมมือกันแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยช่วยกันดูแลท้องถิ่น และร่วมปฏิบัติดังนี้
(4.1) หมั่นทำความสะอาดบ้านเรือนและบริเวณ ไม่ให้สกปรกรุงรัง ไม่เป็นแหล่งเพาะเชื่อโรค
(4.2) ช่วยกันดูแลรักษาสาธารณสมบัติที่ใช่ร่วมกัน ให้คงสภาพดีและใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ เช่น เสาไฟฟ้า ตู้โทรศัพท์
(4.3) รู้จักและปฏิบัติตามระเบียบวินัยร่วมกัน เพื่อให้เกิดความสะดวก ไม่สับสนวุ่นวาย เช่น การข้ามถนนในทางข้ามที่กำหนด การเข้าแถวต่อเพื่อรับบริการ การใช้รถใช้ถนนตามกฎจราจร
(4.4) ช่วยกันรักษาแหล่งน้ำในชุมชน โดยไม่ทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลลงไป
(4.5) ไม่เด็ด หรือทำลายดอกไม้ ต้นไม้ที่ทางการปลูกไว้ หรือบ้านของเรามีความเหมาะสมที่จะปลูกพืชที่ต้องการ ก็จะทำให้ร่มรื่น สวยงาม และเพิ่มอากาศดี
(4.6) รู้จักวิธีการแยกขยะที่มีในบ้าน ไม่ทิ้งรวมกัน เพื่อจัดการให้เกิดประโยชน์ที่เหมาะสม เช่น แยกเป็นพวกกระดาษ พลาสติก โลหะ เศษแก้ว หรือเศษอาหาร
(5) มงคล 38
มงคล หมายถึง สิ่งที่เป็นความดีงาม ถูกต้อง เป็นเหตุที่นำมาสู่ความเจริญก้าวหน้าแก่ชีวิต
ในสมัยพุทธกาล ผู้คนส่วนมากชอบฟังเรื่องราวที่เป็นคติสอนใจ โดยแสวงหาคนที่มีความรู้มาพูด มาสั่งสอนให้ฟัง ต่อมามีผู้แสดงความคิดเห็นมากมาย แต่หาข้อสรุปไม่ได้ ในที่สุดพากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อทูลถามว่า มงคลสูงสุดของชีวิตมีอะไรบ้าง พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า มลคลมี 38 ประการ ผู้ที่นำไปปฏิบัติจะบังเกิดผลดีแก่ชีวิต และมีความสุขความเจริญ
ในระดับชั้น ป.1 – ป.2 ได้เรียนรู้ไปแล้ว 5 ข้อ คือ ทำตัวดี ว่าง่าย รับใช้พ่อแม่ กตัญญู สงเคราะห์ญาติพี่น้อง ซึ่งในระดับชั้น ป.3 มีข้อมงคลที่ต้องเรียนรู้อีก 3 ข้อ ดังนี้
(5.1) รู้จักให้
การรู้จักให้ หมายถึง การสละสิ่งที่เป็นวัตถุและความคิดแก่ผู้อื่น ลักษณะการให้ มี 3 แบบ คือ
ก. ให้เพื่ออนุเคราะห์ คือ ให้ด้วยความเมตตากรุณา เพื่อให้ผู้รับมีความสุข พ้นจากความทุกข์ยากและโง่เขล่า เช่น พ่อแม่ให้การเลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนลูก ครูให้วิชาความรู้และอบรมศิษย์ คนมีทรัพย์ช่วยเหลือคนยากจนขาดแคลน
ข. ให้เพื่อสงเคราะห์ คือ ให้ด้วยความผูกพัน มีไมตรีต่อกัน เป็นการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ก่อให้เกิดความสามัคคีปรองดอง เช่น การให้ระกว่าง พี่กับน้อง ระหว่างญาติ กับ ญาติ หรือระหว่างเพื่อนกับเพื่อน
ค. ให้เพื่อบูชาคุณ คือ ให้ด้วยความเคารพนับถือ เป็นการระลึกถึงพระคุณ เช่น ลูกให้แด่พ่อแม่ ศิษย์ให้แด่ครู อาจารย์ เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญู กตเวที นอกจากนี้การให้ที่ดีงาม และมีความสำคัญมีอีกอย่างหนึ่ง คือ การให้เพื่อบูชาคุณแด่ผู้ทรงศีล หรือพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ผู้สืบทอดพระศาสนา เราต้องทำนุบำรุงให้แดท่านด้วยการถวายสิ่งที่จำเป็นในความเป็นอยู่ด้วย
การให้เป็นสิ่งที่เป็นมงคลแก่ชีวิต ที่จะได้รับความอิ่มใจและมีความสุขใจ เป็นการชำระจิตใจของผู้ให้ ให้ห่างไกลจากความโลภ ความตระหนี่ถี่เหนียว และเป็นคุณธรรมที่สอนให้คนรู้จักแบ่งปันความสุข ความรู้ ความคิด ความฉลาด และความปลอดจากทุกข์ภัยให้แก่กัน
(5.2) พูดไพเราะ
การพูดไพเราะ เป็นการพูดด้วยถ้อยคำ และน้ำเสียงที่สุภาพ น่าฟัง รวมทั้งให้ประโยชน์และเชื่อถือได้ เรียกว่า เป็นการพูดที่ดีงาม ลักษณะการพูดที่เป็นมงคลทั้งผู้พูด และผู้ฟัง ได้แก่
- พูดความจริง ไม่พูดปดและหลอกลวง
- พูดถูกเวลา ไม่พูดมาก พูดพร่ำเพรื่อจนน่ารำคาญ
- พูดไพเราะ มีน้ำเสียงที่อ่อนโยน น่าฟัง ไม่พูดกระโชกโฮกฮาก
- พูดดีมีประโยชน์ ได้เรื่องราว ไม่พูดเพ้อเจ้อ
- พูดด้วยจิตใจที่ดี มีเมตตาและความเป็นมิตร
การพูดไพเราะที่เป็นมงคล ย่อมเป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วไป ยิ่งมีเนื้อหาสาระที่ให้ประโยชน์ และเป็นความจริง สามารถผูกใจผู้ฟัง ให้เกิดความยินดี และมีศรัทธาต่อผู้พูด จึงนับว่า การพูดที่ดีเป็นมงคลแก่ชีวิต ที่ควรปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ
(5.3) อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี
ถิ่นที่อยู่อาศัยของบุคคลที่มีสิ่งแวดล้อมดี ได้แก่ ที่ที่มีบริเวณเหมาะแก่การทำมาหากิน มีผู้คนที่มีความรู้และประพฤติดี มีอาชีพสุจริต อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก มีสถานที่ให้การศึกษา วัดวาอาราม โรงพยาบาล ตลอดจนการคมนาคมที่สะดวกพอควร สิ่งเหล่านี้ประกอบกันเป็นสิ่งแวดล้อมที่ควรอยู่อาศัย ทำให้เกิดความเจริญได้
ดังนั้น ผู้ที่อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีดังกล่าว ย่อมเป็นมงคลแก่ชีวิต
(5.4) พุทธศาสนสุภาษิต
พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพุทธศาสนสุภาษิต เป็นภาษาบาลีสั้น ๆ แต่มีความหมายที่ลึกซึ้ง และมีข้อคิดเตือนใจตามหลักธรรม เพื่อสอนใจให้ละเว้นการทำความชั่ว กระทำแต่ความดี ฝึกความคิด และจิตใจให้ถูกต้องดีงาม เมื่อเราอ่านแล้วคิดตาม และนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตและความเป็นอยู่ของเรา ในชั้นนี้พุทธศาสนาสุภาษิตที่ควรเรียนรู้ 2 ข้อ คือ
ก. ททมาโน ปิโย โหติ
อ่านว่า ทะ – ทะ – มา – โน – ปิ – โย – โห – ติ
แปลว่า ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ความหมาย การให้สิ่งที่ดีงามแก่ผู้อื่น ย่อมเป็นที่นิยมชมชอบและได้รับความรัก ความพอใจอยู่เสมอ สิ่งดีงามที่จะให้ผู้อื่น เช่น
- ช่วยงานของพ่อแม่และครูที่มอบหมายให้ทำ
- ช่วยเหลือและแบ่งปนของเล่นของใช้ให้แก่พี่น้องและเพื่อน
- ให้คำพูดที่สอนใจ เตือนสติ หรือพูดจาสุภาพอ่อนโยน
- มีน้ำใจให้แก่ผู้ที่ใกล้ชิด หรือเพื่อนของเรา
ข. โมกฺโข กัลฺยาณิยา สาธุ
อ่านว่า โมก – โข – กัน – ละ – ยา – นิ – ยา – สา – ทุ
แปลว่า เปล่งวาจาไพเราะให้สำเร็จประโยชน์
ความหมาย คนเราอยู่ร่วมกันในสังคม ต้องมีการพูดจาติดต่อกัน ผู้ที่มีวาจา หรือการพูดที่ดีงาม ย่อมมีผู้สนใจฟังและเชื่อถือ ทำให้ได้รับประโยชน์ที่ต้องการจากการพูดดี ซึ่งการพูดต้องมีการฝึก มิใช่แต่เพียงพูดได้เท่านั้น ต้องพูดให้เป็นด้วย ลักษณะการพูดที่ดีงาม เป็นประโยชน์แก่ผู้พูด คือ
- พูดด้วยถ้อยคำที่สุภาพ ไพเราะ ไม่พูดหยาบคาย
- พูดความจริง ไม่พูดปดหลอกลวง
- พูดเรื่องที่ดีและถูกต้อง ไม่พูดกล่าวร้ายนินทาผู้อื่น
- พูดให้พอเหมาะให้ตรงเรื่อง ไม่พูดเพ้อเจ้อ มากเรื่อง
ผู้ที่พูดดี มีความซื่อสัตย์ และได้เนื้อหาสาระย่อมเกิดประโยชน์ที่ดีงามแก่ผู้พูด
(5.5) เรื่องน่ารู้จากพระไตรปิฎก
พระไตรปิฎก เป็นหนังสือตำราที่สำคัญ หรือเป็นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่รวบรวม บันทึก คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ โดยจัดเป็นหมวดหมู่ เรื่องน่ารู้จากพระไตรปิฎกเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจในพระพุทธศาสนา ซึ่งให้ข้อคิดที่ดี สามารถนำแนวคิดมาเป็นแนวทางปฏิบัติตนได้ เรื่องที่ควรศึกษาในชั้นนี้ คือ
รักสนุกจะทุกข์ถนัด
ในกรุงพาราณสี มีบุตรเศรษฐีคนหนึ่ง พ่อแม่มีทรัพย์สมบัติมหาศาล คิดว่าน่าจะได้ให้ลูกใช้สอยอย่างสบาย โดยไม่ต้องทำงานใด ๆ จึงไม่ให้บุตรเล่าเรียนวิชาอะไรเลย ในนั้นก็ยังมีเศรษฐีอีกตระกูลหนึ่ง มีทรัพย์สมบัติมากมาย และมีธิดาคนหนึ่ง พ่อแม่ของเธอคิดว่าเรามีลูกสาวคนเดียว เรามีทรัพย์สมบัติให้ใช้อย่างสบายตลอดชีวิตแน่ ก็ไม่ให้ลูกสาวเรียนวิชาและไม่ให้ทำงานใด ๆ ทั้งสิ้น และทั้งสองตระกูลก็จัดการให้ลูกแต่งงานกัน ต่อมาพ่อแม่ของทั้งสองคนก็ถึงแก่กรรม เขาได้นำทรัพย์สมบัติมารวมกัน และเป็นเศรษฐีสืบต่อจากพ่อแม่
ต่อมาพวกนักเลงสุราพากันมาดื่มสุราและกินกับแกล้มอยู่ ระหว่างทางที่เศรษฐีเดินมา และได้พูดอวยพรแก่เศรษฐีพร้อมทั้งเชิญชวนมาร่วมดื่มสุรากัน เศรษฐีสงสัย ถามคนใช้เกี่ยวกับการดื่มสุราเป็นอย่างไร คนใช้บอกว่าเป็นน้ำที่มีรสอร่อย และนำมาให้เศรษฐีทดลองดื่ม เศรษฐีติดใจจึงดื่มเพิ่มขึ้น และพวกนักเลงสุราก็เข้ามาห้อมล้อมเป็นบริวาร ต่อจากการกินสุราก็พาไปฟ้อนรำขับร้องในสถานเริงรมย์ ใช้จ่ายเงินอย่างสุลุ่ยสุร่ายไม่ยั้งคิด และไม่มีรายได้เพิ่ม ทำให้เงินทองที่มีอยู่หมดไป จึงได้ขายที่นาที่สวน ของใช้ในบ้าน และในที่สุดต้องขายบ้านที่อยู่อาศัย แล้วก็พาภรรยาไปขออาศัยบ้านคนอื่นอยู่ และไปเที่ยวขอทานขอเศษอาหารประทังชีวิต
พระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นคนทั้งสองมายืนรอคอยรับอาหารที่เหลือจากภิกษุ และสามเณรที่วัด จึงตรัสแก่พระอานนท์ว่า จงดูคนทั้งสอง เขาเคยมีทรัพย์สินเงินทองมากมายของพ่อแม่มาตั้งแต่เกิด ถ้าเขาศึกษาเล่าเรียนและรู้จักทำงานตั้งแต่อายุยังน้อย เขาจะเป็นเศรษฐียิ่งกว่าเดิม หากเขาออกบวช ก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ ถึงแม้ว่าจะกลัวตัวคิดทำงานเมื่อมีอายุมากขึ้น ก็คงจะรักษาทรัพย์สมบัติไว้ได้ไม่สิ้นไร้ขนาดนี้
ข้คิดควรทำจากเรื่องนี้ คือ ทรัพย์ที่มีค่ามาก คือ วิชาความรู้ เพราะจะอยู่ติดตัวเรา ไม่มีใครแย่งเอาไปได้ ทำให้เราฉลาดรู้จักคิดในทางที่ถูกต้อง ไม่หลงผิด ไม่ลองเสพสิ่งเสพติดให้โทษ เราก็จะไม่ลำบาง และมีทุกข์หนัก เมื่อบุตรเศรษฐีเรื่องนี้
(5.6) คำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา
- พระภิกษุ หมายถึง ผู้ชายที่ขอบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
o พระ แปลว่า ผู้ประเสริฐ
o ภิกษุ แปลว่า ผู้ชายที่ขอบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา
- สมณะ คือ ผู้สงบ หมายถึง นักบวชทั่วไป
- พราหมณ์ คือ ผู้ที่มีหน้าที่ทำพิธีกรรมทางศาสนา ตามความเชื่อของชาวฮินดู
- ฤาษี คือ นักบวชผู้แสวงหาธรรม บำเพ็ญตนอยู่ในป่า เป็นนักบวชนอกพระพุทธศาสนา
- ผู้วิเศษ หมายถึง ผู้มีอิทธิฤทธิ์ ผู้รอบรู้เวทมนตร์ คาถาอาคม
- พระอริยะ หมายถึง บุคคลผู้บรรลุธรรมวิเศษ
- พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หมายถึง ท่านผู้ตรัสรู้เอง และสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม
- พระปัจเจกพุทธะ หมายถึง พระพุทธเจ้าอีกแบบหนึ่ง ซึ่งได้ตรัสรู้เฉพาะตน มิได้สั่งสอนผู้อื่น
- พระอนุพุทธะ หมายถึง ผู้ตรัสรู้ตาม คือ ตรัสรู้ด้วยการได้สดับเล่าเรียน และปฏิบัติตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอน
6. หน้าที่ชาวพุทธ
ผู้ที่นับถือและเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา นำหลักธรรมคำสอนไปประพฤติปฏิบัติเป็นความดีงามแก่ตนเองและครอบครัว ยังมีสิ่งสำคันที่มีผลต่อความเจริญ และความมั่นคงของพระศาสนา ที่พุทธศาสนิกชนควรรู้ และนำไปปฏิบัติ คือ การทำหน้าที่ของขาวพุทธ เพื่อเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไป
ในระดับชั้น ป.3 นี้ หน้าที่ชาวพุทธที่ควรเรียนรู้และปฏิบัติอยู่เสมอให้ถูกต้องเพิ่มจากระดับต้น มีดังนี้
1) การทำบุญให้ทาน
การทำบุญ หมายถึง การกระทำที่ทำให้เกิดความดี ความสุขทั้งกาย วาจา และใจ
การให้ทาน หมายถึง การแบ่งปันสิ่งของหรือเงิน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นที่มีความลำบาก ขัดสน รวมทั้งการให้ความรู้ ความคิด ให้กำลังใจ และให้อภัย ซึ่งการให้ทานเป็นการฝึกความเสียสละ กำลังกาย กำลังทรัพย์ และกำลังปัญญาในการทำบุญเบื้องต้น ผู้ที่ปฏิบัติตนในการทำบุญให้ทานอยู่เสมอ จะเป็นผู้ที่มีความสุข และความเจริญ
วิธีทำบุญให้ทาน ได้แก่
(1) ทำบุญตักบาตรแด่พระสงฆ์เป็นประจำตอนเช้า เพื่อสืบทอดพระศาสนา
(2) ร่วมทำบุญตามประเพณีทางศาสนา เช่น ทอดผ้าป่า ทอดกฐิน ถวายเทียนพรรษา และมีส่วนร่วมในการสร้างหรือบูรณะโบสถ์ วิหาร
(3) บริจาคเงิน เสื้อผ้า สิ่งของที่จำเป็น เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัย
(4) การทำบุญที่มีคุณค่าแก่ตนเอง คือ การรักษาศีล ซึ่งเป็นการควบคุมกาย วาจา ให้เป็นปกติ และพัฒนาจิตใจให้สงบ สะอาด ด้วยการสวดมนต์
2) การรู้จักสนทนา และการปฏิบัติตนต่อพระสงฆ์
(1) เมื่อสนทนากับพระสงฆ์ ควรประนมมือทุกครั้ง และใช้คำพูดที่สุภาพ เหมาะสม คือ
- ใช้คำแทนพระสงฆ์ ว่า ท่าน หรือ พระคุณเจ้า
- ใช้คำแทนตัวผู้พูด (ชาย) ว่า ผม หรือ กระผม และพูดรับว่าครับ
- ใช้คำแทนตัวผู้พูด (หญิง) ว่า ฉัน หรือ ดิฉัน และพูดรับว่า ค่ะ หรือ เจ้าค่ะ
(2) ห้ามพูดล้อเล่น ล้อเลียน ห้ามพูดคำหยาบ และพูดว่าร้ายผู้อื่นกับพระสงฆ์
(3) ผู้หญิงทุกคนถึงจะเป็นญาติ ไม่ให้สนทนากับพระสงฆ์สองต่อสอง ทั้งที่อยู่ในห้อง และนอกห้อง เพราะเป็นข้อห้ามกำหนดไว้ ต้องมีบุคคลที่สาม ที่เป็นชายที่รู้เดียงสา หรือรู้เรื่องอยู่ด้วย
(4) ไม่รบกวนเวลาของท่านนานเกินไป เพื่อเสร็จธุระแล้วก็กลับ
(5) ต้องกราบลาท่าน ด้วยท่ากราบ แบบเบญจางคประดิษฐ์ 3 ครั้ง
3) วัดเป็นศาสนสถาน
วัด คือ สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพุทธ เช่น ทำบุญ ฟังเทศน์ เวียนเทียน รักษาศีล พิธีบวช งานศพ และเป็นที่อยู่พักอาศัยของพระสงฆ์และสามเณร
สิ่งก่อสร้างที่สำคัญภายในวัด ได้แก่
- โบสถ์ เป็นที่ประกอบพิธีกรรมสำคัญ เช่น พิธีบวช การสวดมนต์ของพระสงฆ์ในวัด ในโบสถ์มีพระพุทธรูปประจำวัด ใน 1 วัด มี 1 โบสถ์
- วิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป และทำพิธีกรรมบางอย่าง ซึ่งบางวัดอาจมีวิหารหลายหลัง
- หอไตร เป็นที่เก็บพระไตรปิฎก ที่เป็นพระธรรมคำสอน
- เจดีย์ เป็นที่บรรจุพระบรมธาตุ หรือสิ่งที่เคารพบูชาทางศาสนา
- กุฏิ เป็นที่พักอาศัยของพระสงฆ์ และสามเณร
- ศาลาการเปรียญ (อ่านว่า สา – ลา – การ – ปะ – เรียน) เป็นที่ทำบุญตักบาตร รักษาศีล ฟังธรรมของชาวพุทธในวันสำคัญทางศาสนา
- เมรุ เป็นที่สำหรับเผาศพ
4) การศึกษาพุธศาสนาวันอาทิตย์
การศึกษาพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เป็นการจัดกิจกรรมการศึกษา อบรมด้านศาสนาโดยเรียนรู้และนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาไปประพฤติปฏิบัติ และยกย่องนักเรียน หรือเยาวชนที่ประพฤติตนเป็นคนดีให้เป็นตัวอย่างแก่สังคม ส่งเสริมให้นักเรียนตามโรงเรียนต่าง ๆ ที่ใกล้วัดได้เรียนรู้และฝึกการปฏิบัติเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างพระสงฆ์ และประชาชนที่มีจิตศรัทธา รวมทั้งหน่วยงานหลายฝ่ายร่วมมือกัน เด็ก ๆ ควรใช้เวลาว่างในวันอาทิตย์ได้ศึกษาเรียนรู้พระพุทธศาสนา เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ได้ฝึกปฏิบัติตนในสิ่งที่เป็นบุญกุศล และเป็นความดีงามแก่ตนเอง เป็นที่ชื่นชมของพ่อแม่ ครูอาจารย์ รวมทั้งส่งผลดีแก่สังคมด้วย
5) การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ
พุทธมามกะ หมายถึง ผู้ที่ประกาศตนว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา
ผู้ที่ได้เข้าพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ ต้องมีอายุตั้งแต่ 7 ปี ขึ้นไป จะทำเป็นหมู่คณะ โดยโรงเรียนจัดให้มีการทำพิธีนี้ ในวัดที่อยู่ใกล้โรงเรียน
วิธีปฏิบัติในการแสดงตนเป็นพุทธมามกะ มีดังนี้
(1) เตรียมธูปเทียน ดอกไม้ ไปหาพระสงฆ์ผู้ทำพิธีตามนัดหมาย
(2) จุดธูปเทียนแล้วกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย
(3) กล่าวคำแสดงตนเป็นพุทธมามกะ
(4) กล่าวคำอาราธนาศีล (คำขอศีล) และ สมาทานศีล (คำรับศีล)
(5) พระสงฆ์ให้โอวาท
(6) ตัวแทนถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์
(7) พระสงฆ์กล่าวคำอนุโมทนา ตัวแทนกรวดน้ำ และทุกคนรับพรจนจบและกราบ 3 ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธี
6) มารยาทชาวพุทธ
การแสดงกิริยามารยาท และวาจาที่สุภาพเรียบร้อยอ่อนโยน เป็นการกระทำที่ควรฝึก และปฏิบัติให้ถูกต้อง เหมาะสมกับบุคคล จนเป็นนิสัยที่ดีติดตัวไปโดยตลอด
การทำความเคารพต่อพระสงฆ์และผู้ใหญ่ โดยฝึกการประนมมือ การไหว้ และการกราบ เราได้เรียนรู้ไปแล้ว ในระดับชั้นนี้ ควรเรียนรู้และ ฝึกเกี่ยวกับกิริยาท่าทาง ดังนี้
(1) การนั่ง การยืน การเดิน เมื่ออยู่ต่อหน้าพระสงฆ์
การนั่ง
o ถ้านั่งบนเก้าอี้ ให้นั่งตัวตรง ขาชิดกันอย่างสุภาพ มือวางคว่ำซ้อนกันบนตัก
o ถ้านั่งที่พื้น ให้นั่งพับเพียบเก็บปลายเท้า และวางมือคว่ำซ้อนกันบนตักเช่นกัน
การยืน ให้ยืนตัวตรง เท้าชิดกัน จับมือประสานกันไว้ข้างหน้า ทำเหมือนกันทั้งชายและหญิง
การเดิน มีหลายลักษณะ ดังนี้
o เดินผ่านพระสงฆ์ ให้หยุดยืนตรง น้อมตัวไหว้ ถ้าท่านดูดด้วยให้ประนมมือพูดกับท่าน
o เดินอยู่หน้าพระสงฆ์ เมื่อรู้ตัวให้หลีกชิดด้านข้าง แล้วหยุดยืนตรง น้อมตัวไหว้ขณะที่ท่านเดินผ่านมาถึง
o เดินสวนทางกับพระสงฆ์ ให้หยุดยืนตรง หันหน้ามาทางท่าน จับมือประสานกันไว้ข้างหน้า เมื่อท่านเดินผ่านมาถึงให้น้อมตัวลงและยกมือไหว้
(2) การต้อนรับพระสงฆ์
เมื่อมีการจัดงานพิธีทางศาสนา ผู้มาร่วมงานที่มานั่งรอก่อนเวลา ขณะที่ถึงเวลาพระสงฆ์เดินเข้ามาในพิธี ทั้งชายและหญิงที่นั่งอยู่ควรปฏิบัติตน ดังนี้
- ถ้านั่งอยู่กับพื้น ให้ประนมมือไหว้ หรือกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ 3 ครั้ง ตามความเหมาะสม ไม่ต้องลุกขึ้นยืนรับเมื่อพระสงฆ์เดินผ่านมาตรงหน้า
- ถ้านั่งบนเก้าอี้ ให้ลุกขึ้นยืนพร้อมกับประนมมือไหว้ เมื่อพระสงฆ์เดินผ่านมาตรงหน้า เมื่อท่านนั่งลงเรียบร้อยแล้วจึงนั่งลง
(3) การถวายสิ่งของและรับของจากพระสงฆ์
- การถวายสิ่งของ หรือเรียกว่า การประเคนของพระนั้น เป็นการถวายสิ่งของแด่พระสงฆ์ถึงมือ ซึ่งของนั้นไม่หนักหรือใหญ่เกินไป เป็นของที่พอยกได้ ต้องแยกปฏิบัติระหว่าง ชาย กับหญิง
o ชาย ให้ถือของที่ขณะถวายทั้งสองมือ นั่งคุกเข่าลง แล้วเดินเข่าไปหาพระสงฆ์เมื่อได้ระยะพอส่งของได้ ให้หยุดนั่งคุกเข่าบนส้นเท้า ยกของทั้งสองมือถวายให้กับมือพระสงฆ์
o หญิง ให้ถือของทั้งสองมือ นั่งคุกเข่าลงแล้วเดินเข่าเช่นกัน แต่เมื่อได้ระยะพอส่งของ ให้นั่งพับเพียบหรือนั่งบนส้นเท้า ยกของทั้งสองมือ วางบนผ้าที่พระสงฆ์ปูไว้รับของ เพราะผู้หญิงจะส่งของให้กับมือพระสงฆ์โดยตรงไม่ได้
7. ชาวพุทธตัวอย่าง
บุคคลผู้มีคุณงามความดีต่อพระพุทธศาสนา โดยมีประวัติและผลงานที่จรรโลง และเผยแผ่ศาสนาพุทธ เป็นที่ประจักษ์และยอมรับนับถือ รวมทั้งเกิดประโยชน์แก่คนรุ่นหลัง จึงสมควรที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายควรยึดถือเป็นแบบอย่าง ระดับชั้นนี้จึงศึกษาและเรียนรู้ชาวพุทธตัวอย่างอีก 2 ท่าน ดังนี้
1) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
สมเด็จพระพุฒาจารย์ เดิมชื่อ โต เกิดเมื่อ พ.ศ. 2331 ในสมัยรัชกาลที่ 1 ท่านเกิดที่จังหวัดพิจิตร ต่อมาแม่และตา อพยพมาอยู่ที่อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง ท่านขอบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดไขโยวรวิหาร ตั้งแต่อายุ 7 ปี ท่านต้องการศึกษาพระธรรมวินัย และตั้งใจขอบวชโดยไม่สึก จึงได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาศึกษาเล่าเรียนครั้งแรกที่วัดบางขุนพรหมนอก (วัดอินทรวิหารในปัจจุบัน) แล้วมาเรียนต่อที่วัดบางลำพูบน (วัดสังเวชฯ ในปัจจุบัน) ท่านเรียนอักขรคัมภีร์จนแตกฉาน ท่านอาจารย์จึงให้ไปศึกษาพระรปริยัติธรรม ที่วัดระฆังโฆสิตาราม เมื่อท่านอายุได้ 18 ปี ท่านเป็นเณรนักเทศน์ที่แสดงธรรมได้ลึกซึ้ง เป็นที่จับใจของชาวบ้าน
ต่อมาท่านได้ศึกษาเล่าเรียนกับสมเด็จพระสังฆราช (มี) ที่วัดนิพพานาราม (วัดมหาธาตุฯ ในปัจจุบัน) ท่านรับนิมนต์ไปเทศน์หน้าพระที่นั่ง ที่วัดพระแก้ว เป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ (รัชกาลที่ 1) จึงทรงรับสามเณรโตไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ท่านได้กับไปอุปสมบทเป็นนาคหลวงที่วัดตะไกร จังหวัดพิจิตร แล้วกลับมาศึกษาพระธรรมวินัยต่อที่วัดระฆังฯ ท่านสอบได้เปรียญ 5 ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงแต่งตั้งให้ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังฯ และสถาปนาท่านเป็นสมเด้จพระพุฒาจารย์ องค์ที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านเทศนาสั่งสอนพระธรรมให้ผู้คนเข้าใจง่าย ท่านมีจริยาวัตรที่ถือปฏิบัติมาตั้งแต่เป็นสามเณรมาโดยตลอดทุกวัน คือ ท่านตื่นตีห้า อาบน้ำ สวดมนต์ ทำสมาธิ จนถึง 6.00 น. จึงออกบิณฑบาต เมื่อกลับมาตักน้ำใส่ตุ่มก่อน จึงฉันอาหาร โดยปกติจะฉันมือเดียว เวลา 11.00 ถึง 12.00 น. เป็นเวลาราชกิจนิมนต์ หลังจากนั้นท่านจะพักอ่านหนังสือ แต่งตำรา สำหรับการปรึกษาขอความช่วยเหลือของญาติโยมเป็นเวลา 13.00 น. ถึง 15.00 น. ต่อจากนั้นท่านจะปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนถึงประมาณ 20.00 น. หรือสองทุ่ม ท่านก็ทำราชกิจที่ส่งมาปรึกษาจนถึงตีหนึ่งจึงจำวัด (นอน) ถ้ามีงานราชกิจไม่มากนช่วงออกพรรษา ท่านก็จะออกธุดงค์ ยังจังหวัดต่าง ๆ และสร้างปูชนียวัตถุไว้หลายแห่ง
ประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) มีเรื่องที่น่าสนใจที่เป็นรายละเอียดมากมาย ข้อคิดที่ได้ศึกษาจริยาวัตรของท่าน นับเป็นแบบอย่างที่ดีงาม และพระคุณของท่านที่ได้ปฏิบัติตามหลักธรรม รวมทั้งเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้มั่นคง นับเป็นสิ่งที่พุทธศาสนิกชนควรบูชาสักการะและถือเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำรงชีวิต
2) สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีพระนามเดิมว่า “สิน” ทรงพระราชสมภพในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดสามวิหาร ในกรุงศรีอยุธยา และอุปสมบทที่วัดโกษาวาสน์ ได้ 3 พรรษา จึงสึกออกมาถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ต่อมารับราชการจนได้เป็นเจ้าเมืองตาก ในสมัยพระเจ้าอุทุมพร พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาองค์ต่อมา
ปี พ.ศ. 2310 พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา แม้ว่าพระยาตากได้กลับมาช่วยป้องกันพระนคร แต่ไม่สามารถต้านกำลังของพม่าได้ พระยาตากจึงนำไพร่พล และสมัครพรรคพวกตีฝาทัพพม่าทางทิศตะวันออก ไปตั้งมั่นที่เมืองจันทบุรี เมื่อรวบรวมกำลังพลได้ จึงยกทัพมาตีพม่าที่เมืองธนบุรี และกรุงศรีอยุธยาคืนจากพม่าได้ โดยใช้เวลา 7 เดือน ซึ่งในการได้รับชัยชนะครั้งนี้ เป็นการประกาศอิสรภาพของไทย
พระยาตากทรงสลดพระทัยที่บ้านเมือง พระราชวัง และวัดวาอารามในกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าเผาทำลายเสียหายเกินกำลังที่จะซ่อมแซม จึงได้ย้ายเมืองหลวงมาตั้งที่กรุงธนบุรี ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี” แต่คนทั่วไปยังขนานพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”
ในรัชสมัยของพระองค์ นอกจากทรงรวบรวมแผ่นดินไทยแล้ว ยังทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามที่เสียกาย นิมนต์พระสงฆ์มาประจำที่วัด เพื่อรวบรวมพระธรรมวินัยที่กระจัดกระจายไปเข้าเป็นหมวดหมู่ เพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนา แม้จะมีเวลาไม่มากในการซ่อมแซมศาสนสถาน แต่ก็ทำให้ศาสนาพุทธมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่นคู่กับชาติไทยตลอดไป ประชาชนจึงถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” แด่พระองค์ และสร้างพระบรมราชาสุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชประดิษฐานอยู่ที่วงเวียนใหญ่ เพื่อเทิดพระเกียรติและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์
8. การบริหารจิตและการเจริญปัญญา
การบริหารจิตและการเจริญปัญญา เป็นสิ่งคู่กันในการฝึกปฏิบัติด้านจิตใจ โดยมีสติสัมปชัญญะ เป็นสิ่งที่ควบคุมจิตให้มีสมาธิ และฝึกให้เกิดปัญญาได้
การบริหารจิต หมายถึง การฝึกและควบคุมจิตใจของตนเอง ให้มีความรู้สึกนึกคิดในทางที่ดี ถูกต้อง คิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบ การบริหารจิตที่ให้ผลดี คือ การฝึกสมาธิ
การเจริญปัญญา หมายถึง การมีจิตใจที่เข้มแข็ง อดทน มีเหตุผลในการแยกแยะสิ่งที่ดีและไม่ดีได้อย่างถูกต้อง รู้จักเลือกทำในสิ่งที่ดีและให้ประโยชน์ต่อตนเอง ปัญญาจะเกิดขึ้นได้กับตัวเรา ต้องคิดดี คิดเป็น คิดถูกต้อง ซึ่งการคิดได้ดังกล่าว จิตของเราต้องมีสมาธิ
ประโยชน์ของการฝึกสมาธิ
1) กำหนดจิตใจให้สงบเยือกเย็นได้ง่าย
2) มีความจดจำดี ไม่พลั้งเผลอ ไม่หลงลืม
3) รู้จักฟัง รู้จักคิด ทำให้เข้าใจเหตุผล
4) ทำงานต่าง ๆ ได้เสร็จทันตามกำหนด
5) จิตใจเข้มแข็ง อดทน ไม่ท้อถอย
การฝึกสมาธิเบื้องต้น
1) ฝึกการกระทำที่เป็นกิริยาอาการ ท่าทางต่าง ๆ คือ ยืน เดิน สั่ง นอน หรือเล่นอย่างมีสติ โดยให้รู้ตัวและระวังตัวอยู่ตลอดเวลาว่ากำลังทำอะไร เช่น
- ยืนเคารพธงชาติอย่างสงบนิ่ง
- เดินขึ้นลงบันไดให้มองดูทาง และมือจับราวบันได
- นั่งฟังครูสอนต้องนิ่งกว่านั่งดูโทรทัศน์
- เล่นอย่างระวัง และพอดี ไม่เล่นแรง ไม่เล่นแกล้งกัน
2) ฝึกนั่งสมาธิโดยตรง ถ้านั่งที่พื้น ให้นั่งโดย ขาข้างขวาทับขาข้างซ้าย มือขวาวางทับมือซ้ายบนตัก ถ้านั่งบนเก้าอี้ให้นั่งห้อยขาลง วางมือบนตักโดยให้มือขวาทับมือซ้ายเช่นกัน เมื่อจัดท่านั่งเรียบร้อยแล้ว ให้หลับตาหายใจเข้าออกยาว ๆ ควบคุมสติให้ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย ครั้งแรก ๆ อาจใช้เวลาไม่นาน และต่อมาก็ให้ขยายเวลาให้นานขึ้น
3) ฝึกกำหนดนับลมหายใจ ให้นั่งสำรวมในท่านั่งสมาธิ หลับตาแล้วกำหนดลมหายใจ โดยขณะที่หายใจเข้าให้นับ 1 พอหายใจออกให้นับ 2 สลับกันไป โดยไม่คิดเรื่องอื่น เป็นการฝึกควบคุมสติที่ทำให้ใจนิ่ง ไม่ฟุ้งซ่าน
4) ฝึกสมาธิในการเรียน กิจกรรมสำคัญในการเรียน ได้แก่ ฟัง อ่าน คิด พูดถาม หรือพูดตอบ และเขียนหรือทำงานที่ได้รับมอบหมาย จึงต้องมีสมาธิทุกกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เราเข้าใจเรื่องที่เรียนรู้ สามารถทำงานได้ถูกต้อง หรือผิดพลาดน้อยที่สุด เช่น การฟังครู สอน หรืออธิบาย ถ้ายังไม่เข้าใจก็ยกมือถามได้ตรงเรื่อง การอ่านออกเสียงพร้อมกัน ทั้งบทร้อยแก้ว หรือบทร้อยกรอง การอ่านในใจเพื่อเก็บใจความสำคัญ การจดบันทึก การทำแบบฝึกหัด หรือ การทำรายงาน การวาดภาพระบายสี การทำงานฝีมือต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งการมีจิตใจที่จดจ่อ และตั้งใจปฏิบัติทุกกิจกรรม ทำให้เราเกิดความรู้ ความคิด และความเข้าใจที่เป็นกระบวนการของการเรียนรู้ มีผลทำให้เราสามารถทำงานได้ถูกต้องเป็นส่วนใหญ่ เราต้องฝึกสมาธิในการเรียนอยู่เสมอ
9. วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
ในแต่ละปี จะมีวันสำคัญที่กำหนดนับ 2 แบบ คือ
ก. นับแบบสุริยคติ
นับแบบสุริยคติ คือ นับแบบวันที่ และเดือนที่ลงท้ายด้วย “คม” หรือ “ยน” เช่น
- วันขึ้นปีใหม่ ตรงกับวันที่ 1 เดือนมกราคม
- วันฉัตรมงคล ตรงกับวันที่ 5 เดือนพฤษภาคม
- วันสงกรานต์ ตรงกับวันที่ 13 เดือนเมษายน
ข. นับแบบจันทรคติ
นับแบบจันทรคติ คือ นับแบบดูดวงจันทร์ เป็นข้างขึ้นข้างแรม และเดือน เป็นลำดับตัวเลข เช่น
- วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3
- วันเข้าพรรษา ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8
- วันลอยกระทง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12
สำหรับวันสำคัญทางพระพุทธสาสนา กำหนับนับแบบจันทรคติ ซึ่งส่วนมากจะเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ ที่มีพระจันทร์เต็มดวง มีดังนี้
1) วันวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 มีความสำคัญเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า 3 เหตุการณ์ คือ
- ประสูติ คือ การเกิด ที่สวนลุมพินีวัน
- ตรัสรู้ คือ การรู้แจ้ง เห็นจริง ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม
- ปรินิพพาน คือ การหมดอายุ หรือ ตายที่ป่าสาลวโนทยาน เมือง กุสินารา
เหตุการณ์สำคัญดังกล่าวตรงกับวันและเดือนเดียวกัน ต่างกันที่ปีเท่านั้น จึงนับว่า เป็นเรื่องที่มหัศจรรย์มาก ถือว่าวันนี้เป็นวันพระพุทธ กิจกรรที่ควรทำเมื่อถึงวันวิสาขบูชา คือ การทำบุญตักบาตร ฟังธรรม รักษาศีล และเวียนเทียน
2) วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ในวันนี้มีความสำคัญในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วทรงเห็นว่า มนุษย์มีสติปัญญาต่างกันเปรียบเหมือนดอกบัว 4 แบบ คือ
- แบบที่ 1 ดอกบัวที่เพิ่งโผล่จากเหง้าในดินใต้น้ำ เป็นอาหารของ เต่า ปู ปลา ได้ง่าย เหมือนคนที่มีปัญญาน้อย เรียนรู้ช้ามาก ต้องสอนนานมาก
- แบบที่ 2 ดอกบัวที่โตมาถึงกลางน้ำ อาจเป็นอาหารของสัตว์ในน้ำได้บ้าง เหมือนคนที่มีปัญญาปานกลาง พอสอนได้แต่ต้องสอนหลายครั้ง
- แบบที่ 3 ดอกบัวที่โตปริ่มน้ำ จวนจะบาน เหมือนคนที่มีปัญญาค่อนข้างดี สอนไม่มากครั้งก็เข้าใจได้
- แบบที่ 4 ดอกบัวที่โตพ้นน้ำ เหมือนคนที่มีสติปัญญาดี ฉลาด สอนเข้าใจเร็ว
พระพุทธเจ้าจึงไปแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวคีย์ท่าป่าอิสิปตมฤคทายวัน ทำให้นักบวชคนหนึ่งของปัญจวคีย์ ชื่อ โกณฑัญญะ เข้าใจแจ่มแจ้ง ขอบวชเป็นพระสงฆ์องค์แรก
ดังนั้นวันอาสาฬหบูชา จึงมีความสำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา และบังเกิดมีพระสงฆ์องค์แรก ทำให้มีพระรัตนตรัยครบสามประการ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เมื่อถึงวันนี้ทุกปีมีกิจกรรมคือ ทำบุญตักบาตร รักษาศีล ฟังธรรม และเวียนเทียน
3) วันเข้าพรรษา ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ต่อจากวันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงกำหนดให้เป็นวันแรกที่พระสงฆ์จะต้องอยู่ประจำที่วัดเป็นเวลา 3 เดือน เพราะเป็นฤดูฝนที่ชาวนากำลังปลูกข้าว จึงไม่เหมาะสำหรับพระสงฆ์ที่จะเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ เพื่อสอนประชาชน เพราะอาจจะเหยียบย่ำข้าวในนา หรือสัตว์ตัวเล็กในนาโดยไม่รู้ตัว และพระสงฆ์ก็จะอาพาธ (ไม่สบาย) ได้ง่าย การที่พระสงฆ์อยู่ประจำที่วัด ทำให้มีเวลาศึกษาพระธรรมวินัยได้มากขึ้น รวมทั้งชาวบ้านได้มีโอกาสทำบุญด้วย
กิจกรรมเมื่อถึงวันเข้าพรรษา คือ ทำบุญตักบาตร ถวายเทียนพรรษา และผ้าอาบน้ำฝน ได้ฟังเทศน์ฟังธรรมด้วย
4) ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันที่มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในวันเดียวกัน 4 ประการ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันจาตุรงคสันนิบาต แปลว่า วันประชุมที่ครบองค์ 4 ประการ ซึ่งมีเหตการณ์ ดังนี้
(1) พระสงฆ์ 1,250 รูป เดินทางมาร่วมประชุมโดยมิได้นัดหมาย
(2) พระสงฆ์ที่มาประชุม เป็นพระสงฆ์ที่พระพุทธเจ้าบวชให้ทุกรูป
(3) พระสงฆ์ทุกรูปล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด
(4) เป็นวันที่มีพระจันทร์เต็มดวง
ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงธรรมที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งมี 3 ประการ คือ
“เว้นการทำชั่ว ให้หมั่นทำความดี และฝึกทำจิตใจให้บริสุทธิ์”
กิจกรรมที่พุทธศาสนานิกชนควรทำ คือ ทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ช่วยพัฒนาวัด บริจาคทาน คือศีล เวียนเทียน และฝึกทำสมาธิ
5) วันอัฏฐมีบูชา ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 เป็นวันคล้ายวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า (วันเผาพระศพ) หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 7 วัน
เมื่อถึงวันนี้ สิ่งที่นิยมปฏิบัติ คือ ทำบุญตักบาตร บริจาคทาน ฟังเทศน์ รักษาศีล ทำสมาธิให้จิตใจสงบ และเวียนเทียนที่วัด
10. ศาสนพิธี
ศาสนพิธี เป็นพิธีกรรมทางศาสนา ที่ได้กำหนดระเบียบแบบแผนในการปฏิบัติพิธีต่าง ๆ ได้ถูกต้อง เหมาะสม เพื่อให้เกิดสิริมงคล แก่ตนเอง ครอบครัว และหมู่คณะ รวมทั้งเกิดความศรัทธา ยึดมั่นในคุณของพระรัตนตรัยด้วย ศาสนพิธีที่ควรรู้ และนำไปปฏิบัติในระดับชั้นนี้ คือ
1) การจัดโต๊ะหมู่บูชา
การจัดโต๊ะหมู่บูชา เป็นส่วนหนึ่งของศาสนพิธี ที่แสดงถึงวัฒนธรรมไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ นับเป็นศิลปะวัฒนธรรที่มีเอกลักษณ์ของไทย และเป็นแบบแผนที่ดีงาม เราควรสังเกตและเรียนรู้จากตัวอย่างที่เห็นในห้องพระ หรือห้องประชุมตลอดจนงานพิธีโดยทั่วไป ซึ่งการจัดโต๊ะหมู่บูชา จะเป็นโต๊ะที่มีขนาดต่างกัน มีการจัดเป็น 5 ลักษณะ คือ
(1) โต๊ะหมู่ 4
(2) โต๊ะหมู่ 5
(3) โต๊ะหมู่ 7
(4) โต๊ะหมู่ 9
(5) โต๊ะหมู่ 15
ข้อปฏิบัติในการจัด มีดังนี้
(1) จัดรวมกลุ่มให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมมุมฉากเสมอ
(2) ขอบโต๊ะทุกตัวต้องวางให้ติดกันอย่างสนิท ไม่ให้มีช่องว่าง
(3) ขอบโต๊ะต้องวางเป็นแนวตรงกันทุกด้าน
(4) ควรมีโต๊ะรองตัวใหญ่มารองด้วยทุกครั้ง
เครื่องประดับโต๊ะหมู่บูชา
(1) พระพุทธรูป 1 องค์ ตั้งบนโต๊ะตัวที่สูงที่สุด ซึ่งอยู่ด้านหลัง
(2) กระถางสำหรับปักธูป 1 ใบ ซึ่งมีทรายใส่ไว้ วางด้านล่างตรงกับพระพุทธรูป
(3) เชิงเทียน 1 คู่ วางด้านซ้าย และด้านขวาของพระพุทธรูป
(4) พานพุ่มดอกไม้ หรือแจกันดอกไม้ ตามความเหมาะสมของขนาดโต๊ะหมู่บูชา
การจัดโต๊ะหมู่บูชา มีทั้งจัดไว้ประจำที่บ้าน หรือ ที่ห้องประชุมของโรงเรียน และสถานที่ทำงานต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีการจัดโต๊ะหมู่บูชาเพื่องานพิธีเฉพาะ เช่น งานทำบุญล้าน งานครบรอบอายุ งานแต่งงาน
2) อาราธนาศีล
การอาราธนาศีล หมายถึง การนิมนต์พระสงฆ์ในพิธีให้ศีล หรือการขอศีลจากพระสงฆ์ เมื่อมีการทำบุญในโอกาสต่าง ๆ ซึ่งเจ้าภาพของงานพิธีหรือผู้ที่เป็นพิธีกร ต้องกล่าวคำอาราธนาศีลก่อน พระสงฆ์จึงประกอบพิธีกรรมนั้น ขั้นตอนมีดังนี้
- เจ้าภาพเป็นผู้จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยก่อน โดยเริ่มต้นให้จุดเทียนด้านขวาของพระพุทธรูป หรือด้านซ้ายมือของเจ้าภาพก่อน แล้วจุดเทียนอีกด้าน จึงจะจุดธูปทั้ง 3 ดอก เมื่อปักธูปแล้ว กราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ 3 ครั้ง
- เจ้าภาพหรือพิธีกรกล่าวคำอาราธนาศีล
- เมื่ออาราธนาศีลแล้ว พระสงฆ์ขจะให้ศีล ซึ่งเรียกว่า สมาทานศีล ต่อไป
3) การสมาทานศีล
การสมาทานศีล หมายถึง การรับศีลที่พระสงฆ์ท่านให้ โดยกล่าวคำพูดตามที่พระสงฆ์บอกศีลทีละข้อ
ขั้นตอนเริ่มต้น ตั้งแต่เจ้าภาพ หรือพิธีกรกล่าวคำอาราธนาศีลก่อน แล้วพระสงฆ์เริ่มต้นให้กล่าวตามคำนมัสการพระพุทธเจ้า และคำกล่าวบทไตรสรณคมน์จบแล้ว พระสงฆ์จึงบอกให้กล่าวคำสมาทานศีล โดยฆราวาสที่มาร่วมในพิธีกล่าวตามเป็นข้อ ๆ ศีลที่พระสงฆ์กล่าวบอกนี้ โดยปกติ คือ ศีล 2 หรือเบญจศีล
เมื่อพระสงฆ์บอกศีลให้กล่าวตามจนครบ 5 ข้อ แล้ว พระสงฆ์จะบอกอานิสงส์ของการรับศีลและการปฏิบัติตามศีล ซึ่งฆราวาสไม่ต้องกล่าวตาม
ลำดับของคำกล่าวนมัสการพระพุทธเจ้า คำกล่าวไตรสรณคมน์ และคำสมาทานศีล 5 มีดังนี้
Download - เนื้อหา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น